จากการสำรวจของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (Economic Development Board – EDB) พบว่า เกือบครึ่งหนึ่ง (48%) ของบริษัทด้านการผลิตชั้นนำที่มีการดำเนินการด้านห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกำลังวางแผนขยายการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่าจะเติบโตอย่างมากไปจนถึงช่วงปี 2568 โดยบริษัทเหล่านี้จะพัฒนาความสามารถด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทาน (supply chain management – SCM) ควบคู่ไปด้วย

สิงคโปร์เร่งเพิ่มขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตตามเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ของห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเน้นการเพิ่มศักยภาพด้าน SCM ให้แข็งแกร่ง เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและบริษัทชั้นนำในการเลือกสิงคโปร์เป็นฐานการผลิตและการดำเนินการห่วงโซ่อุปทาน ท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกที่มีความไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

การเติบโตของห่วงโซ่อุปทานของสิงคโปร์ และการตั้งเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานและการค้าของโลก

สิงคโปร์เป็นแหล่ง SCM ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยมีบริษัทชั้นนำหลายแห่ง เช่น Procter & Gamble (P&G) ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ที่มีศูนย์วางแผนและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอุปสงค์และอุปทานของสินค้าในสิงคโปร์ ดูแลตลาดทั้งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา สิงคโปร์ยังเป็นศูนย์ห่วงโซ่อุปทานและศูนย์กระจายสินค้าของบริษัทผู้ผลิตอีกมากมาย เช่น Dole, Johnson & Johnson, Schneider Electric และ 3M นอกจากนี้ สิงคโปร์มีบริษัทโลจิสติกส์ชั้นนำของโลกเข้ามาจัดตั้งสำนักงานมากถึง 23 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค และเร็ว ๆ นี้ บริษัท Maersk บริษัทโลจิสติกส์ระดับโลกก็กำลังจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าประจำภูมิภาคแห่งที่ 2 ในสิงคโปร์ โดยจะเป็นศูนย์ที่สามารถให้บริการจากหลากหลายช่องทาง ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งช่วยเสริมสถานะของสิงคโปร์ในการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาค โดยเฉพาะด้านบริการสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ เครื่องนุ่งห่ม และสินค้าอุปโภคบริโภค

สิงคโปร์มีความโดดเด่นด้านการผลิตสินค้ามูลค่าสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ชีวเภสัชภัณฑ์ (biopharmaceuticals) อุปกรณ์การบิน อุปกรณ์บริการสุขภาพ และเทคโนโลยีการเกษตร (argritech) สิงคโปร์ยังถือเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมด้านการวิจัยพัฒนาและการบริการทางการค้าทั้งด้านโลจิสติกส์และการเงินของภูมิภาค

สิงคโปร์ยังเป็นเมืองท่าที่มีการถ่ายลำสินค้า (transshipment) มากที่สุดในโลก และกำลังก่อสร้างท่าเรือ Tuas ท่าเรืออัตโนมัติที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าได้ถึง 65 ล้าน TEUs (Twenty-foot Equivalent Units) ต่อปี คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2588 รวมถึงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม Changi East และอาคารผู้โดยสารที่ 5 ของสนามบินชางงีที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าทางอากาศถึง 80% เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์

นอกจากนี้ สิงคโปร์มีความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreements – FTAs) มากถึง 27 ความตกลง และยังเร่งสร้างความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Agreements – DEAs) กับต่างประเทศทั่วโลกเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงดิจิทัลและการพัฒนามาตรฐานดิจิทัลกับประเทศต่าง ๆ ทั้งนี้ สิงคโปร์ยังได้ประกาศย้ำจุดยืนที่จะไม่ระงับช่องทางการค้าและท่าเรือของประเทศแม้จะเผชิญกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ด้วย

ภาครัฐและภาคเอกชนของสิงคโปร์เร่งส่งเสริมความรู้ความสามารถด้าน SCM ให้คนสิงคโปร์

การเติบโตของห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในสิงคโปร์ทำให้มีความต้องการบุคลากรระดับมืออาชีพ (professionals, managers, executives and technicians – PMETs) ด้าน SCM เพิ่มขึ้นมากกว่า 700 ตำแหน่งในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ ทั้งนี้ หน่วยงาน EDB และ SkillsFuture ของสิงคโปร์ ได้เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ของ EDB เกี่ยวกับ Supply Chain Management Jobs Transformation Map ซึ่งเป็นแนวทางความต้องการทักษะที่สำคัญและจำเป็นในด้าน SCM สำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัท ฝ่ายฝึกอบรมพนักงาน หน่วยงานจัดฝึกอบรมทักษะอาชีพ และสถานศึกษา เพื่อเร่งยกระดับบุคลากรให้ตรงความต้องการของตลาดปัจจุบัน สามารถแข่งขันและมีความพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต

ขณะเดียวกัน สถาบันการศึกษาของสิงคโปร์ก็ได้ปรับหลักสูตรด้าน SCM ให้เข้มข้นขึ้น เช่น Singapore University of Social Sciences (SUSS) ร่วมกับบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ o9 Solutions เปิดหลักสูตรสอนทักษะดิจิทัลใหม่ ๆ สำหรับงาน SCM ขั้นสูง ในส่วนของภาคเอกชนก็มีความพยายามที่จะเพิ่มพูนทักษะให้กับพนักงาน เช่น สมาคมแฟชั่นของสิงคโปร์ (Singapore Fashion Council) เปิดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยดิจิทัลและห่วงโซ่อุปทานด้านแฟชั่นที่ยั่งยืน และบริษัท VF Corporation ผู้ผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มแบรนด์ Vans และ The North Face จัดตั้งสถาบันด้านห่วงโซ่อุปทานในสิงคโปร์เพื่อเป็นศูนย์อบรมพนักงานของบริษัท

รัฐบาลสิงคโปร์ยังสนับสนุนโครงการ Career Conversion Programme สนับสนุนการจ้างงาน การเปลี่ยนอาชีพ (mid-career) และการเพิ่มทักษะใหม่ (reskill) ด้าน SCM ให้กับคนสิงคโปร์ รวมทั้งให้สิทธิเงินอุดหนุนแก่บริษัทเป็นจำนวน 90% ของเงินเดือนในช่วงการฝึกอบรมพนักงานเดิมเพื่อเพิ่มทักษะด้านนี้ด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ

ผู้ประกอบการและผู้ผลิตของไทยอาจพิจารณามองหาโอกาสขยายตลาดในภูมิภาคเพิ่มเติม นอกเหนือจากตลาดท้องถิ่น รวมถึงมองหาความร่วมมือกับบรรษัทข้ามชาติโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ต่างชาติมีเม็ดเงินการลงทุนสูง เพิ่มการลงทุนในมิติใหม่ ๆ (new S-curve) อย่างต่อเนื่อง เร่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตให้ทันสมัย รวมถึงไม่มองข้ามการเพิ่มศักยภาพด้าน SCM ที่จำเป็นต้องทำควบคู่กันไป ทั้งการพัฒนาระบบและบุคลากร โดยเน้นประยุกต์ใช้ความรู้ดิจิทัลขั้นสูงและศาสตร์แห่งความยั่งยืนเพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้สามารถรองรับตลาดที่มีความหลากหลายมากขึ้นและปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง