
สิงคโปร์กับบทบาทผู้นำในด้านการเป็นศูนย์กลางสตาร์ทอัพระดับโลก
สิงคโปร์เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ในฐานะศูนย์กลางของสำนักงานใหญ่ของธุรกิจระดับภูมิภาคและการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ ในปัจจุบันสิงคโปร์กำลังดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพระดับโลกอย่างต่อเนื่อง
สิงคโปร์มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ การเงินและการธนาคาร รวมถึงรัฐบาลมีนโยบายการกำกับดูแลธุรกิจที่ออกแบบมาสำหรับบริษัทด้านเทคโนโลยีเพื่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะ ข้อได้เปรียบเหล่านี้ทำให้สิงคโปร์เป็นตัวเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนด้านเทคโนโลยี และสตาร์ทอัพ ซึ่งช่วยให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางระดับโลกด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี
จากการศึกษาในปี 2556 โดย Startup Genome บริษัทวิจัยในสหรัฐฯ ระบุว่าสิงคโปร์มีระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อสตาร์ทอัพอยู่ในอันดับที่แปดของโลก และเป็นอันดับที่สองในเอเชียรองจากกรุงปักกิ่งของจีน โดยสิงคโปร์มีสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีมากกว่า 4,000 แห่ง และบริษัท Venture Capital (VC) มากกว่า 400 บริษัท ปัจจุบันสิงคโปร์มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น 18 บริษัท ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 4 เท่า
ตั้งแต่ปี 2561 ถึง 2565 การระดมทุนของ VC ทั้งหมดในสิงคโปร์มีมูลค่าสูงถึง 22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 6.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

แหล่งที่มา: Startup Genome (https://www.techinasia.com/visual-story/singapores-startup-ecosystem-compares-rest-world)
รัฐบาลสิงคโปร์ได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการจ้างงานด้านเทคโนโลยี 3 โครงการ เพื่อดึงดูดผู้มีความสามารถ (talent) จากต่างประเทศให้เข้ามาร่วมพัฒนาสิงคโปร์ ให้เป็นศูนย์กลางแห่งนวัตกรรมที่เหมาะสมกับธุรกิจเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพของโลก ได้แก่
1. Tech Pass เป็นบัตรพำนักพิเศษที่ออกให้ผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ เพื่อช่วยสนับสนุน การพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพในสิงคโปร์ โดยผู้ถือใบอนุญาตนี้สามารถทำงานเป็นที่ปรึกษาให้แก่สตาร์ทอัพ หรือเปิดบริษัทใหม่ได้
2. Tech@SG มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดสตาร์ทอัพด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี โดยอนุญาตให้บริษัทด้านเทคโนโลยี สามารถจ้างงานชาวต่างชาติได้ในจำนวนมากกว่าบริษัททั่วไป ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้สามารถเติบโตได้รวดเร็วและมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น
3. Overseas Networks and Expertise Pass เป็นบัตรพำนักที่ออกให้แก่บุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านการบริหาร ทำให้บริษัทสตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงผู้บริหารระดับสูงที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
รัฐบาลสิงคโปร์จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพผ่านโครงการ Startup SG Founder ซึ่งสนับสนุนเงินลงทุนให้แต่ละบริษัทมากถึง 50,000 ดอลลาร์สิงคโปร์
นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังมีนโยบายที่จะผลักดันให้บริษัทสตาร์ทอัพในสิงคโปร์สามารถแข่งขันในระดับโลก ผ่านโครงการ Global Innovation Alliance (GIA) ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อสิงคโปร์กับเครือข่ายความร่วมมือด้านนวัตกรรมทั่วโลกในเมืองต่าง ๆ อาทิ ซานฟรานซิสโก เบอร์ลิน โดยบริษัทที่เข้าร่วมโครงการนี้จะสามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรมใหม่ รวมถึงเรียนรู้การขยายธุรกิจไปต่างประเทศ และสามารถขยายตลาดไปทั่วโลกผ่านโครงการนี้ได้
ด้วยสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจสตาร์ทอัพ นโยบายที่แข็งแกร่งของรัฐบาลในการสนับสนุนธุรกิจด้านเทคโนโลยี การจ้างแรงงานผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี การเข้าถึงเงินทุนจากกลุ่ม VC และโอกาสในการก้าวสู่ตลาดโลก รวมถึงการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนสตาร์ทอัพ ส่งผลให้สิงคโปร์มีสตาร์ทอัพมาจดทะเบียนธุรกิจจำนวนมาก โดยคาดว่าปัจจัยเหล่านี้จะทำให้สิงคโปร์เป็นจุดหมายที่ยังคงดึงดูดกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
สำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพไทยที่ต้องการขยายธุรกิจออกนอกประเทศ หรือต้องการเรียนรู้แนวคิดการขยายธุรกิจสตาร์ทอัพไปยังประเทศอื่น อาจศึกษาการเข้าถึงทรัพยากร และโครงการสนับสนุนต่าง ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการเติบโตของสตาร์ทอัพของสิงคโปร์เพื่อก้าวไปในระดับภูมิภาค และระดับโลกต่อไป
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
ข้อมูลอ้างอิง
- https://asia.nikkei.com/Opinion/Singapore-stands-out-as-a-global-tech-hub-amid-U.S.-China-tensions
- https://asia.nikkei.com/Business/Startups/Singapore-startup-ecosystem-outranks-Shanghai-Seoul-Tokyo
- https://www.startupsg.gov.sg/programmes/4894/startup-sg-founder/eligibility
- https://www.techinasia.com/visual-story/singapores-startup-ecosystem-compares-rest-world
- Featured Image: BIC Graphics (Sources: Canva, Shutterstock)