ธุรกิจ Co-working space และ Co-living space ในสิงคโปร์และเอเชีย

Co-working space ในสิงคโปร์

Co-working space หรือ พื้นที่ทำงานร่วมกันที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น ห้องประชุม อินเทอร์เน็ต พื้นที่สำหรับทานอาหาร หรือพื้นที่ต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการทำงาน แต่มีราคาประหยัดกว่าการเช่าสำนักงานรายเดือน เป็นรูปแบบสถานที่ทำงานที่รองรับการทำงานรูปแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม เนื่องจากสอดคล้องกับสถานการณ์ วิธีการดำเนินงาน และวิถีการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมปัจจุบัน เช่น หลายบริษัทอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้ รวมทั้งกลุ่มนักธุรกิจ SME สตาร์ทอัพ หรือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (freelancer) ต่างนิยมการใช้ Co-working space ที่ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี

บริษัทอสังหาริมทรัพย์ Cushman & Wakefield (C&W) เปิดเผยว่า ในปี 2565 พื้นที่ Co-working ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) จะขยายตัวอย่างมาก โดยคิดเป็น 5.5% ของพื้นที่สำนักงานเกรด A ใน CBD และคาดว่าค่าเช่าสำนักงานเกรด A จะเพิ่มขึ้น 4.6% ทั้งนี้ Co-working space ในสิงคโปร์มีผู้ให้บริการรายใหญ่ คือ 1) WeWork 2) JustCo และ 3) IWG ที่มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันมากกว่า 50%

อุปสงค์จากองค์กร โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดใหญ่ต่อสำนักงาน WeWork ในสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่มีสัญญาณของการชะลอตัว โดยลูกค้าวิสาหกิจคิดเป็น 46% ของสมาชิกทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักงาน WeWork มีกระแสตอบรับจากลูกค้าที่ดี รายได้ที่เกิดขึ้นจริงสูงกว่าตัวเลขประมาณการการเบื้องต้น ปัจจุบัน ลูกค้าของบริษัทมีจำนวนถึง 97% ของประมาณการรายได้ในไตรมาสที่ 2/2565 และ 70% ของประมาณการรายได้ในไตรมาสที่ 3/2565 และ 4/2565 นั้น ลูกค้าได้ยืนยันการเช่าพื้นที่ทำงานแล้ว สาเหตุหลักที่รายได้ของ WeWork ในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 13% เนื่องจากองค์กรในฮ่องกงจำนวนมากย้ายสำนักงานมาอยู่ที่สิงคโปร์และองค์กรระหว่างประเทศมาตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในสิงคโปร์

แหล่งที่มา: The Business Times

นาย Balder Tol ผู้จัดการทั่วไปของ WeWork ออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงความคิดเห็นว่า โอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดสำหรับธุรกิจ Co-working space นั้นยังมีอยู่สูงเพราะว่าไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับการให้บริการต่อทุกองค์กร (one-size-fits-all solution) หากผู้ประกอบการปรับแต่งบริการให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละองค์กรก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ สำหรับ WeWork จุดเด่นของบริษัท คือ การเข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริง ความรวดเร็วในการดำเนินงานในแต่ละวัน ความรวดเร็วในการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ตลาด และความคล่องตัว

Co-living space ในสิงคโปร์และเอเชีย

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พนักงานไม่สามารถทำงานในสำนักงานได้ ต้องเปลี่ยนเป็นการทำงานทางไกล บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียต่างเล็งเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจ และสร้างที่อยู่อาศัยที่ให้ผู้คนพักอาศัยและทำงานในพื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน (Co-living space) เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับพื้นที่ที่สามารถทำหน้าที่เป็นทั้งบ้านและที่ทำงาน เช่น Ascott (หน่วยงานการลงทุนของบริษัทสิงคโปร์ CapitaLand) ได้เปิดดำเนินการ Co-living space ภายใต้แบรนด์ lyf ในเดือนเมษายน 2565 ที่ย่าน one-north ตอนกลางของสิงคโปร์ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่จำนวนมากและเป็นศูนย์กลางการวิจัย มีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มมิลเลนเนียลและเจเนอเรชั่น Z ตบแต่งด้วยสีสันสดใสและการออกแบบที่ทันสมัย มีทั้งหมด 324 ยูนิต รวมถึงห้องโถงและห้องซักรีด มีกิจกรรมที่สนับสนุนให้ผู้อยู่อาศัยพบปะ สังสรรค์กัน และมีห้องทดลองสำหรับเทคโนโลยีเสมือนจริง ปัจจุบัน Ascott มี Co-living space ‘lyf’ จำนวน 17 แห่ง มากกว่า 3,200 ยูนิตใน 9 ประเทศ และตั้งเป้าว่าภายในปี 2573 จะบรรลุเป้าหมายที่ 150 แห่ง 30,000 ยูนิต

Co-living space ‘lyf’
แหล่งที่มา: Nikkei Asia, Takashi Nakano

นอกจากนี้ ธุรกิจด้านนี้ยังได้รับความสนใจจากบริษัทนอกเอเชีย เมื่อเดือนเมษายน 2565 บริษัท co-living รายใหญ่ในสิงคโปร์ Hmlet ได้ควบรวมกิจการกับบริษัท Habyt ในเครือของยุโรป ทำให้ Hmlet มี co-living space จำนวน 1,200 ยูนิตในสิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น โดยภายในสิ้นปี 2565 มีแผนจะเพิ่มเป็น 2 เท่าที่ 2,300 ยูนิต ในเอเชียแปซิฟิก การควบรวมกิจการดังกล่าวจะขยายเครือข่ายของ Habyt เป็น 20 เมืองใน 10 ประเทศ

แหล่งที่มา: Nikkei Asia, Photo courtesy of Hmlet

จุดเด่นที่ทำให้ Co-living space ได้รับความนิยม คือ 1) คนทำงานวัยหนุ่มสาวและนักเดินทางเพื่อธุรกิจจำนวนมากที่ต้องการพักอาศัยระยะสั้น (เพียง 2-3 สัปดาห์หรือ 1-2 เดือนในแต่ละครั้ง) ที่พักอาศัยแบบนี้มีความยืดหยุ่นกว่าที่พักแบบเดิมที่ต้องมีสัญญาเช่ารายปี เงินมัดจำ หรือค่านายหน้า 2) การแข่งขันข้ามพรมแดนสำหรับบุคลากรฝีมือทวีความเข้มข้นขึ้น Co-living space ได้รับความสนใจจากกลุ่มคนที่ทำงานโดยใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก และทำงานนอกสถานที่ซึ่งต้องเดินทางตลอดเวลา (digital nomads) 3) Co-living space มักจะมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ดีกว่าที่อยู่อาศัยทั่วไปเหมาะสำหรับการทำงานทางไกล พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ใช้ร่วมกัน เช่น ห้องครัวและห้องออกกำลังกาย 4) การได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าพักคนอื่น ๆ ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ต่างจากโรงแรมหรือบ้านเช่า

ข้อสังเกต

สำหรับประเทศไทย Co-living space อาจยังไม่แพร่หลาย เนื่องจากยังมีที่พักอาศัยประเภทอื่นให้เลือกในอัตราค่าเช่าที่ไม่สูงจนเกินไป ผู้ดำเนินการธุรกิจนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีเงินทุน หรือดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้ว ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SME) นั้นยังมีจำนวนไม่มากที่ให้บริการ Co-living space ในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และกระบี่ ส่วนใหญ่เน้นตลาดชาวต่างชาติที่เป็น digital nomad อย่างไรก็ตาม จากการที่ธุรกิจนี้มีการเติบโตและอุปสงค์ทั่วภูมิภาค ผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณาปรับเปลี่ยนที่พัก หรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่เพื่อรองรับกับรูปแบบธุรกิจนี้ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ราคาที่ดินและอัตราค่าเช่าสูงขึ้น กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงานหรือทำงานมาไม่นานจะมีกำลังซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยในใจกลางเมืองที่ใกล้ที่ทำงานได้ ทั้งนี้ นอกจาก Co-working space และ Co-living space แล้ว ผู้ประกอบการไทยที่ประกอบธุรกิจด้านอาหารและขนม ยังสามารถพิจารณา Co-kitchen space หรือธุรกิจห้องครัวให้เช่า ที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในช่วงปีที่่ผ่านมา เนื่องจากช่วยแก้ปัญหาพื้นที่ครัวไม่เพียงพอ หรือไม่มีต้นทุนที่จะเปิดหน้าร้านเป็นของตัวเอง และยังตอบโจทย์พฤติกรรมคนยุคใหม่ที่หันมาสั่งอาหาร delivery เพิ่มขึ้น


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง