
การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้ขยายฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสิงคโปร์
จากสถิติปี 2564 อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์คิดเป็นประมาณ 7% ของ GDP สิงคโปร์ และคิดเป็น 80% ของการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดของประเทศ โดยการผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ในสิงคโปร์มีสัดส่วนประมาณ 20% ของกำลังการผลิตทั่วโลก และคิดเป็น 11% ในส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลก อุตสาหกรรมนี้สร้างงานในสิงคโปร์มากกว่า 33,000 อัตรา และคาดว่า จะมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นอีกกว่า 2,000 ตำแหน่งในช่วง 3 – 5 ปีข้างหน้า
การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ และถึงแม้สถานการณ์จะดีขึ้นจากมาตรการผ่อนคลายและการเปิดประเทศ แต่ด้วยปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบันที่ส่งผลต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่ต้องการกระจายความเสี่ยงโดยกระจายฐานการผลิตและห่วงโซ่อุปทานไปยังประเทศต่าง ๆ แม้ว่าความต้องการเซมิคอนดักเตอร์จะมีแนวโน้มลดลงในครึ่งหลังของปี 2565 อันเนื่องมาจากภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก แต่ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระยะยาว โดยคาดว่าจะเติบโตถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในทศวรรษข้างหน้านี้ หรือมีมูลค่ามากกว่า 2 เท่าของตลาดในปัจจุบัน รัฐบาลสิงคโปร์จึงดำเนินนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้ขยายฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสิงคโปร์ ตามวิสัยทัศน์ Manufacturing 2030 ที่ตั้งเป้าหมายการสร้างสิงคโปร์ให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงในระดับโลก โดยตั้งเป้าการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมการผลิตไว้สูงถึง 50% ภายในปี 2573
โครงสร้างพื้นฐานที่ดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสิงคโปร์
สิงคโปร์เป็นหนึ่งในฐานการผลิตของผู้เล่นที่สำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลก เช่น (1) บริษัท GlobalFoundries ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ประกาศขยายกำลังการผลิตในสิงคโปร์ด้วยงบประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อทดแทนฐานการผลิตที่ย้ายออกจากจีน การก่อสร้างคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 โดยปัจจุบัน โรงงาน GlobalFoundries ในสิงคโปร์มีกำลังการผลิตคิดเป็น 1 ใน 3 ของโรงงานในเครือเดียวกันทั่วโลก โดยมีพนักงานประมาณ 5,000 คน และมีแผนการจ้างงานเพิ่มอีกกว่า 1,000 ตำแหน่ง (2) บริษัท United Microelectronics Corporation (UMC) ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของไต้หวัน ได้ประกาศขยายโรงงานผลิตแผ่นเวเฟอร์แห่งใหม่ในสิงคโปร์เมื่อต้นปี 2565 ด้วยงบประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตได้ในปี 2567 และ (3) บริษัท Siltronics ของเยอรมนี ที่ได้เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตแผ่นเวเฟอร์อีกหนึ่งแห่งในสิงคโปร์เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ด้วยงบประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่สุดของบริษัทด้วย
นอกเหนือจากบริษัทรายใหญ่แล้ว สิงคโปร์ยังมีบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ท้องถิ่นที่ดำเนินธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ ด้านการออกแบบ การผลิตชิ้นส่วน และการทดสอบ บริษัท SMEs ที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้ประกอบการเซมิคอนดักเตอร์ของสิงคโปร์ (Singapore Semiconductor Industry Association – SSIA) มีจำนวนประมาณ 140 บริษัท จาก 200 บริษัท หรือประมาณ 70%
สิงคโปร์มีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยมีนิคมอุตสาหกรรมสำหรับการผลิตแผ่นเวเฟอร์ขนาดใหญ่ เช่น JTC Wafer Fab Park ที่มีพื้นที่ถึง 361 เฮกตาร์ (เทียบเท่าสนามฟุตบอลจำนวน 547 สนาม) บริษัทชั้นนำระดับโลก 14 บริษัทได้จัดตั้งโรงงานผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ และมีพนักงานรวมทั้งหมดประมาณ 18,600 คน นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังจัดทำโครงการ JTC semiconSpace ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2565 เพื่อเป็นพื้นที่เพิ่มเติมสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และ JTC nanoSpace สำหรับบริการห้องปลอดเชื้อ (clean room) ที่นิคมอุตสาหกรรม Tampines Wafer Fab Park เพื่อให้บริการแบบเชื่อมต่อและใช้งาน (plug and play) ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยต่อไป
การที่สิงคโปร์มีผู้ประกอบการที่หลากหลายเข้ามาลงทุนในกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การออกแบบ การผลิตและการประกอบชิ้นส่วน การทดสอบ และการบรรจุผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าซึ่งกันและกัน และทำให้สิงคโปร์เป็นหนึ่งในศูนย์กลางของห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่จะเติบโตได้ดีแห่งหนึ่งของโลก นอกเหนือจากโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจที่ดีเยี่ยมเป็นอันดับต้นของโลก ความมีเสถียรภาพทางการเมือง รวมไปถึงความเชื่อมั่นด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา นักวิเคราะห์จึงคาดว่า สิงคโปร์จะสามารถต่อยอดในการดึงดูดการลงทุนจากผู้ผลิตรายใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างต่อเนื่อง
นโยบายและอนาคตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสิงคโปร์
สิงคโปร์ตั้งเป้าหมายด้านการพัฒนาและการวิจัย (R&D) การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และการพัฒนาทักษะแรงงานที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของภาคการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะในส่วนที่มีการเติบโตสูงในตลาด รวมถึงการพัฒนาซิลิกอนคาร์ไบด์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานให้กับรถยนต์ไฟฟ้า ชิปสำหรับคลื่นความถี่วิทยุใหม่ ตัวกรองสำหรับระบบ 5G และเทคโนโลยีระบบตรวจจับที่ทันสมัยสำหรับใช้ในเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง (AR และ VR) อีกทั้งยังสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (carbon footprint) ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เพื่อความยั่งยืนอีกด้วย
นอกจากผู้ที่มีความรู้ทางวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกลแล้ว สิงคโปร์ยังต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านวิศวกรรมฟิสิกส์ เคมี และวัสดุศาสตร์ รวมถึงการจ้างแรงงานต่างชาติทีมีความสามารถเพื่อต่อยอดการผลิตให้พัฒนามากยิ่งขึ้น นอกจากการสนับสนุนของรัฐบาลสิงคโปร์และ SSIA ในการสรรหาแรงงานฝีมือแล้ว กลุ่มบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำในสิงคโปร์ ยังได้ร่วมกับภาคการศึกษาต่าง ๆ ในการช่วยส่งเสริม พัฒนาทักษะ และดึงดูดแรงงานสิงคโปร์ให้เข้าสู่การผลิตให้มากขึ้นในทุกระดับ ทั้งนี้ เมื่อปี 2564 SSIA เริ่มจัดการประชุมประจำปี Semiconductor Business Connect เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน และเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันแก่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในสิงคโปร์
ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ
สิงคโปร์เป็นตลาดส่งออกเซมิคอนดักเตอร์อันดับที่ 3 ของไทย รองจากฮ่องกงและสหรัฐฯ โดยเมื่อปี 2564 ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ไปสิงคโปร์เป็นมูลค่ารวม 1,071 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ นโยบายการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อขยายฐานการผลิตของต่างชาติในสิงคโปร์ อาจจะส่งผลทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไทย เช่น สิงคโปร์จะต้องการนำเข้าชิ้นส่วนหรือแผงวงจรที่เกี่ยวข้องจากไทยมากขึ้น และเพิ่มโอกาสการเป็นคู่ค้าหรือร่วมลงทุนระหว่างกันยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ไทยอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากนโยบายดังกล่าวของสิงคโปร์ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจึงยังคงติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านที่ตั้ง ขนาดพื้นที่และขนาดตลาด และการให้สิทธิประโยชน์ที่ดึงดูดใจแก่นักลงชาวต่างชาติให้มาลงทุนขยายฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในไทย อาทิ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) รวมทั้งนโยบายการพัฒนาแรงงานและบุคลากรด้านการออกแบบ การผลิต และการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ ตลอดจนการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตนี้
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.straitstimes.com/tech/tech-news/how-has-singapore-been-cashing-in-on-semiconductor-chips
- https://www.mti.gov.sg/Newsroom/Speeches/2022/05/Speech-by-MOS-Alvin-Tan-at-the-SSIA-Semiconductor-Business-Connect-2022
- https://www.straitstimes.com/tech/tech-news/singapore-poised-attract-more-investments-as-semiconductor-firms-diversify-sources
- Featured Image: BIC Graphic (Source: Shutterstock, Canva)