
พฤติกรรมการอุปโภคบริโภคของชาวสิงคโปร์ในช่วงภาวะเงินเฟ้อ
ชาวสิงคโปร์กำลังเผชิญกับสถานการณ์ภาวะเงินเฟ้อสูงสุดในรอบทศวรรษ ส่งผลให้ค่าครองชีพราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในสิงคโปร์สูงขึ้นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะราคาอาหาร พลังงานไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิง ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการอุปโภคบริโภคของชาวสิงคโปร์หรือไม่ และอย่างไร
จากข้อมูลกรมสถิติของสิงคโปร์ (Singapore Department of Statistics) การสัมภาษณ์ชาวสิงคโปร์ และผลการศึกษาของธนาคาร DBS สิงคโปร์ ก่อให้เกิดข้อสังเกตและการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ ดังนี้
1. ผู้บริโภควัยกลางคนหรือผู้มีความรับผิดชอบต่อการจับจ่ายใช้สอยในครัวเรือน เป็นกลุ่มที่เพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่าย ลดการใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่มีความจำเป็น (discretionary spending) เช่น (1) หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร และนำข้าวกล่องจากบ้านมารับประทานในช่วงพักกลางวัน (2) การมองหาทางเลือกที่ราคาย่อมเยากว่า เช่น ซื้อสินค้าที่ร้านค้าทำขึ้นเอง (House Brand) แทนสินค้ามียี่ห้อ และการเปรียบเทียบราคาสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตกับราคาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ (3) ลดการใช้รถรับจ้าง (4) การใช้พัดลมแทนเครื่องปรับอากาศ และ (5) งดเว้นการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เสื้อผ้าใหม่
2. ในทางกลับกัน ผู้บริโภคที่อายุน้อยหรือกลุ่มมิลเลนเนียล (เกิดระหว่างปี 2524 ถึง 2539) ยังคงใช้จ่ายเงินตามปกติ โดยเฉพาะการซื้อสินค้าในหมวดหมู่ที่ถูกจำกัดในช่วงที่มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 เห็นได้จากสถิติยอดค้าปลีกเดือนกรกฎาคม 2565 ชาวสิงคโปร์ใช้จ่ายมากขึ้นกว่าปี 2564 ในประเภทสินค้า ดังนี้ 1) เครื่องแต่งกายและรองเท้า เพิ่มขึ้น 68.3% 2) อาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 53.1% และ 3) นาฬิกาและเครื่องประดับ เพิ่มขึ้น 41.7% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรายงานของธนาคาร DBS ที่ระบุว่า การใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้นในกลุ่มลูกค้ารายย่อยของธนาคาร 1.2 ล้านราย โดยเมื่อปี 2564 ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้แก่ กลุ่มบันเทิงและการเดินทาง 56.7% และอาหาร 38.7%
3. ในภาพรวม ค่าใช้จ่าย 3 อันดับแรกของชาวสิงคโปร์ ได้แก่ 1) ครัวเรือนและสาธารณูปโภค 24.8% 2) อาหาร 21.1% และ 3) การขนส่ง 17.1% ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงินได้ให้ข้อแนะนำวิธีการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ 3 ประการ คือ 1) การจัดตั้งงบประมาณและการใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด 2) การลดค่าใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น และ 3) การใช้เครื่องมือในการรับเงินคืนและรางวัลมาช่วยลดค่าใช้จ่าย
4. ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Gig Economy Workers) โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานขับรถโดยสารส่วนบุคคลและพนักงานส่งของ ควรให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายและประหยัดเงินมากขึ้น เนื่องจากมีรายได้ไม่คงที่ และได้รับความเสี่ยงจากผลกระทบของเงินเฟ้อโดยตรง โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า Gig Workers ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 12 เดือน ในขณะที่บุคคลทั่วไปควรมีเงินสำรองอย่างน้อย 3 – 6 เดือน นอกจากนี้ ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน และกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ (อายุ 58 – 76 ปี) เป็นผู้มีความเสี่ยงจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อมากที่สุด เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่การเติบโตของรายได้ที่ช้าลง รายได้ต่อเดือนที่ได้รับเกือบทั้งหมดจึงอาจเทียบเท่ากับค่าครองชีพทั้งเดือน
5. ในปี 2564 ผลการศึกษาของธนาคาร DBS แสดงให้เห็นว่า ชาวสิงคโปร์ในแต่ละรุ่นมีความแตกต่างในด้านรายได้ ค่าใช้จ่าย และการลงทุน ซึ่งมีข้อสังเกต ดังนี้

(1) ค่าใช้จ่ายรายเดือนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าของอัตราการเติบโตของรายได้ในทุกกลุ่มอายุ
(2) การใช้จ่ายรายเดือนเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุ แต่ชาวสิงคโปร์กลุ่มมิลเลนเนียลใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงที่สุด คิดเป็น 27.6% มากกว่า Gen X (เกิดระหว่างปี 2508 – 2528) ที่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 20.5% และกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่เพิ่มขึ้น 17%
(3) กลุ่ม Gen X ลงทุนในอัตราที่ลดลง เนื่องจาก Gen X ส่วนใหญ่เป็น sandwich class1 ยังมีค่าใช้จ่ายจำเป็นในการดูแลพ่อแม่และบุตร ผู้เชี่ยวชาญ ฯ แนะนำว่า Gen X ควรหาวิธีควบคุมรายจ่าย รวมทั้งควรเตรียมแผนการเงินหลังการเกษียณ การซื้อประกันภัย และการลงทุนเพื่อเพิ่มเงินออมด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ
สำหรับภาพรวมการใช้จ่ายของคนไทย สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน ประเทศไทย (Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN THAILAND) และบริษัท สปา-ฮาคูโฮโด จำกัด (SPA-HAKUHODO CO.,LTD) เผยผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนมิถุนายน 2565 ว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงการจับจ่ายสูงสุด คนไทยให้ความสำคัญกับตนเองและครอบครัวมากขึ้น พร้อมเสนอให้แบรนด์สินค้าต่าง ๆ เร่งจัดโปรโมชันเพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภค เช่น การจัดแคมเปญสำหรับสินค้าในชีวิตประจำวันที่เน้นความสะดวกสบายของผู้ใช้ และการจัดโปรโมชันสำหรับสินค้าอุปกรณ์การเรียนในระดับคุณภาพและราคาที่ผู้ปกครองสามารถพึงพอใจ โดยเน้นความทันสมัย
จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคของทั้ง 2 ประเทศ ที่การอุปโภคบริโภคมีปริมาณและมูลค่าสูงขึ้นในช่วงเศรษฐกิจเริ่มฟื้นฟูหลังยุคโควิด-19 ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไทยจะขยายธุรกิจให้ตรงกับความต้องการและพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย โดยพิจารณาโอกาสในสิงคโปร์ตามแนวโน้มการใช้จ่ายในช่วงภาวะเงินเฟ้อ
การบริโภคที่เพิ่มขึ้นในด้านบันเทิงและการเดินทางในกลุ่มชาวสิงคโปร์จะช่วยส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่กำลังฟื้นฟู เนื่องจากคนสิงคโปร์ชื่นชอบอาหารและวัฒนธรรมไทย จึงนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการด้านอาหารของไทยสามารถเพิ่มช่องทางการส่งออกอาหารไทยและวัตถุดิบอาหารมายังสิงคโปร์ รวมทั้งอุปกรณ์ในครัวเรือนคุณภาพดีและมีการออกแบบที่โดนเด่นจากประเทศไทย ก็ยังเป็นที่นิยมในตลาดสิงคโปร์ ดังนั้นการศึกษาแนวโน้มของตลาดในสิงคโปร์ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตลาด และเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการไทยในสิงคโปร์ได้
1 กลุ่มคนที่ถูกบีบรัดด้วยภาระต่าง ๆ รอบด้าน ทั้งการงาน การเงิน และครอบครัว จึงเปรียบเสมือน “Sandwich” ที่ประกอบด้วย 3 ชั้น ขนมปังชั้นแรก คือ ภาระในการรับผิดชอบ “พ่อแม่” ตรงกลางคือ “ตัวเอง” และขนมปังอีกชั้น คือการดูแล “คู่สมรสและบุตร”
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์