สิงคโปร์ประกาศยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนแห่งชาติ (National Hydrogen Strategy) และเดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050

สิงคโปร์เดินหน้าแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และประกาศยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนแห่งชาติ (National Hydrogen Strategy) ในงานสัปดาห์พลังงานสิงคโปร์ (Singapore International Energy Week – SIEW) ค.ศ. 2022  เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 โดยนาย Lawrence Wong รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ ได้กล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตได้รับเชิญเข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นาย Lawrence Wong รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์กล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน SIEW 2022
แหล่งที่มา: PMO (https://www.pmo.gov.sg/Newsroom/DPM-Wong-at-Singapore-International-Energy-Week)

แผนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050)

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ เห็นว่า การแก้วิกฤตด้านพลังงานจะต้องดำเนินไปควบคู่กับการแก้วิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ โดยสิงคโปร์มุ่งมั่นอย่างยิ่งในเรื่องนี้ แม้ว่าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนเพียงร้อยละ 0.1 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก ทั้งนี้ สิงคโปร์ตระหนักดีถึงข้อจำกัดด้านทรัพยากรพลังงานภายในประเทศ และเลือกผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติร้อยละ 95 เนื่องจากปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่าถ่านหินและน้ำมันเชื้อเพลิง ปัจจุบัน สิงคโปร์สามารถสร้างแหล่งเก็บก๊าซ LNG ขนาดใหญ่ และบรรลุข้อตกลงว่าด้วยการนำเข้า LNG จากต่างประเทศในระยะยาว

เมื่อปี 2563 สิงคโปร์สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 32 หรือ 2 เท่า จากปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อปี 2552 (ร้อยละ 16) สิงคโปร์จึงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อหน่วย GDP ต่ำที่สุด

สิงคโปร์จะเร่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เร็วขึ้น เดิมทีคาดว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสิงคโปร์จะสูงที่สุดในปี 2573 (ค.ศ. 2030) จำนวน 65 ล้านตันต่อปี แต่ปัจจุบันคาดว่าจะลดลงเหลือ 60 ล้านตันต่อปีก่อนปี 2573 โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซจากการคมนาคมและการขนส่ง เป้าหมายใหม่ดังกล่าวจะช่วยให้สิงคโปร์บรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ตามที่ประชุม COP-26 โดยสิงคโปร์จะประกาศแผน Nationally Determined Contributions (NDCs)  ใหม่นี้ในที่ประชุม COP-27 ที่อียิปต์ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ด้วย                                       

นโยบายที่สิงคโปร์จะขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ Net Zero ภายในปี 2593 ได้แก่

(1) การจัดเก็บภาษีคาร์บอน ปัจจุบัน สิงคโปร์เก็บภาษีคาร์บอนอย่างกว้างขวางประมาณร้อยละ 80 ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมด โดยรัฐบาลสิงคโปร์วางแผนจะปรับขึ้นอัตราภาษีคาร์บอนจาก 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อการปล่อยก๊าซ คาร์บอนต่อตันในปัจจุบัน เป็น 50 – 80 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อตันภายในปี 2573 ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ตระหนักดีว่าการขึ้นภาษีคาร์บอนจะส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการ รวมถึงค่าไฟฟ้าของครัวเรือน และต้นทุนของธุรกิจเพิ่มขึ้นในช่วงภาวะเงินเฟ้อสูงนี้

แหล่งที่มา: Budget 2022 MOF (https://www.mof.gov.sg/singaporebudget/resources/budget-infographics)

(2) การลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยในการลดการปล่อยคาร์บอน โดยเน้นที่ภาคการผลิตกำลังไฟฟ้าเป็นสำคัญ เนื่องจากมีสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนสูงถึงร้อยละ 40 ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดในสิงคโปร์

(3) การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) ได้แก่ พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานจากไฮโดรเจน โดยสิงคโปร์ตั้งเป้าหมายการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ 2 กิกะวัตต์ (GWp) ภายในปี 2573 ซึ่งจะเพียงพอต่อการส่งจ่ายกำลังไฟฟ้าได้สูงสุด 350,000 ครัวเรือน สิงคโปร์เริ่มนำเข้าพลังงานไฟฟ้าสะอาดจากโครงการความร่วมมือระหว่าง สปป. ลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ (LTMS-PIP) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ตระหนักดีว่า ต่อให้สิงคโปร์เร่งผลิตพลังงานแสงอาทิตย์มากเพียงใด ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ

ยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนแห่งชาติสิงคโปร์ (National Hydrogen Strategy)

สิงคโปร์เห็นว่า พลังงานจากไฮโดรเจนเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเมื่อมีการเผาไหม้ จึงมีศักยภาพที่จะเป็นพลังงานทดแทนแห่งอนาคต แม้จะยังเป็นเรื่องใหม่ แต่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มลงทุนในด้านการพัฒนาพลังงานจากไฮโดรเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยสิงคโปร์คาดว่า จะสามารถผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจนได้ครึ่งหนึ่งของความต้องการภายในประเทศภายในปี 2593 ทั้งนี้ นาย Wong ได้ประกาศยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนแห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญ 5 ประการ ดังนี้

(1) การศึกษาความเป็นไปได้ที่จะใช้พลังงานจากไฮโดรเจนในวงกว้าง เมื่อภาคเศรษฐกิจของ สิงคโปร์มีความพร้อม ซึ่งรวมถึงไฮโดรเจนที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์และที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น แอมโมเนีย ที่เป็นพาหะพลังงานของไฮโดรเจน สามารถนำมาใช้เป็นแหล่งเชื้อเพลิงให้กับภาคการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมทางทะเล ทั้งนี้ สิงคโปร์คาดว่าจะเริ่มผลิตและใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้แอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงในปี 2570

ภาพรวมการจัดการแอมโมเนีย พาหะของพลังงานไฮโดรเจน
แหล่งที่มา: MTI (https://www.mti.gov.sg/Industries/Hydrogen)

(2) การเพิ่มการลงทุน 2 เท่าในโครงการวิจัยและพัฒนาไฮโดรเจน ได้แก่ โครงการวิจัยพลังงานคาร์บอนต่ำ Low Carbon Energy Research (LCER) ซึ่งสิงคโปร์จะลงทุนเพิ่มอีก 129 ล้านดอลลาร์ สิงคโปร์ (จากงบประมาณ 55 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในช่วงก่อตั้งโครงการเมื่อปี 2563) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการนำเข้า การจัดการ และการใช้ไฮโดรเจนอย่างปลอดภัย โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ประสานงานกลางที่ช่วยส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญและนักวิจัย ร่วมมือกันพัฒนาผลจากการศึกษาและวิจัยให้เป็นรูปธรรมและใช้งานได้จริง

(3) การสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับต่างประเทศที่มีเป้าหมายและแนวคิดใกล้เคียงกัน อาทิ การสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน เพื่อความมั่นคงทางพลังงานและความหลากหลายในการนำเข้าไฮโดรเจนของสิงคโปร์ โดยสามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในการจัดทำข้อริเริ่มเพื่อสร้างแนวทางและมาตรฐานในเรื่องของการขนส่ง การจัดเก็บ และการจัดหาแอมโมเนียและไฮโดรเจนระหว่างประเทศ โดยเน้นการรับประกันแหล่งที่มาของไฮโดรเจน (Guarantee of Origin Certification) เพื่อให้มั่นใจว่าไฮโดรเจนที่นำมาใช้มีแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ สอดคล้องกับความยั่งยืน และช่วยส่งเสริมการแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศได้จริง

(4) การศึกษาเงื่อนไขของพื้นที่และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฮโดรเจนใหม่ในสิงคโปร์ ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังสูง เนื่องจากสิงคโปร์มีสิ่งปลูกสร้างหนาแน่น กอปรกับไฮโดรเจนมีคุณสมบัติทางเคมีที่แตกต่างจากก๊าซธรรมชาติ ทำให้ต้องศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเมื่อจะขยายการใช้ไฮโดรเจนไปทั่วเมือง

(5) การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและแรงงานให้พร้อมต่อการใช้ระบบไฮโดรเจนขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีงานประเภทใหม่ ๆ เช่น การซื้อ ขาย และจัดเก็บไฮโดรเจน และการตรวจสอบ/รับรองการปล่อยก๊าซคาร์บอน เป็นต้น

สิงคโปร์จัดทำยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนในระดับชาติเนื่องจากเห็นว่าจะเป็นหนทางไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอนและเพิ่มความยั่งยืนในอนาคต และความร่วมมือในระดับนานาชาติในสาขาที่เกี่ยวข้องมีความสำคัญยิ่ง

การขยายแผนการเงินสีเขียวและเขตพลังงาน

สิงคโปร์ประเมินว่า เฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ละประเทศจะต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวรวมเป็นมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนร่วมกัน (collective decarbonization) ในทศวรรษข้างหน้า

สิงคโปร์มุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางการเงินสีเขียว (green finance) เพื่อเป็นแหล่งระดมทุนในการพัฒนาสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยสิงคโปร์เน้นความร่วมมือ 3 ประการ (3Ds) ได้แก่ (1) ข้อมูลที่ดีขึ้น (Data)  (2) การเปิดเผยข้อมูลที่มากขึ้น (Disclosure) และ (3) การให้คำจำกัดความที่ชัดเจนขึ้น (Definition) เกี่ยวกับการเงินสีเขียว

สิงคโปร์ยังมีแผนด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น แผนการเปลี่ยนมาใช้ยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาดทั้งหมดภายในปี 2583 (ค.ศ. 2040)  แผนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมความยั่งยืนที่ Jurong Island และแผนการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่ Sentosa Island รวมถึงโครงการพัฒนาเขต Jurong Lake ให้เป็นเขตความเจริญแบบยั่งยืนในระดับโลก ซึ่งรวมถึงการก่อสร้างอาคารที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (zero energy buildings) การติดตั้งระบบจัดการพลังงานอัจฉริยะ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และการใช้จักรยานและรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะในชุมชน

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อสังเกต

กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลการจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับภาษีคาร์บอนของสิงคโปร์ เพื่อพิจารณาปรับใช้ในการพัฒนากฎระเบียบของประเทศไทย โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประสานงานให้อธิบดีกรมสรรพสามิตและคณะเข้าพบหน่วยงาน National Environment Agency ผู้รับผิดชอบเรื่องกฎหมายคาร์บอนของสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 และเอกอัครราชทูตได้เป็นเจ้าภาพการหารือระหว่างอาหารกลางวันกับอธิบดีกรมสรรพสามิตและคณะเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2565 โดยจะขอความอนุเคราะห์สถานเอกอัครราชทูตฯ ประสานงานกับกระทรวงการคลัง หรือธนาคารกลางสิงคโปร์ เพื่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องนี้ต่อไป

นาย Arifin Tasrif รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่อินโดนีเซีย ได้เข้าร่วมงาน SIEW 2022 และให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่นสิงคโปร์ เรื่องสัญญาขายก๊าซธรมชาติจากเกาะสุมาตราใต้มายังสิงคโปร์ระยะเวลา 20 ปี ที่จะหมดอายุในปี 2566 โดยอินโดนีเซียและสิงคโปร์อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำสัญญาฉบับใหม่ระยะเวลา 5 ปี ซึ่งอินโดนีเซียคาดว่า จะสามารถขายก๊าซธรรมชาติให้สิงคโปร์ได้ลดลงเล็กน้อยเนื่องจากปริมาณการผลิตในประเทศที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดพลังงานในสิงคโปร์ วิเคราะห์ว่า เรื่องดังกล่าวจะไม่กระทบต่อโครงสร้างพลังงานในสิงคโปร์ เนื่องจากได้เตรียมการที่จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ร้อยละ 100 โดยตั้งแต่ปี 2567 ก๊าซธรรมชาติแบบส่งผ่านระบบท่อจะคิดเป็นร้อยละ 10 ของการนำเข้าทั้งหมดเท่านั้น


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง