Female Entrepreneur: ผู้ประกอบการสตรีกับธุรกิจเทคโนโลยีในสิงคโปร์

ในวงการอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ปัญหาเรื่องสัดส่วนและบทบาทของผู้ประกอบการสตรีในธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะธุรกิจด้านเทคโนโลยี ทั้งทวีปเอเชียและทั่วโลก หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจึงเริ่มหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาและสนับสนุนการเพิ่มโอกาสและความก้าวหน้าแก่ผู้ประกอบการสตรีมากยิ่งขึ้น

ความท้าทายของสตรีในธุรกิจเทคโนโลยี  

ผู้ประกอบการสตรียังเผชิญกับความท้าทายในการลงทุนทางธุรกิจเป็นอย่างสูง ปัจจุบัน พบว่าการระดมทุนในภาคธุรกิจมีเพียง 3% ที่อนุมัติเงินทุนแก่ผู้ก่อตั้งธุรกิจสตรี นอกจากนี้ รายงาน DealStreet Asia ของเว็บไซต์ข่าวสารการเงิน พบว่าสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ก่อตั้งโดยผู้หญิงสามารถระดมทุนได้เพียง 0.9%

ปัจจัยหลักที่ทำให้นักธุรกิจหญิงมีบทบาทน้อยหรือไม่ได้รับความสำคัญในวงการนี้ คือ 1) การขาดบุคคลตัวอย่างของผู้ประกอบการสตรีที่ประสบความสำเร็จ (role models) 2) การศึกษาและพัฒนาทักษะไม่เพียงพอ และ 3) การขาดโอกาสที่เหมาะสม      

การสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาลและภาคธุรกิจในสิงคโปร์

รัฐบาล เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 สหพันธ์ธุรกิจสิงคโปร์ (Singapore Business Federation – SBF)
ได้จัดตั้งเครือข่าย Singapore Women Entrepreneurs Network (SG-WEN) เพื่อเป็นแพลตฟอร์มสำหรับผู้ประกอบการสตรีสิงคโปร์ให้สามารถติดต่อและสร้างเครือข่ายกับสมาคมผู้ประกอบการสตรีของประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะในอาเซียน รวมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมมุมมองทางธุรกิจของผู้หญิง ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการแบ่งปันความรู้ ส่งเสริมการเติบโต และการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ

ภาคธุรกิจ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 บริษัท Microsoft ของสหรัฐฯ ได้ประกาศจัดทำความร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร “She Loves Tech” ที่มีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนแก่บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีที่ก่อตั้งโดยนักธุรกิจหญิงในเอเชีย โดย Microsoft จะให้บริการ Azure Cloud Computing และเครื่องมือเทคโนโลยีอื่น ๆ แก่สตาร์ทอัพตามที่ She Loves Tech สนับสนุน และองค์กร She Loves Tech จะใช้เทคโนโลยีของ Microsoft เพื่อสนับสนุนการสร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพกับนักลงทุนและผู้ประกอบการรายอื่น ๆ โดยเน้นสตรีด้วย

She Loves Tech เป็นองค์กรที่จัดการประชุมระดับโลก การแข่งขันสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งให้คำปรึกษาและสร้างเครือข่ายสำหรับผู้ประกอบการสตรีในธุรกิจเทคโนโลยี โดยร่วมมือกับบริษัทร่วมทุนระดับโลกและ angle investors ที่ผ่านมาได้สร้างชุมชนนักธุรกิจหญิงด้านเทคโนโลยีแล้วมากกว่า 8,000 ราย ในกว่า 50 ประเทศ และตั้งเป้าหมายในการระดมเงินทุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 สำหรับธุรกิจที่นำโดยผู้หญิง Ms. Leanne Robers ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรฯ กล่าวว่าในเดือนธันวาคม 2564 จะเปิดตัวกองทุนมูลค่า 10 – 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพที่นำโดยนักธุรกิจหญิง 100 รายสำหรับการระดมทุนในรอบ pre-seed1 และ seed fund2 จากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนเอกชน และคาดว่ากองทุนจะเติบโตขึ้นในอนาคต

Leanne Robers ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร She Loves Tech และ Ahmed Mazhari ประธานบริษัท Microsoft Asia
ประกาศความร่วมมือให้การสนับสนุนผู้ประกอบการหญิงครั้งแรกในเอเชีย
แหล่งที่มา: Photo: Microsoft and She Loves Tech

โอกาสของผู้ประกอบการสตรีไทย

ผู้หญิงไทยดำรงตำแหน่งผู้นำระดับสูงถึง 32% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 27% และค่าเฉลี่ย APAC ที่ 26% อีกทั้งประเทศไทยมีผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่ง C-Suite3 มากที่สุดในโลก อย่างไรก็ตามบทบาทของผู้หญิงในประเทศไทยยังคงไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในการบริหารงานไอทีเนื่องจาก 80% ของหัวหน้าฝ่ายไอทีเป็นผู้ชาย ในขณะที่ผู้หญิงคิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของการจัดการบริการที่ใช้ร่วมกัน (shared services)

ในช่วงต้นปี 2564 บริษัท Mastercard ประกาศดัชนีผู้ประกอบการสตรีประจำปี 2564 (Mastercard Index of Women Entrepreneurs 2020) โดยติดตามความก้าวหน้าและความสำเร็จของผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจหญิงใน 58 ประเทศ (คิดเป็น 80% ของแรงงานหญิงทั่วโลก) พิจารณาจากองค์ประกอบ 3 ด้าน ได้แก่ 1) การเข้าถึงการศึกษาและการได้รับการสนับสนุนการประกอบการ 2) การคำนึงถึงวัฒนธรรมของผู้ประกอบการ 3) ความพร้อมในการยอมรับความเสี่ยง โดยอันดับ 1-3 คือ 1) อิสราเอล 2) สหรัฐฯ 3) สวิตเซอร์แลนด์ ในขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 11 (จากอันดับ 10 ในปี 2563) ถือเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย และสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 24 (จากอันดับ 12 ในปี 2563) ซึ่งถือว่าประเทศไทยสนับสนุนการทำธุรกิจและมี ecosystem ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของผู้หญิงไทยค่อนข้างมาก

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ

สำหรับนโยบายของประเทศไทย จากข้อมูลสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ปี 2562 ประเทศไทยมีจำนวนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) รวมกันทั้งสิ้นมากกว่า 3 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 99.53 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมด และก่อให้เกิดการจ้างงานมากถึงร้อยละ 69.48 ของการจ้างงานในประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการสตรี แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสตรีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการสำรวจของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ที่มีจำนวน MSMEs คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 97 ของธุรกิจทั้งหมด ครอบคลุมการจ้างงานมากกว่าร้อยละ 50 และเป็นผู้ประกอบการสตรีเป็นส่วนมาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอยู่ระหว่างการเตรียมแผนงานขับเคลื่อนและสนับสนุนผู้ประกอบการ MSMEs และผู้ประกอบการสตรี ในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปคในปี 2565

ผู้ประกอบการสตรีไทยในด้านเทคโนโลยีสามารถสร้างโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน ความรู้ การสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการสตรีในเอเชียและทั่วโลก รวมถึงการเข้าร่วมการแข่งขันสตาร์ทอัพเพื่อสร้างชื่อเสียงให้ธุรกิจจากองค์กรอย่าง She Loves Tech ได้


1เป็นการระดมทุนที่ทางผู้ประกอบการยังมีเพียงไอเดีย เพิ่งเริ่มพัฒนา ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือธุรกิจของตัวเอง และต้องทำการนำเสนอแผนการทำงานรวมถึงแนวทางในการพัฒนาเพื่อให้ผู้ลงทุนสนใจ มูลค่าการลงทุนระดับ Pre-Seed จะอยู่ในช่วง 600,000 – 1.5 ล้านบาท

2ระดับการลงทุนของสตาร์ทอัพที่มีผลิตภัณฑ์ กระบวนการหรือธุรกิจที่จับต้องได้ระดับหนึ่ง และต้องการพัฒนาต่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือเข้าถึงลูกค้ามากขึ้นเพื่อดูว่าสิ่งที่ตัวเองทำสามารถไปต่อได้แค่ไหน มูลค่าการลงทุนจะอยู่ในช่วง 3 ล้านบาท ไปจนถึง 100 ล้านบาท

3ระดับการจัดการขององค์กรที่สูงที่สุดที่ขึ้นต้นด้วย “C” เช่น Chief Executive Officer (CEO), Chief Operating Officer (COO) และ Chief Financial Officer CFO)


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง