สิงคโปร์มุ่งพัฒนาท่าอากาศยาน Seletar ให้เป็นศูนย์กลางแท็กซี่อากาศ

ท่าอากาศยานแห่งที่ 2 ของสิงคโปร์ Seletar อยู่ห่างจากท่าอากาศยานชางงี 20 นาที ให้บริการเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวและเครื่องบินธุรกิจขนาดเล็ก ปัจจุบัน สำนักงานการบินพลเรือนสิงคโปร์ (CAAS) อยู่ระหว่างการพัฒนาท่าอากาศยาน Seletar ให้เป็นศูนย์กลางการบินของเครื่องบินรับจ้างสาธารณะ (Air Taxis) ภายในปี 2567 โดยสิงคโปร์ได้ลงนามในข้อตกลง 2 ฉบับกับสตาร์ทอัพด้านการเดินอากาศ ได้แก่ บริษัท Skyports ของสหราชอาณาจักร และบริษัท Volocopter ของเยอรมนี ว่าด้วยการเปลี่ยนท่าอากาศยานแบบดั้งเดิมให้เป็นท่าอากาศยานแนวตั้ง (Vertiport) ที่มีอุปกรณ์ทางอากาศขึ้นและลงจอดในแนวตั้ง

แหล่งที่มา: Volocopter (https://www.volocopter.com/newsroom/seletar-aerospace-park/)

ในงานมหกรรม Singapore Airshow 2022 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ได้มีการแสดงยานพาหนะขึ้นและลงแนวตั้งที่ใช้ไฟฟ้า หรือ eVTOLs (electric vertical takeoff and landing) ซึ่งเป็นนวัตกรรมล่าสุดที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากธุรกิจสายการบิน เช่น นาย Tony Fernandes เจ้าของสายการบิน AirAsia ได้สั่งเช่า eVTOLs อย่างน้อย 100 ลำ จากบริษัท Vertical Aerospace ของสหราชอาณาจักร สายการบิน American Airlines และ Virgin Atlantic Airways ก็ได้สั่งซื้อ eVTOLs ด้วยเช่นกัน จากผลการศึกษาของบริษัท Rolls-Royce Holdings และบริษัทที่ปรึกษา Roland Berger เมื่อต้นปี 2565 คาดการณ์ว่าภายในปี 2593 eVTOLs จะเริ่มให้บริการในเอเชีย-แปซิฟิก รองรับผู้โดยสารได้มากถึง 82,500 คน คิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของตลาดโลก โดยสามารถให้บริการการเดินทางหรือการท่องเที่ยวระหว่างเมืองได้ และระยะทางการบินสูงถึง 250 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟฟ้า 1 ครั้ง

นักวิเคราะห์มองว่า สิงคโปร์เป็นสถานที่ที่เหมาะสมในการทดสอบ เรียนรู้ และปรับใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ ทั้งยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นผู้นำระดับโลกและเป็นต้นแบบสำหรับการคมนาคมในโลกแห่งอนาคต ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับแผนการพัฒนาในด้านนี้ของรัฐบาลสิงคโปร์ นาย Tan Kong Hwee รองประธานบริหารคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development Board – EDB) มองว่าการเคลื่อนย้าย/ขนส่งทางอากาศขั้นสูง (advanced air mobility) เป็นตลาดใหม่ที่ดีของสิงคโปร์ที่ยังสามารถเติบโตและสร้างธุรกิจหรือตำแหน่งงานใหม่ ๆ ได้อีกมาก

บริการแท็กซี่อากาศเชิงพาณิชย์แห่งแรกในสิงคโปร์คาดว่าจะเปิดดำเนินการกลางปี 2567

ถึงแม้สิงคโปร์ไม่มีปัญหาความแออัดของการจราจรบนภาคพื้นดิน แต่ด้วยปริมาณนักท่องเที่ยวต่อปีมีถึง 20 ล้านคน (ในปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 มีนักเดินทาง 19.1 ล้านคนมาเยือนสิงคโปร์ ใช้จ่ายประมาณ 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) นักท่องเที่ยวต่างต้องการความตื่นเต้นและประสบการณ์ใหม่ ๆ  อาทิ การชมทิวทัศน์จากฟากฟ้าหรือแม้แต่เส้นทางแท็กซี่อากาศบริเวณ Marina Bay หรือ เกาะ Sentosa ก็น่าจะเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ

แท็กซี่อากาศ Volocopter บินเหนืออ่าวมารีน่า (Marina Bay)
แหล่งที่มา: Volocopter (https://www.volocopter.com/newsroom/volocopter-air-taxi-flies-over-singapores-marina-bay/)

บริษัท Volocopter ผู้บุกเบิกแท็กซี่อากาศของเยอรมนี จึงวางแผนเปิดเที่ยวบินเชิงพาณิชย์แห่งแรกในสิงคโปร์ช่วงต้นถึงกลางปี 2567 โดยจะรับส่งผู้โดยสารจากใน Marina South ไปยัง Marina Reservoir และเดินทางกลับ โดยข้าม Marina Barrage และสะพาน Benjamin Sheares ที่ระดับความสูง 100 – 150 เมตร การเดินทางจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที ในเส้นทาง 12 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้เส้นทางที่เสนอต่อรัฐบาลสิงคโปร์อยู่ระหว่างการรออนุมัติขั้นสุดท้าย เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจะทำการว่าจ้างพนักงานหลัก เช่น นักบิน วิศวกร และลูกเรือบริการ รวมถึงจะขยายเส้นทางไปสู่รอบเกาะ Sentosa ด้วย ทั้งนี้ แท็กซี่บินได้ของ Volocopter จะมีลักษณะคล้ายเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กที่มีใบพัดขนาดเล็กหลายใบ แตกต่างจากเฮลิคอปเตอร์ทั่วไปตรงที่เครื่องบินไฟฟ้าเหล่านี้ปลอดภัย เงียบ และสะดวกกว่า เฮลิคอปเตอร์ ทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าด้วย

นาย Christian Bauer หัวหน้าเจ้าหน้าที่การค้าของ Volocopter เห็นว่า การจัดตั้งธุรกิจนี้จะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่สิงคโปร์ประมาณ 4,200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และช่วยเพิ่มการจ้างงานมากถึง 1,300 ตำแหน่ง ทั้งยังตั้งเป้าหมายว่าจะสร้างท่า VoloPort สำหรับแท็กซี่อากาศเพื่อออกจากและลงจอด 4 – 6 แห่งในสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2573 นอกจากนี้ ธุรกิจแท็กซี่อากาศยังสร้างประโยชน์ด้านภาพลักษณ์ต่อประเทศ เช่น ความสามารถของสิงคโปร์ในการวางตำแหน่งเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจนี้ในเอเชีย และการลดการซื้อรถยนต์ใหม่ในสิงคโปร์ ทั้งนี้ สำหรับค่าโดยสาร นาย Bauer ประมาณการว่าเที่ยวบินแรกของ Volocopter ในสิงคโปร์จะมีราคาถูกกว่าราคาเที่ยวบินเฮลิคอปเตอร์ประมาณ 70% – 75% หรือประมาณ 625 – 750 ดอลลาร์สหรัฐ (ผู้ให้บริการเฮลิคอปเตอร์ท้องถิ่นรายหนึ่งระบุว่า มีค่าใช้จ่ายประมาณ 2,500 ดอลลาร์สหรัฐในการเช่าเหมาลำเฮลิคอปเตอร์เพื่อเที่ยวชมสถานที่ในสิงคโปร์) และตั้งเป้าหมายว่าในอีก 5 – 7 ปีข้างหน้าจะทำให้รถแท็กซี่ทางอากาศมีราคาไม่แพง ราคาเทียบเท่ากับการนั่งแท็กซี่อากาศระดับพรีเมียม

แหล่งที่มา: Volocopter (https://www.volocopter.com/newsroom/first-volocity-exhibition-asia/)

อนึ่ง เมื่อต้นปี 2565 บริษัทฯ ได้วางแผนระยะยาวในการดำเนินการแท็กซี่ทางอากาศข้ามพรมแดนจากสิงคโปร์ไปยังอินโดนีเซียและมาเลเซีย รวมทั้งต้องการให้สิงคโปร์และปารีสเป็นเมืองแรกที่มีบริการแท็กซี่อากาศเชิงพาณิชย์ และอยู่ในขั้นตอนของการได้รับการอนุมัติด้านกฎระเบียบที่จำเป็นจาก CAAS และหน่วยงานของยุโรป โดยเริ่มทดสอบระบบ ทดลองบิน และประเมินผลส่วนหนึ่งเพื่อให้แน่ใจว่าแท็กซี่ทางอากาศมีความปลอดภัยเท่ากับเครื่องบินพาณิชย์

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ

ประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่เผชิญปัญหาความแออัดของการจราจรบนภาคพื้นดิน รวมถึงมีการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญ การพัฒนาและนำมาใช้ของเทคโนโลยี eVTOLs /บริการแท็กซี่บินได้ น่าจะเอื้อประโยชน์ต่อประเทศและเป็นทางเลือกที่วิสาหกิจ ผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณาศึกษา หรือเป็นพันธมิตรกับวิสาหกิจต่างประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านนี้ได้ เช่น เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 บริษัทจีน EHang
ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกด้านโดรนผู้โดยสารและการเคลื่อนย้ายทางอากาศในเมือง กำลังเตรียมพร้อมที่จะให้บริการแท็กซี่อากาศในประเทศไทยผ่านการร่วมทุนกับกลุ่มบริษัท CP เพื่อสร้างรากฐานการใช้งานที่เป็นไปได้มากมายสำหรับแท็กซี่อากาศในประเทศไทย เช่น การท่องเที่ยวทางอากาศ การขนส่งสินค้า แท็กซี่ทางอากาศทั่วเมือง และการจัดการเมืองอัจฉริยะ ทั้งนี้ บริการแท็กซี่ทางอากาศสามารถอุดช่องว่างระบบขนส่งในปัจจุบันได้ เช่น การเชื่อมต่อระดับภูมิภาคในเส้นทางที่สั้นเกินไปสำหรับเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ในปัจจุบัน  


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง