แนวโน้มการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพด้าน “เทคโนโลยีควอนตัม” ในสิงคโปร์

 “เทคโนโลยีควอนตัม” (Quantum Technology) และการประมวลผลแบบควอนตัม (Quantum Computing) มีความสำคัญยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ และอาจปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ในอนาคตอันใกล้ โดยทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจาก “ยุคดิจิทัล” ไปสู่ “ยุคควอนตัม” ที่ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์รูปแบบใหม่เชิงควอนตัมฟิสิกส์ สามารถประมวลผลลัพธ์ที่แม่นยำและรวดเร็วกว่าคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบันอย่างมาก ดังนั้น การลงทุนมูลค่าสูงจากบริษัทด้านเทคโนโลยีระดับโลกจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ บริษัท Google และบริษัท IBM ของสหรัฐอเมริกาและบริษัท Baidu ของจีน ซึ่งต่างกำลังช่วงชิงโอกาสการเป็นเจ้าของเทคโนโลยี และพัฒนาไปสู่การนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง

สิงคโปร์เริ่มลงทุนและวางพื้นฐานทางเทคโนโลยีควอนตัมมาเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว โดยเมื่อปี 2550 มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ได้ก่อตั้งศูนย์ Centre for Quantum Technologies (CQT) เพื่อศึกษาและวิจัยเทคโนโลยีควอนตัม และเมื่อต้นปี 2565 รัฐบาลได้ก่อตั้ง National Quantum Office และประกาศดำเนินโครงการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมแห่งชาติ ด้วยเงินสนับสนุน 23.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ บทความนี้ ศูนย์ BIC จะแนะนำบริษัทเทคโนโลยีควอนตัมของสิงคโปร์ให้ผู้อ่านได้รู้จักกันมากขึ้น และอาจต่อยอดไปสู่การเพิ่มความร่วมมือทางธุรกิจกับผู้ประกอบการไทยได้

นักศึกษาปริญญาเอกของศูนย์ CQT สิงคโปร์ กำลังนำตัวนำยิ่งยวด Quantum Bit เข้าเก็บที่อุณหภูมิศูนย์สัมบูรณ์
แหล่งที่มา: Centre for Quantum Technologies (CQT) (https://www.quantumlah.org/page/key/AnnualReports)

สิงคโปร์กับการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัม

บริษัท Horizon หนึ่งในสตาร์ทอัพที่บ่มเพาะโดยศูนย์ CQT ในสิงคโปร์ เล็งเห็นปัญหาเรื่องความซับซ้อนของศาสตร์ควอนตัม จึงได้เริ่มวิจัยและพัฒนาเครื่องมือตัวเชื่อมศาสตร์ควอนตัมที่สามารถลดความซับซ้อนของอัลกอริทึม และสามารถเข้าถึงได้โดยคนทั่วไป แนวคิดดังกล่าวเป็นที่สนใจของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ เช่น เครือ Tencent ของจีนสนใจลงทุนกับบริษัท Horizon เป็นเงิน 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และบริษัท Sequoia Capital ของอินเดียสนใจลงทุนอีก 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้บริษัท Horizon กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีแผนเพิ่มกำลังคนถึง 25 ตำแหน่งในด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมการผลิต

อีกหนึ่งบริษัทที่เติบโตจากศูนย์ CQT คือ บริษัท Entropica เดินหน้าพัฒนาการประมวลผลแบบควอนตัมเพื่อใช้ประโยชน์ด้านการจัดการ optimization ที่มุ่งเน้นการสร้างประสิทธิผลสูงสุดจากทรัพยากรที่มี โดยปี 2563 Entropica Labs ได้ร่วมพัฒนาระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานให้กับโครงการความร่วมมือระหว่างบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ BMW กับบริษัท Honeywell Quantum Solutions นอกจากนี้ นักลงทุนสิงคโปร์กลุ่ม Elev8.vc ด้านเทคโนโลยีขั้นสูง (deep tech) ได้ลงทุนด้านการพัฒนาต่อยอดซอฟแวร์กับ Entropica อีกด้วย

รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญและสนับสนุนการวิจัยด้านระบบความปลอดภัยแบบควอนตัม (quantum-safe) อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ของสิงคโปร์ โดยเฉพาะเทคนิค “การเข้ารหัสขั้นสูง” การแข่งขันของบริษัทสตาร์ทอัพด้านควอนตัมในสาขานี้จึงมากกว่าด้านอื่น ๆ ในปัจจุบัน บริษัท SpeQtral ซึ่งเติบโตจากศูนย์ CQT และได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากเครือ Temasek ได้ออกแบบและผลิตระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียมด้วยเทคโนโลยีควอนตัม เพื่อปัองกันระบบเครือค่ายโทรคมนาคมและการคุกคามอธิปไตยของสิงคโปร์ รวมไปถึงการโจมตีทางไซเบอร์ฐานระบบควอนตัมในอนาคต ด้วยการเข้ารหัสแบบ Quantum Key Distribution (QKD) นอกจากนี้ บริษัท SpeQtral ได้เปิดตัว Quantum Networks Experience Centre (QNEX) ร่วมกับบริษัท Toshiba เพื่อเป็นแม่แบบให้คู่ค้า นักวิจัย และหน่วยงานภาครัฐได้แบ่งปันประสบการณ์การเข้ารหัสลับด้วยเทคโนโลยีควอนตัม ทั้งยังมีแผนจะจัดทำดาวเทียม SpeQtral-1 ให้แล้วเสร็จ ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า

บริษัท SpeQtral เปิดตัว Quantum Networks Experience Centre (QNEX)
โดยมีนาย Heng Swee Keat รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจสิงคโปร์เข้าร่วมงาน
 แหล่งที่มา: SpeQTral (https://speqtral.space/)

ความท้าทายในการดึงดูดการลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมในสิงคโปร์

การจัดการความคาดหวังของนักลงทุนในเทคโนโลยีควอนตัมถือเป็นความท้าทายเนื่องจากยังไม่ค่อยมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมนัก นักลงทุนจึงกังวลว่าอาจจะเกิดปรากฏการณ์ quantum winter หรือการหมดความเชื่อถือในควอนตัม ตัวอย่างเช่น กรณีของบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกา IonQ และ Rigetti ที่ราคาหุ้นตกลงถึง 60.8% และ 90.2% จากราคาเริ่มต้นที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในปี 2564

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ Ekert ของศูนย์ CQT เห็นว่า เทคโนโลยีควอนตัมในสิงคโปร์ยังมีโอกาสเติบโตสูง และจำนวนนักวิจัยรุ่นใหม่ที่สนใจเป็นผู้ประกอบการด้านควอนตัมก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งมีนักลงทุนด้าน deep tech จำนวนไม่น้อย การลงทุนเทคโนโลยีควอนตัมในระยะเริ่มต้นก็ใช้เงินทุนไม่มาก แต่หากประสบความสำเร็จ จะช่วยสร้างเม็ดเงินมหาศาลแก่ผู้ประกอบการ และช่วยส่งเสริมสถานะของผู้ประกอบการในของอุตสาหกรรมนี้อีกด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

แม้ว่าการลงทุนในเทคโนโลยีควอนตัมยังอยู่ในวงจำกัดและอยู่ในขั้นตอนของการค้นคว้าวิจัยเป็นส่วนใหญ่ แต่การผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ใช้ระบบควอนตัมก้าวหน้าอย่างยิ่งในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ล่าสุด เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 บริษัท IBM ได้เปิดตัวควอนตัมคอมพิวเตอร์รุ่น Osprey ขนาด 433 คิวบิต1 ซึ่งเหนือกว่ารุ่น Eagle ของปีก่อนหน้าถึง 3 เท่า การเปิดตัวควอนตัมคอมพิวเตอร์ตัวแรกของบริษัท Baidu รุ่น Qianshio ขนาด 10 คิวบิต เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 การจัดทำหน่วยประมวลผลควอนตัมรุ่นใหม่ Sycamore ของบริษัท Google เมื่อปี 2562 รวมถึงข่าวความเคลื่อนไหวของบริษัทสตาร์ทอัพต่าง ๆ ทำให้หลายประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีนี้อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลของบริษัทวิจัยด้านการตลาด IDC เปิดเผยว่า มูลค่าการลงทุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 16.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2570

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีนักวิชาการและนักวิจัยด้านทฤษฎีควอนตัมอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศกว่า 200 คน โดยรัฐบาลได้ส่งเสริมการนำงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้งานในภาคอุตสาหกรรมได้จริง ความสำเร็จในการกักขังอะตอมเดี่ยวโดยทีมนักฟิสิกส์วิศวกรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อปี 2562 ถือเป็นความสำเร็จเชิงควอนตัมที่น่าสนใจในประเทศไทยอีกด้วย  ศูนย์ BIC มีข้อสังเกตว่า ศูนย์ CQT ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ สนใจที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเทคโนโลยีควอนตัมกับหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ของไทย อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งถือเป็นโอกาสร่วมกันของทั้งสองฝ่ายที่จะพัฒนาการใช้เทคโนโลยีควอนตัมในภาคการศึกษา อุตสาหกรรม และธุรกิจ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านนี้ของทั้งสองประเทศในอนาคต


1 มีชื่อเต็มว่า Quantum bit เป็นหน่วยย่อยที่สุดของข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์เชิงควอนตัม มีการทำงานคล้ายกับบิต ที่เป็นหน่วยย่อยที่สุดของข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์แบบทั่วไป แต่ความพิเศษของคิวบิตคือ มีสถานะที่เป็นได้ทั้ง 0 และ 1 ในเวลาเดียวกัน


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง