เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 สื่อท้องถิ่นของสิงคโปร์ The Business Times รายงานเรื่องการเติบโตของอุตสาหกรรม Femtech หรือเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของสตรี ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในสิงคโปร์ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บริษัทวิจัย Frost & Sullivan รายงานว่าตั้งแต่ปี 2556 การระดมทุนในบริษัทด้าน Femtech มีจำนวนเพียง 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเงินทุนของบริษัทด้านสุขภาพดิจิทัล (Digital Health Funding) ในสหรัฐฯทั้งหมด 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากสถิติล่าสุดเมื่อปี 2563 แม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะชะลอตัว แต่การลงทุนในธุรกิจด้านสุขภาพดิจิทัลมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 14,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 7 เท่า และเพิ่มขึ้นจากปี 2562 เกือบเท่าตัว อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรม Femtech มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 254 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 3.7 เท่า แต่ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 1 ใน 4

นักวิเคราะห์มองว่าอุตสาหกรรมสุขภาพดิจิทัล Femtech ค่อนข้างถูกมองข้ามทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลก รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่ได้ลงทุนในอุตสาหกรรม Femtech เพิ่มขึ้นเท่าใดนัก โดยสาเหตุหลักมาจากนักลงทุน (รวมถึง angle investors หรือนักลงทุนอิสระที่เน้นการลงทุนในบริษัท Startups) ไม่คุ้นเคยและเข้าใจผิดว่า Femtech เป็นเพียงเรื่องสุขอนามัยเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ของสตรีเท่านั้น อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรม Femtech ยังคงมีโอกาสขยายตัวอีกมาก หากผู้ประกอบการสามารถสร้างความแตกต่างและจัดทำสินค้าและบริการด้าน Femtech ที่ตอบสนองต่อตลาดในโลกยุคดิจิทัลได้มากขึ้น

ในสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Femtech ยังคงเป็นธุรกิจในระยะตั้งต้นเมื่อเทียบกับภาคส่วนอื่น ๆ อาทิ Fintech แต่ยังมีโอกาสเติบโตสูงและเริ่มมีการจัดตั้งบริษัท Startups ด้าน Femtech เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในตลาดของภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง บริษัท Fermata Femtech ของญี่ปุ่น รายงานข้อมูลเดือนมีนาคม 2564 ว่ามีบริษัท Startups ด้าน Femtech ประมาณ 41 รายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (1) สิงคโปร์ มีบริษัท Femtech มากที่สุด จำนวน 24 บริษัท (2) ไทย 6 บริษัท (3) อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มีประเทศละ 3 บริษัท และ (4) มาเลเซีย 2 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทใหม่ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้วในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่วนบรูไน เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชายังไม่มีการจัดตั้งธุรกิจ Femtech ในประเทศ

Femtech Startups ใน สิงคโปร์

บริษัท Startups ด้าน Femtech ในสิงคโปร์แข่งขันกันเพื่อสร้างความแตกต่างทางธุรกิจใน 3 ด้าน ดังนี้

1) การสร้างโซลูชันด้านสุขภาพดิจิทัลสำหรับภาวะเรื้อรังที่ส่งผลต่อสุขภาพสตรี

แหล่งที่มา: ELOCARE

Ms. Wang-Faulkner อดีตหัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจระดับโลกของ Google ได้ก่อตั้งบริษัท Fig Health เมื่อเดือนตุลาคม 2563 โดยจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ปัญหาภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome – PCOS) และภาวะอื่นๆ ที่เกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนในผู้หญิง รวมถึงบริการให้ข้อนะนำในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเพื่อรับมือกับภาวะ PCOS โดยใช้แอปพลิเคชันที่ทันสมัย โดยลูกค้าสามารถเลือกส่งผลตรวจไปยังห้องปฏิบัติการและติดตามความคืบหน้าได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการสนับสนุนและแบ่งปันประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและผู้หญิงที่ต่อสู้กับภาวะ PCOS เช่นกัน บริษัท Fig Health ได้ระดมทุนล่วงหน้าจาก Antler, Startups จำนวน 500 ราย และ angel investors

บริษัท EloCare กำลังพัฒนาเทคโนโลยีแบบพกพา สวมใส่ได้ และแอปพลิเคชันเพื่อช่วยให้ผู้หญิงและแพทย์ติดตามปัญหาวัยหมดประจำเดือน เช่น อาการร้อนวูบวาบ อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถออกแบบการรักษาทางการแพทย์ได้ดีขึ้น

2) การทำให้บริการด้านสุขภาพทางเพศของสตรีเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

บริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ของสตรีในสิงคโปร์และในภูมิภาคส่วนใหญ่ยังคงเป็นการปรึกษาแบบตัวต่อตัวที่คลินิกหรือโรงพยาบาล ซึ่งผู้ขอรับบริการมักไม่ได้รับความช่วยเหลือตามควรเนื่องจากความอาย เวลาในการเดินทาง และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น บริษัท Startups จึงพยายามแก้ไขและลดอุปสรรคดังกล่าว ได้แก่

  • บริษัท Ferne Health เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะให้บริการการทดสอบที่บ้านและการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพทางเพศ โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง ก่อตั้งในเดือนกันยายน 2563 โดย Ms. Lui Xi ซึ่งเคยทำงานใน Silicon Valley และมีประสบการณ์ทำงานกับ Amazon และ Adobe
  • บริษัท Ease Healthcare สามารถส่งยาคุมกำเนิด การคุมกำเนิดฉุกเฉิน และชุดทดสอบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (sexually transmitted infections – STI) ให้ผู้ใช้ถึงบ้าน รวมทั้งบริการให้คำปรึกษาทางไกลด้านสุขภาพทางเพศ
  • บริษัท Dear Doc แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้คำปรึกษาเรื่องการคุมกำเนิดและสุขภาพทางเพศ ในราคาย่อมเยาและปราศจากการตัดสิน (judgement-free) หรือคำวิพากษ์วิจารณ์วิถีชีวิตของผู้ใช้

3) สนับสนุนความสุขทางเพศ

  • Good Vibes แพลตฟอร์ม e-commerce ที่ระดมทุนด้วยตนเอง ขายของเล่นทางเพศสำหรับสตรี
  • ZaZaZu Startup ตั้งขึ้นเดือนกรกฎาคม 63 เพื่อเป็น “TripAdvisor แห่งสุขภาพทางเพศ” มีผลิตภัณฑ์และบริการที่เน้นเรื่องสุขภาวะทางเพศให้แก่สมาชิกสตรี ตลอดจนการสัมมนาผ่านเว็บไซต์กับผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ บริษัทกำลังระดมทุนรอบ seed funding หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้รับเงินทุนรอบ pre-seed funding จำนวน 135,000 ดอลลาร์สหรัฐ จาก angel investors

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

Ms. Amina Sugimoto CEO ของบริษัท Fermata ญี่ปุ่น มองว่า Femtech ในญี่ปุ่น ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การใช้ธุรกิจด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่กลายเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของสตรี และมองว่าในสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเกิดกระแสสังคมที่คล้ายกันด้วย ซึ่ง Femtech เป็นตลาดที่มีโอกาสทางตลาดและการพัฒนาอีกมาก เนื่องจากสุขภาพและความเป็นอยู่ของสตรียังคงเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงอย่างเปิดเผยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คำว่า “Femtech” เกิดขึ้นในปี 2556 ซึ่งประกอบด้วยคำว่า “Female” และ “Technology” และได้เติบโตขึ้นเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้สูงของบริษัทเทคโนโลยีด้านสุขภาพของผู้หญิง ในปี 2562 อุตสาหกรรม Femtech สร้างรายได้จำนวน 820.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก และได้รับทุนจากการร่วมทุนจำนวน 592 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดการณ์ว่าภายในปี 70 รายได้ของตลาดของอุตสาหกรรม Femtech จะสูงถึง 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จำนวนประชากรโลกมีสัดส่วนของผู้หญิงกับผู้ชายใกล้เคียงกัน (100:101) และมีแนวโน้มที่ประชากรเพศหญิงจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ประเทศไทยก็มีจำนวนประชากรเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 1.2 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (หากวิเคราะห์เรื่องการใช้จ่าย ร้อยละ 85 ของการใช้จ่ายทั่วไปมาจากผู้หญิง) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทย สามารถพิจารณาโอกาสในการร่วมทุนหรือขอรับทุนจากสิงคโปร์ เพื่อพัฒนาธุรกิจ Femtech ในไทยดังตัวอย่างของบริษัท startups ที่ประสบความสำเร็จในสิงคโปร์ข้างต้น ซึ่งไทยมีตลาดที่ใหญ่กว่าและน่าจะสามารถพัฒนารูปแบบธุรกิจ สินค้า และบริการด้าน Femtech ที่หลากหลายมากกว่าสิงคโปร์


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง