เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ได้ประกาศหลักเกณฑ์ เรื่อง การให้แรงงานต่างชาติที่เดินทางเข้ามาทำงานในสิงคโปร์ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ต้องผ่านการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธี PCR (Polymerase Chain Reaction) และกักตัวเพิ่มอีก 7 วันหลังจากการกักตัว 14 วัน (Additional Testing Regime) ก่อนที่จะเข้าไปพักอาศัยในหอพักรวมแรงงานต่างชาติได้ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19 Clusters) ตามที่เคยเกิดขึ้นในหอพักแรงงานต่างชาติในสิงคโปร์เมื่อปีที่แล้ว ทั้งนี้ ในช่วงที่กักตัวเพิ่มอีก 7 วันนั้น แรงงานต่างชาติสามารถไปทำงานได้แต่ยังต้องผ่านการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งหากพบว่ามีการติดเชื้อฯ แรงงานต่างชาติผู้นั้นจะถูกแยกตัวออกและนำส่งไปยังสถานพยาบาลทันที
จากกรณีดังกล่าว หนังสือพิมพ์ The Straits Times ได้รายงานว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นไป กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ได้เริ่มอนุมัติการเข้ามาของแรงงานต่างชาติจํานวนมาก ดังนั้น หลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19 Clusters) ในหอพักแรงงานต่างชาติได้
การอนุมัติให้แรงงานต่างชาติจํานวนมากเข้ามาทำงานในสิงคโปร์
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ โดยความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ กระทรวงการพัฒนาแห่งชาติสิงคโปร์ และกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ได้ร่วมกันพิจารณาข้อผ่อนปรนและลดข้อจำกัดในการขอใบอนุญาตทำงานและใบสมัคร S Pass สำหรับอาชีพในสายแรงงานเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานในสิงคโปร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะจากอินเดียและบังกลาเทศ และอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
ที่มีแรงงานไม่พอในปัจจุบัน
National Population and Talent Division ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาประชากร ได้จัดทำรายงานคาดการณ์แนวโน้มความต้องการแรงงานต่างชาติในสิงคโปร์ในปี 2573 (ค.ศ. 2030) พบว่าสิงคโปร์จะมีความต้องการแรงงานต่างชาติใน 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมการก่อสร้าง เนื่องจากรัฐบาลสิงคโปร์มีแผนก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก เช่น โครงการขยายเส้นทางระบบ MRT โครงการสร้างที่อยู่อาศัยแบบ Build-To-Order การสร้างบ้านพักคนชราและโรงพยาบาลเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ ดังนั้นสิงคโปร์มีความต้องการแรงงานต่างชาติที่ถือใบอนุญาตก่อสร้าง (Construction Work Permit Holders) จำนวน 250,000 – 300,000 คน ในปี 2573 ซึ่งเพิ่มจากจำนวน 250,000 คน ในปี 2554 (2) อุตสาหกรรมสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ จำนวน 91,000 คนในปี 2573 ซึ่งเพิ่มจากจำนวน 50,000 คนในปี 2554 และ (3) อุตสาหกรรมแม่บ้านเพื่อทำงานตามครัวเรือน จำนวน 300,000 คนในปี 2573 ซึ่งเพิ่มจากจำนวน 198,000 คนในปี 2554
Building and Construction Authority ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติสิงคโปร์ ทำหน้าที่วางแผนโครงการก่อสร้างของรัฐบาลสิงคโปร์ ได้เผยเเพร่ข่าวสารนิเทศเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 ว่าเมื่อปี 2563 สัดส่วนอุตสาหกรรมการก่อสร้างของสิงคโปร์ลดลงไปถึง 36.5% อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ในปี 2564 คาดว่าความต้องการในอุตสาหกรรมการก่อสร้างจะมีมูลค่าสูงถึง 23 – 28 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยแบ่งเป็น (1) การลงทุนโดยภาคเอกชนประมาณ 8 – 10 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และการก่อสร้างอาคารสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะทาง และ (2) การลงทุนโดยภาครัฐบาลประมาณ 15 – 18 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อเร่งดำเนินแผนงาน/โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องหยุดชะงักไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
แผนงาน/โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ของรัฐบาลที่ต้องหยุดชะงักไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
(1) แผนพัฒนาพื้นที่ใต้ดิน (Underground Development) เมื่อปี 2562 หน่วยงานด้านการพัฒนาเมืองสิงคโปร์ (Urban Redevelopment Authority) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการออกแบบและพัฒนากายภาพเมืองทั้งหมดของสิงคโปร์ ได้เผยแพร่แผนพัฒนาพื้นที่ใต้ดิน (Underground Development) ซึ่งอยู่ภายใต้แผนการใช้ที่ดิน ภายในปี 2573 (Land Use Plan 2030) ได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการพื้นที่การผลิต คลังสินค้า ที่จอดรถ และระบบการขนส่งลงไปยังพื้นที่ใต้ดิน เพื่อแก้ปัญหา/ข้อจำกัดด้านพื้นที่ใช้สอยบนดินใน ประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการก่อสร้างที่พักอาศัยและขยายพื้นที่สีเขียวในประเทศ แผนการระยะแรกจะนำร่องใน 3 พื้นที่ ได้แก่ (1) Marina Bay (2) Jurong Innovation District และ (3) Punggol Digital District ซึ่งปัจจุบันได้จัดทำแผนที่ใต้ดิน 3 มิติ (3D Underground Maps) เสร็จเรียบร้อยแล้วและอยู่ในขั้นตอนเตรียมการก่อสร้าง
อนึ่ง แผนการนี้เกิดจากการคาดการณ์จำนวนประชากรสิงคโปร์ที่ปัจจุบันมีอยู่ 5.8 ล้านคน ซึ่งจะเพิ่มเป็น 6.9 ล้านคนภายในปี 2573 (ตัวเลขรวมชาว สป. PRs และผู้ถือบัตรอื่น ๆ เพื่อเข้ามาทำงานและอาศัยอยู่สิงคโปร์ทั้งหมด) ซึ่งอาจทำให้สิงคโปร์มีพื้นที่ไม่เพียงพอรองรับการเติบโตของเมือง ประกอบกับเดิมทีสิงคโปร์ขยายเมืองโดยใช้วิธีถมทะเลเป็นหลัก แต่การถมทะเลต้องเสียต้นทุนมากขึ้นเนื่องจากต้องถมในระดับน้ำลึกกว่าเดิม อีกทั้งกัมพูชาซึ่งเคยเป็นผู้ขายทรายหลักให้กับสิงคโปร์ได้ยุติการขายทรายให้กับสิงคโปร์แล้ว เนื่องจากเป็นการสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมของกัมพูชาเป็นวงกว้าง
(2)โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารที่ 5 ของท่าอากาศยานชางงี (T5 Project) รัฐบาลสิงคโปร์ระงับโครงการ T5 Project ชั่วคราวเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี แม้ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้วบางส่วน โดยเดิมมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2573 โดยนาย Khaw Boon Wan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนสิงคโปร์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ว่าในช่วงระงับการก่อสร้างชั่วคราวนี้ ทีมออกแบบสถานที่จะยังทำงานเพื่อแก้ไขแบบการก่อสร้างเดิม โดยเฉพาะในส่วนของสิ่งอำนวยความสะดวกยุคหลังโควิด (Post-pandemic Travel) เพราะคาดการณ์ว่ารูปแบบการเดินทางในยุคหลังโควิด-19 จะมีขั้นตอนและกระบวนการมากขึ้น
(3) โครงการขยายเส้นทางระบบ MRT กรมการขนส่งทางบก (Land Transport Authority) มีแผนการขยายเส้นทาง MRT อีกร้อยละ 50 เพื่อครอบคลุมระยะทางรวม 360 กิโลเมตร ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) โดยมีหลักการในการออกแบบที่ตั้งของสถานีว่า เมื่อเดินออกจากบ้านต้องเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก กล่าวคือ ประชาชนทุกคนสามารถเดินจากบ้านพักไปยังสถานี MRT ได้ภายในเวลาไม่เกิน 10 นาที อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 นาย Khaw Boon Wan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนสิงคโปร์ว่าเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงส่งผลกระทบต่อแผนการก่อสร้าง แต่รัฐบาลสิงคโปร์จะยังคงดำเนินการต่อไป ไม่มีการยกเลิกแผนการขยายเส้นทาง MRT นี้แน่นอน
(4) โครงการที่อยู่อาศัยแบบ Build-To-Order หรือโครงการก่อสร้างที่พักอาศัยรัฐบาล (Housing and Development Board) โดยการเคหะแห่งชาติสิงคโปร์ได้ยืนยันแล้วว่าหลายโครงการอาจล่าช้ากว่ากำหนดส่งมอบที่กำหนดไว้เดิมถึง 9 เดือน เนื่องจากต้องหยุดการก่อสร้างไปกว่า 2 เดือนในช่วงมาตรการ Circuit Breaker
บทสรุป
สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสิงคโปร์ ก่อให้เกิดการขาดแคลนแรงงานต่างชาติอย่างมาก ดังนั้น ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 เป็นต้นมา รัฐบาลสิงคโปร์จึงเร่งหาทางออก โดยออกนโยบายและงบประมาณเร่งด่วนสนับสนุน อุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศ เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถด้านการผลิตและลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติ เช่น การใช้ระบบ AI กวาดถนน การใช้เครื่องทำความสะอาดพื้นอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้แรงงานคนบังคับ และการใช้โดรนซึ่งเป็นอากาศยานไร้คนขับเพื่อรับส่งสินค้า เป็นต้น อย่างไรก็ดี สิงคโปร์จะยังคงต้องการแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการก่อสร้างในระยะแรกภายหลังการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 เนื่องจากพฤติกรรมของชาวสิงคโปร์ที่ไม่นิยมทำงานก่อสร้างและงานบริการ อีกทั้งรัฐบาลสิงคโปร์มีแผนการลงทุนและปรับปรุงสาธารณูปโภคพื้นฐานในประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แรงงานต่างชาติจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อน เศรษฐกิจสิงคโปร์ แต่ในขณะเดียวกันสิงคโปร์ยังคงต้องสร้างสมดุลโดยดำเนินการตามนโยบายการจ้างงานคนใน ประเทศที่จะต้องมีอัตราการจ้างงานต่างชาติลดลง
อนึ่ง แรงงานไทยในสิงคโปร์ขึ้นชื่อว่ามีฝีมือและมีความประพฤติดีและเป็นที่ต้องการของนายจ้างในสิงคโปร์ ดังนั้น สิงคโปร์จึงยังต้องการแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะแรงงานไทยในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วง Post-Covid-19 หากแต่มีกระบวนการด้านสาธารณสุขเพิ่มเติมตามแนวทาง Risk-Managed Approach ของรัฐบาลสิงคโปร์
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
- https://www.channelnewsasia.com/news/singapore/authorities-ease-entry-restrictions-new-foreign-workers-shortage-13777184
- https://www.mom.gov.sg/newsroom/press-releases/2021/0105-additional-testing-regime-for-newly-arrived-foreign-workers#:~:text=From%206%20January%202021%2C%20newly,%2DHome%20Notice%20(%20SHN%20).
- https://www.straitstimes.com/singapore/newly-arrived-dorm-based-foreign-workers-to-undergo-extra-7-day-testing-regime
- Featured Image Source: ST PHOTO: DESMOND WEE