
ตลาดงานในสิงคโปร์เปิดตำแหน่งด้านเศรษฐกิจสีเขียวและความยั่งยืนเพิ่มขึ้น
สิงคโปร์เป็นประเทศที่ปรับตัวเร็วต่อความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ทำให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด บริษัทจัดหางานในสิงคโปร์และภูมิภาคได้เปิดเผยถึงตำแหน่งงานที่กำลังเป็นที่ต้องการมากที่สุด คือ ด้านความยั่งยืนและเศรษฐกิจสีเขียว ศูนย์ BIC ขอนำเสนอข้อมูลเพื่อจุดประกายให้ผู้ประกอบการไทยคำนึงถึงการปรับโครงสร้างองค์กรโดยเน้นความยั่งยืนมากขึ้น และความสำคัญของตำแหน่งงานด้านความยั่งยืน รวมถึงการปรับตัวของธุรกิจ Business Process Outsourcing (BPO) ครั้งใหญ่ในสิงคโปร์
ตำแหน่งงานด้านเศรษฐกิจสีเขียวกำลังเป็นที่ต้องการในสิงคโปร์
แผนก ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล) ของบริษัท KPMG ประเมินว่า การลดคาร์บอนจะกลายเป็นนโยบายหลักของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความสำคัญยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ และจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจมูลค่าสูงถึง 10,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (13,300,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์) รวมถึงสร้างตำแหน่งงานใหม่ ๆ ด้านความยั่งยืน มากกว่า 5.5 ล้านตำแหน่ง ภายในปี 2593 รัฐบาลสิงคโปร์ไม่พลาดที่จะใช้โอกาสนี้ผลักดันให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการค้าและการบริการคาร์บอนในภูมิภาคตามแผนสิงคโปร์สีเขียว (SGP) 2030 โดยคาดการณ์ว่าจะสร้างงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า 50,000 ตำแหน่งภายในปี 2573 โดยสิงคโปร์จะฝึกอบรมบุคลากรในท้องถิ่น รวมทั้งดึงดูดผู้มีความสามารถจากต่างประเทศเพื่อเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขัน และช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดของเศรษฐกิจสีเขียว
ตำแหน่งงานด้านเศรษฐกิจสีเขียวและการบรรลุเป้าหมาย carbon net zero ที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในสิงคโปร์ 4 ประเภท ได้แก่ 1) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพิสูจน์และทำบัญชีคาร์บอน (carbon verification and audit specialist) ช่วยประเมินและวัดผลการดำเนินการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (2) คาร์บอนเทรดเดอร์ (carbon trader) ช่วยบริษัทชดเชยการปล่อยคาร์บอนโดยใช้คาร์บอนเครดิต 3) ผู้จัดการด้านโครงการเกี่ยวกับคาร์บอน (carbon programme manager) ช่วยให้บริษัทดำเนินการตามแผนงาน/โครงการเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอน และ 4) นักวิเคราะห์มาตรฐานและวิธีวิจัยเกี่ยวกับคาร์บอน (carbon standards and methodology analyst) ช่วยบริษัทกำหนดเป้าหมายตามหลักวิทยาศาสตร์เพื่อลดปริมาณ carbon footprint ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 รัฐบาลสิงคโปร์จะอนุมัติ Employment Pass เป็นพิเศษสำหรับพนักงานชาวต่างชาติที่ทำงานในตำแหน่งเหล่านี้
ตลาดการแลกเปลี่ยนและซื้อ-ขายคาร์บอนทั่วโลกอย่าง AirCarbon Exchange และ Climate Impact X ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าคาร์บอนเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับภาคการค้าและการจัดการคาร์บอนที่ต้องการบุคลากรด้านการระดมทุน ประกันภัย และกฎหมายในสาขาที่เกี่ยวกับความยั่งยืนมากขึ้นด้วย
การปรับตัวของอุตสาหกรรมเอาท์ซอร์สในสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ถึงแม้ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจและการเลิกจ้างบริษัทเทคโนโลยีจะสร้างความกังวลแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม Business Process Outsourcing (BPO)1 แต่ข้อมูลของเว็บไซต์ Statista ระบุว่า ความต้องการใช้บริการเอาท์ซอร์ส BPO ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยคาดว่าธุรกิจ BPO ในเอเชียจะมีรายได้รวมสูงถึง 106,900 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ภายในปี 2570 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 47% จากปี 2565 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุตสาหกรรม BPO ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนที่ต่ำ แต่ก็ยังประสบปัญหาเรื่องทักษะที่จำกัดเช่นกัน ทำให้ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวไม่ทันกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น (1) การเพิ่มขึ้นของ AI และ chatbot ทำให้บริษัท BPO ต้องเพิ่มมาตรฐานให้สูงขึ้น โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการ เพื่อช่วยให้การทำงานเป็นอัตโนมัติและเสริมศักยภาพพนักงาน เช่น บริษัท TDCX ในสิงคโปร์ได้คิดค้นระบบจ้างงานอย่างรวดเร็ว (Flash Hire) ที่ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการจ้างงานในตลาดที่มีการแข่งขันสูงในปัจจุบัน ซึ่งช่วยประหยัดเวลาจ้างงานของบริษัทฯมากกว่า 50% จากค่าเฉลี่ย 14 สัปดาห์ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพราะบริษัทฯ จ้างพนักงานมากถึงประมาณ 8,600 คนต่อปีและ (2) ในอดีต พนักงาน BPO ไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ เนื่องจากบริษัทมีข้อมูลที่เป็นความลับจำนวนมาก แต่บริษัท BPO Everise ในสิงคโปร์ระบุว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำบริษัทต้องปรับปรุงองค์กร โดยลงทุนสร้างระบบ workflow และเทคโนโลยีของตนเอง ซึ่งรวมถึงศูนย์ข้อมูลและระบบคลาวด์ ทำให้พนักงาน 90% สามารถทำงานจากที่บ้านได้

(https://investors.tdcx.com/news/financial-news/news-details/2023/TDCX-levels-up-in-Vietnam-to-help-its-gaming-clients-deliver-a-good-game/default.aspx)
ข้อเสนอแนะ
บุคลากรหรือผู้บริหารในประเทศไทยที่สนใจพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถในด้านการจัดการคาร์บอนเพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพและเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในการทำงาน นอกจากการเข้าร่วมสัมมนาหรือศึกษาในหลักสูตรที่เกี่ยวกับการจัดการคาร์บอนที่สถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศไทยจัดขึ้น เช่น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต ของ สวทช. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น และยังสามารถขยายโอกาสในการศึกษาเพิ่มเติมในสิงคโปร์ซึ่งมีแนวคิดและเป้าหมายสอดคล้องกับประเทศไทยในด้านนี้ โดยได้พัฒนาหลักสูตรต่าง ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ หลักสูตรผู้บริหารการค้าคาร์บอน (executive programme on carbon trading) ซึ่งจัดตั้งเมื่อปี 2565 ภายใต้โครงการ Climate Impact X และ Center for Nature-based Climate Solutions ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้เกี่ยวกับกลยุทธ์การจัดการคาร์บอนให้กับบริษัท บุคลาการ และบุคคลทั่วไปที่สนใจ
1 คือ วิธีการว่าจ้างบริษัท outsource หรือบุคคลภายนอกในการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เดิมที BPO มักใช้กับหน่วยงานด้านการผลิตเท่านั้น แต่ปัจจุบัน BPO ได้ขยายขอบเขตไปถึงการจัดหาผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ อีกด้วย
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.straitstimes.com/singapore/jobs-in-the-green-economy-in-hot-demand-as-s-pore-looks-to-become-carbon-services-hub
- https://asia.nikkei.com/Business/Companies/ASEAN-outsourcing-players-keep-talent-with-AI-and-remote-work
- Featured Image: BIC Graphics (Source: Canva, Shutterstock)