
สิงคโปร์ขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านการเงินอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชียแทนที่ฮ่องกง
สถาบัน China Development Institute และกลุ่ม Z/Yen พร้อมด้วยพันธมิตร ได้จัดทำดัชนี Global Financial Centres Index ครั้งที่ 32 (GFCI 32)1 ประจำเดือนกันยายน 2565 โดยสำรวจความคิดเห็นขององค์กรด้านการเงินและเศรษฐกิจชั้นนำของโลก เช่น ธนาคารโลก OECD และ EIU เพื่อจัดอันดับเมืองที่เป็นศูนย์กลางด้านการเงินที่สำคัญของโลกในปี 2565 จากการประเมินเมืองสำคัญทั้งหมด 119 เมือง โดยจัดให้สิงคโปร์เป็นเมืองศูนย์กลางด้านการเงินอันดับที่ 3 ของโลก และอันดับที่ 1 ของเอเชียแทนที่ฮ่องกง
การจัดอันดับศูนย์กลางทางการเงินของ GFCI ปี 2565
เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 รายงาน GFCI ครั้งที่ 32 ได้จัดอันดับเมืองศูนย์กลางด้านการเงินที่สำคัญของโลก ซึ่งประเมินจากหลักเกณฑ์ 5 ประการ ได้แก่ (1) สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ (2) ทรัพยากรมนุษย์ (3) โครงสร้างพื้นฐาน (4) การพัฒนาของภาคการเงิน และ (5) ชื่อเสียงของเมือง
เมืองที่ได้รับคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ (1) นครนิวยอร์ก (2) กรุงลอนดอน (3) สิงคโปร์ (4) เมืองฮ่องกง (5) นครซานฟรานซิสโก (6) นครเซี่ยงไฮ้ (7) นครลอสแองเจลิส (8) กรุงปักกิ่ง (9) เมืองเซินเจิ้น และ (10) กรุงปารีส โดยสิงคโปร์ขึ้นจากอันดับที่ 6 เมื่อปี 2564 เป็นอันดับที่ 3 ในปีนี้แทนที่ฮ่องกง และเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี ที่สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับสูงกว่าเมืองฮ่องกง โดยชนะคะแนนเพียงเล็กน้อย (1 rating point)

แหล่งที่มา: GFCI 32 (https://www.zyen.com/publications/public-reports/the-global-financial-centres-index-32/)
สำหรับการจัดอันดับเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ ที่ติดอันดับ ได้แก่ (1) กรุงโซล อันดับที่ 11 (2) กรุงโตเกียว อันดับที่ 16 (3) นครกว่างโจว อันดับที่ 25 (4) เมืองปูซาน อันดับที่ 29 (5) นครเฉิงตู อันดับที่ 34 (6) เมืองชิงต่าว อันดับที่ 36 (7) นครโอซากา อันดับที่ 37 (8) ไทเป อันดับที่ 55 (9) กรุงกัวลาลัมเปอร์ อันดับที่ 56 (10) กรุงเทพฯ อับดันที่ 79 (11) นครหนานจิง อันดับที่ 83 (12) นครหางโจว อันดับที่ 85 (13) นครเทียนจิน อันดับที่ 87 (14) กรุงจาการ์ตา อันดับที่ 95 (15) กรุงมะนิลา อันดับที่ 103 (16) นครโฮจิมินห์ อันดับที่ 104 (17) นครซีอาน อันดับที่ 118 และ (18) เมืองอู่ฮั่น อันดับที่ 119
การถดถอยของเมืองฮ่องกงและการขึ้นมาของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางด้านการเงินของเอเชีย
GFCI ประเมินว่า ฮ่องกงกำลังประสบปัญหาในการรักษาตำแหน่งการเป็นศูนย์กลางด้านการเงินของเอเชียและของโลกในช่วงหลังโควิด-19 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการล็อกดาวน์อันเนื่องมาจากมาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) ของรัฐบาลกลางของจีน และการใช้มาตรการเด็ดขาดทางการเมือง ทำให้ผู้คนย้ายถิ่นฐานออกจากฮ่องกงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มีความสามารถ (talents) ทั้งนี้ แม้ว่าฮ่องกงมีกำหนดจะเป็นเจ้าภาพจัดกาประชุมสุดยอดด้านการลงทุนของผู้นำการเงินโลก (Global Financial Leaders’ Investment Summit) ในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ แต่มาตรการโควิด-19 ที่ไม่แน่นอน และโดยเฉพาะการกักตัว ทำให้บริษัทด้านการเงินชั้นนำจากทั่วโลกที่ประสงค์เข้าร่วมการประชุมฯ ยังคงลังเลใจที่จะเดินทางไปฮ่องกง (ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2565 ทางการฮ่องกงได้ยกเลิกการกักตัวภาคบังคับเมื่อเดินทางถึง แต่ยังคงมาตรการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR และมาตรการสังเกตการณ์ทางการแพทย์ 3 วัน)
ในทางกลับกัน สิงคโปร์เริ่มผ่อนคลายมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดมาตั้งแต่ต้นปี 2565 และเริ่มเปิดประเทศอย่างปลอดภัย ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 4 ล้านคนในปีนี้ ซึ่งในเดือนกันยายน – ตุลาคม 2565 สิงคโปร์ได้จัดการแข่งขันรถยนต์สูตรหนึ่ง Formula One Singapore Grand Prix และมหกรรมลดราคาสินค้าประจำปี (The Great Singapore Sale – GSS) ทั้งยังมีแผนจะจัดงานระดับนานาชาติในด้านการเงินและการลงทุน เช่น การประชุมสุดยอดของสถาบันมิลเคน (Milken Institute Asia Summit) และการประชุมของระดับผู้บริหารของบริษัทฟอบส์ (Forbes Global CEO Conference) ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ทำให้สิงคโปร์เป็นจุดหมายในการประชุมด้านการประชุมทางการเงินระหว่างประเทศของภาคเอกชน และจุดหมายการท่องเที่ยวที่ปลอดภัยในภูมิภาค โดยปัจจุบัน รัฐบาลสิงคโปร์ได้ยกเลิกมาตรการบังคับใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะแล้ว ยกเว้นในระบบขนส่งมวลชน
GFCI ยังระบุว่า สิงคโปร์มีความพร้อมและความได้เปรียบด้านสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการทำธุรกิจอยู่ในลำดับต้นของภูมิภาค ทั้งยังมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับศูนย์กลางทางด้านการเงินอื่น ๆ อย่างเข้มแข็ง ทั้งในเอเชียและทั่วโลก สิงคโปร์ยังได้รับความเชื่อมั่นจากองค์กรชั้นนำทางการเงินว่าจะเป็นเมืองที่มีความสำคัญและโดดเด่นยิ่งขึ้น โดยได้รับคะแนนในหัวข้อนี้สูงสุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากกรุงโซล

แหล่งที่มา: GFCI 32 (https://www.zyen.com/publications/public-reports/the-global-financial-centres-index-32/)
อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์และฮ่องกงต่างประสบปัญหาด้านแรงงานฝีมือด้านการเงิน และเป็นคู่แข่งที่สำคัญของกันและกัน มาตรการในการเริ่มเปิดประเทศอย่างรวดเร็วของสิงคโปร์ ที่สวนทางกับมาตรการโควิดเป็นศูนย์ของฮ่องกง ทำให้เกิดความผิดปกติของการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน และทำให้ค่าจ้างแรงงานและค่าเช่าสูงขึ้นในทั้งสองเมือง สัดส่วนของตำแหน่งงานว่างกับการว่างงานของสิงคโปร์สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ทำให้เกิดแรงกดดันให้ขึ้นค่าจ้างที่สูงขึ้นเร็วกว่าฮ่องกงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งนี้ ถึงแม้ค่าเช่าสำนักงานในฮ่องกงจะสูงที่สุดในโลก แต่ปรับตัวลดลงในช่วงมาตรการโควิดเป็นศูนย์ โดยเฉพาะค่าเช่าสำนักงานในย่านศูนย์กลางธุรกิจ ในขณะที่ค่าเช่าในสิงคโปร์ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนอาจเกือบเทียบเท่าฮ่องกง โดยค่าไฟฟ้าในสิงคโปร์ก็สูงกว่าในฮ่องกงด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต
บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนการย้ายถิ่นฐาน Henley & Partners สิงคโปร์ ได้จัดอันดับให้สิงคโปร์เป็นเมืองที่มีจำนวนประชากรที่มั่งคั่งมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลกในปี 2565 แบ่งเป็น (1) ผู้มีทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 249,800 คน คิดเป็นประมาณร้อยละ 5 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในสิงคโปร์ (2) ผู้มีทรัพย์สินมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 336 คน และ (3) ผู้มีทรัพย์สินมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 26 คน จนได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมของมหาเศรษฐีอันดับที่ 2 ของเอเชียในปี 2565 รองจากโตเกียว
นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังได้รับการยอมรับระดับโลกว่าเป็นเมืองที่เป็นมิตรในด้านการทำธุรกิจ และเป็นหนึ่งในจุดหมายของการย้ายถิ่นฐานของมหาเศรษฐีทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า สิงคโปร์ได้ต้อนรับนักลงทุนรายใหญ่ที่เป็นบุคคลธรรมดา (High Net Worth Individuals – HNWI) ประมาณ 2,800 คน ในปี 2565 นี้ ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับที่ 3 รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จำนวน 4,000 คน และออสเตรเลีย จำนวน 3,500 คน จำนวน HNWI ที่สูงถือเป็นตัวชี้วัดความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างหนึ่ง ซี่งส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่มีระดับอาชญากรรมต่ำ มีอัตราภาษีที่ดึงดูด และมีระบบนิเวศและโอกาสทางธุรกิจที่ดีเยี่ยม
อย่างไรก็ตาม นางโล เยน ลิง (Low Yen Ling) Minister of State ประจำกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าราคาในการดำเนินธุรกิจในสิงคโปร์จะสูงขึ้น แต่กำไรสุทธิรวมของภาคธุรกิจในสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ถึงแม้ว่าจะต่ำกว่าไตรมาสที่ 1/2565 อยู่ร้อยละ 10.1% โดยรัฐบาลสิงคโปร์ยังติดตามภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเร่งแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ และพยายามสนับสนุนผู้ประกอบการในสิงคโปร์ในด้านต่าง ๆ อาทิ การอุดหนุนค่าจ้างแรงงานที่มีรายได้น้อยในธุรกิจค้าปลีก ตามนโยบาย Progressive Wage Credit Scheme ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ถึงปี 2569
สถานเอกอัครราชทูตฯ มีข้อสังเกตว่า แม้ดัชนี GFCI จะได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แต่ก็เป็นการจัดลำดับโดยมี Think Tank ของสหราชอาณาจักรและจีนเป็นผู้สนับสนุนหลัก จึงมีเมืองต่าง ๆ ของจีนติดอันดับเป็นจำนวนมาก รวมถึงนครซีอานและเมืองอู่ฮั่นซึ่งติดอันดับในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ รายงานไม่ได้ระบุถึงแนวโน้มที่นครเซี่ยงไฮ้ของจีนจะขึ้นมาแทนที่นครนิวยอร์กในฐานะศูนย์กลางการเงินของโลกในช่วงทศวรรษข้างหน้า แม้ว่าสถาบันการเงินชั้นนำของโลกหลายแห่งจะประเมินว่า เศรษฐกิจและ GDP ของจีนจะเติบโตจนมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงสิบปีต่อจากนี้ ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีของนักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ หลายสำนักที่เห็นว่า เศรษฐกิจจีนยังไม่น่าจะแซงหน้าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจจีนยังคงเผชิญกับผลกระทบที่รุนแรงของโควิด-19 และการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศในปีนี้
1 GFCI จัดทำโดยสถาบันค้นคว้าละวิจัย Z/Y Partners และสถาบัน China Development ตั้งแต่ปี 2550 เพื่อประเมินเมืองสำคัญต่าง ๆ ของโลกในการเป็นศูนย์กลางด้านการเงิน โดยการรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามจากผู้นำด้านการบริการการเงินชั้นนำของโลกจำนวนกว่า 10,000 บริษัท
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.channelnewsasia.com/business/hong-kong-financial-hub-singapore-covid-rules-2959971
https://mothership.sg/2022/09/singapore-5th-richest-city/
https://www.longfinance.net/media/documents/GFCI_32_Report_2022.09.22_v1.0_.pdf
https://www.zyen.com/publications/public-reports/the-global-financial-centres-index-32/
Featured Image Source: BIC Graphic (Source: Canva)