เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันชาติสิงคโปร์ นาย Wong Kee Joo CEO ของธนาคาร HSBC ได้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ The Straits Times ให้มุมมองเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง 4 ด้านของสิงคโปร์สู่ความยั่งยืนระดับโลก ภายในระยะเวลาเพียง 50 ปี สามารถพัฒนาจากหมู่บ้านชาวประมง กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของโลกในด้านการจัดการความมั่งคั่ง (รองจากสวิตเซอร์แลนด์) ในปัจจุบัน
เมื่อนาย Wong Kee Joo กลับมาสิงคโปร์เพื่อรับตำแหน่ง CEO ของธนาคาร HSBC หลังจากใช้ชีวิตในต่างประเทศ 22 ปี เขามองว่าวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างหลายประการ และจะทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสิงคโปร์เข้าสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญใน 4 ด้าน ดังนี้
1) ห่วงโซ่อุปทาน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นศูนย์กลางของการค้าและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกมาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ เพราะมีต้นทุนผลิตต่ำและฐานผู้บริโภคเพิ่มขึ้น แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น สถานการณ์โควิด-19 การจัดการห่วงโซ่อุปทานทั้งแบบ Just-in-case และ Just-in-time การล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง และความจำเป็นในการปรับปรุงผลิตภาพทั่วทั้งภูมิภาคทำให้บริษัททั่วโลกอาจต้องคิดทบทวนเกี่ยวกับความเสี่ยงในภูมิภาคนี้
2) การเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนเติบโตรวดเร็วที่สุดในโลก โดยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 400 ล้านคน ในจำนวนนี้ 40 ล้านคน (ร้อยละ 10) เพิ่งเริ่มใช้บริการออนไลน์เมื่อปี 2563 แต่การเติบโตอย่างรวดเร็วของวิถีชีวิตดิจิทัลในภูมิภาคทำให้ผู้คนและธุรกิจแบบดั้งเดิมจำนวนมากถูกมองว่าล้าหลัง
3) การเติบโตอย่างรวดเร็วของความมั่งคั่งส่วนบุคคลในภูมิภาค จำนวนครัวเรือนของผู้มีรายได้ปานกลางคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า เป็น 120 ล้านคนภายในปี 2568 แต่เพิ่มขึ้นอย่างไม่สม่ำเสมอ ซึ่งปัจจัยสำคัญประการหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
4) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด จากผลสำรวจโดยบริษัท PricewaterhouseCoopers พบว่ามีเพียงร้อยละ 37 ของผู้บริหารระดับสูงในเอเชีย-แปซิฟิกที่รวมปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ในการจัดการความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ ซึ่งยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก (ร้อยละ 40) เล็กน้อย
วันชาติสิงคโปร์เป็นเวลาสำหรับการเฉลิมฉลอง และยังเป็นการคิดล่วงหน้าด้วยว่าสิงคโปร์จะตอบสนองต่อความท้าทายที่กำลังเผชิญได้อย่างไร? ซึ่งสิงคโปร์ควรกลับไปสู่รากฐานดั้งเดิม คือ ถึงแม้ว่าจะสร้างจากการเป็นเกาะเล็ก ๆ แต่ก็ไม่ได้มีความคิดหรือมุมมองเป็นเพียง “เกาะเล็ก ๆ” คนสิงคโปร์จะทำงานอย่างหนักเพื่อเผชิญกับความเป็นจริงและเอาชนะข้อจำกัดทางธรรมชาติด้วยสติปัญญา การสนทนา และการเผชิญปัญหาแบบตรงไปตรงมา แต่สิงคโปร์จะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า ธุรกิจและบุคลากรจะสามารถปรับตัวและเติบโตท่ามกลางความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและปัญหาเศรษฐกิจโลก รัฐบาลสิงคโปร์จะสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างไรในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความเครียด และจะรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น มลพิษ ทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลง รูปแบบสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และความแออัดจากการขยายตัวของเมืองได้อย่างไร
ภาคการธนาคารเป็นภาคที่รัฐบาล สังคม และธุรกิจมาบรรจบกัน และเป็นหนึ่งในสถาบันที่สิงคโปร์ใช้จัดการกับปัญหาข้างต้นเหล่านี้ ดังนั้น เป้าหมายของธนาคาร HSBC สิงคโปร์ (ซึ่งก็สอดคล้องกับวิสาหกิจขนาดใหญ่ของสิงคโปร์หลายแห่ง) คือ ตอบการโจทย์วิถีชีวิตของลูกค้า ชุมชน และพนักงาน เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนและเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เช่น การช่วยลูกค้าสร้างการเงินส่วนบุคคลและธุรกิจขึ้นมาใหม่ สนับสนุนอาชีพ รูปแบบธุรกิจ รวมถึงดิจิทัลภิวัฒน์ (digitalization) และการทำงานที่ลดคาร์บอนลง
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.straitstimes.com/business/banking/reflecting-on-four-transitions-for-a-globally-sustainable-singapore-0
- Featured Image Source: ST File