การเติบโตของการค้าขายออนไลน์ (e-commerce) จากสิงคโปร์สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แม้ว่าการค้าขายออนไลน์ (e-commerce) ในสิงคโปร์จะมีอัตราการเติบโตที่ช้าลงในปี 2565 เนื่องจากแรงกดดันจากสภาวะเงินเฟ้อและผลกระทบของห่วงโซ่อุปทาน แต่เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 บริษัท Meta (ชื่อเดิม Facebook) และบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ Bain & Company ประเมินว่า ภายในปี 2570 ยอดขาย e-commerce ในสิงคโปร์จะสูงถึง 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 19,600 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์) หรือเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 เท่า จากปี 2565 ที่มูลค่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2564 ที่มีมูลค่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การคาดการณ์นี้สะท้อนถึงแนวโน้มเชิงบวกของการเติบโตระยะยาวของธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของประชากรผู้บริโภคดิจิทัลในภูมิภาค ซึ่งคาดว่าภายในปี 2570 จะมีสัดส่วนประมาณ 88% ของประชากร หรือ 402 ล้านคน

มูลค่าสินค้ารวม (gross merchandise value) ของ e-commerce ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะสูงถึง 280,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2570 เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เทียบกับ 129,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ทั้งนี้ ปี 2565 ผู้บริโภคในสิงคโปร์ใช้จ่ายต่อครั้งเพิ่มขึ้นจาก 119 ดอลลาร์สหรัฐต่อครั้ง ในปี 2564 เป็น 131 ดอลลาร์สหรัฐต่อครั้ง ในปี 2565  ส่วนมูลค่าการซื้อสินค้าออนไลน์เฉลี่ยต่อครั้งสำหรับทั่วทั้งภูมิภาคเพิ่มขึ้นจาก 52 ดอลลาร์สหรัฐต่อครั้ง เมื่อปี 2564 เป็น 56 ดอลลาร์สหรัฐต่อครั้ง ในปี 2565

นาย Praneeth Yendamuri หุ้นส่วนของบริษัท Bain & Company เห็นว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวในภาพรวมของ e-commerce คือ (1) ความคุ้นเคยของผู้บริโภคกับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น (2) การจัดทำ flash sales หรือส่วนลดพิเศษแบบจำกัดเวลาให้แก่ลูกค้าบ่อยครั้งขึ้น (3) ระยะเวลาการส่งมอบที่เร็วขึ้นและความปลอดภัยในการจัดส่งของผู้ขาย (4) คุณภาพผลิตภัณฑ์ และ (5) นโยบายการคืนสินค้าที่รวดเร็วและสะดวกขึ้น

ผลการสำรวจสถิติและพฤติกรรมผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากผลการสำรวจ Sync South-east Asia โดยบริษัท Meta เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งสำรวจความเห็นและพฤติกรรมของผู้บริโภคดิจิทัลประมาณ 16,000 ราย จาก 6 ประเทศในภูมิภาค ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ พบว่า

1) แม้ว่าช่องทางการซื้อสินค้าออฟไลน์จะฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 แต่ช่องทางออนไลน์ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญสำหรับผู้บริโภคในภูมิภาค ประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปเกือบทั้งหมด (97%) ในสิงคโปร์เป็นผู้บริโภคดิจิทัล ถือเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสามในสี่ของผู้บริโภคในสิงคโปร์ใช้ช่องทางออนไลน์ สั่งซื้อสินค้า เช่น โซเชียลมีเดียในการค้นหาและประเมินผลิตภัณฑ์ โดยประมาณ 31% สนใจซื้อผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาและสตรีมมิ่ง1 มากขึ้นในปีนี้ ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคในสิงคโปร์ก็ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น และเลือกสินค้าหลากหลายยี่ห้อยิ่งขึ้น โดยปัจจัยหลักในการเปลี่ยนยี่ห้อ คือ ความคุ้มค่าและคุณภาพของผลิตภัณฑ์

2) ผู้บริโภคชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องการชอปปิ้งที่ผสมผสานบริการออนไลน์และออฟไลน์ที่มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นพัฒนาการช่วงหลังโควิด-19 และจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของ e-commerce ในภูมิภาค

3) การเติบโตของเศรษฐกิจสำหรับครีเอเตอร์ (creator economy) ในภูมิภาค การที่แบรนด์สินค้าและช่องทางการค้าปลีกเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจจะต้องค้นหาวิธีการทำการตลาดที่ได้ผลดีผ่านช่องทางเหล่านี้ ทั้งนี้ การซื้อขายสินค้าออนไลน์คิดเป็น 51% ของการใช้จ่ายออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่แพลตฟอร์ม e-commerce ทางเลือก เช่น การส่งข้อความออนไลน์ทางธุรกิจ การซื้อสินค้าในช่วงการถ่ายทอดสด คิดเป็น 22%

4) ชาวสิงคโปร์เป็นผู้นำระดับภูมิภาคในการนำเทคโนโลยีในอนาคตมาใช้ โดยในปี 2565 ชาวสิงคโปร์มากกว่า 4 ใน 10 คน ใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ metaverse เช่น cryptocurrencies และ non-fungible token (NFTs)  และใช้บริการ fintech เช่น บริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ต และ e-wallets ทั้งนี้ ผลการสำรวจพบว่าผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ e-wallet cryptocurrencies และ NFT สูงขึ้น เมื่อเทียบกับตลาดอื่น เช่น จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยในปี 2565 ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบ 70%  ใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ metaverse อย่างน้อยหนึ่งประเภท เช่น เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Augmented Reality – AR) และภาพเสมือนจริง (Virtual Reality – VR)

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ  

จากการที่ e-commerce เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ธุรกิจต่าง ๆ เริ่มให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา (Iintellectual Property – IP) และปัญหาการค้าสินค้าปลอมมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ภาคธุรกิจ e-commerce ในภูมิภาค เช่น Lazada AliExpress Carousell TikTok บริษัทเทคโนโลยี HP บริษัทผู้ผลิตชุดกีฬา Puma บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ BMW และบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ Procter & Gamble ได้ร่วมมือกันจัดตั้งคณะทำงานต่อต้านการปลอมแปลง e-commerce แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในงานสัปดาห์ทรัพย์สินทางปัญญา (IP Week) ประจำปีที่จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุม Sands Expo and Convention Centre ประเทศสิงคโปร์ โดยคณะทำงานจะกำหนดแนวปฏิบัติและมาตรฐานที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา ในธุรกิจ e-commerce และพัฒนาฐานข้อมูลออนไลน์บนเว็บไซต์ secagroup.org ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ในแพลตฟอร์ม e-commerce ที่เข้าร่วมและเป็นเจ้าของสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อป้องกันและยับยั้งการละเมิดสิทธิ์

 สำหรับประเทศไทย นโยบาย Thailand 4.0 ที่ต้องการพัฒนาการเป็นศูนย์กลางดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอีก 10 ปีข้างหน้า รวมถึงขับเคลื่อนเศรษฐกิจขั้นสูงด้วย 10 อุตสาหกรรม S-Curve และระบบนิเวศเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศที่พบว่าคนไทย 68 ล้านคน คุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัล เนื่องจากไทยมีผู้ใช้สมาร์ทโฟน 48 ล้านคน (70.6% ของประชากรไทย) และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ 46 ล้านคน (67.6% ของประชากรไทย) นั้น ช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ e-commerce ของไทยสามารถพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อแข่งขันกับคู่ค้าระดับโลกได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ e-commerce ของไทยหากใช้ข้อมูลจากแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคมาช่วยในการปรับปรุงธุรกิจของตน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีในอนาคตมาใช้เฉกเช่นสิงคโปร์ จะเป็นการช่วยปรับปรุงและเพิ่มมูลค่าของธุรกิจและยอดขายได้


1 การรับส่งสัญญาณ ส่งไฟล์มัลติมีเดียร์ทั้งภาพและเสียงผ่านเครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ตด้วยการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งไม่ต้องมีการ downloadไฟล์ทั้งหมดจนครบ หรือการถ่ายทอดสด (Live) บน Facebook Youtube หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.straitstimes.com/business/e-commerce-sales-in-spore-expected-to-reach-196b-by-2027-despite-slower-growth-this-year

https://www.straitstimes.com/tech/tech-news/e-commerce-platforms-businesses-join-forces-to-tackle-counterfeit-product-trade

Featured Image Source: BIC Graphic (Source: Canva, E-commerce logos)