ด้วย นาย Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและประธาน World Economic Forum (WEF) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Straits Times ของสิงคโปร์เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เนื่องในโอกาสที่มาเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ เพื่อเตรียมการจัดการประชุมประจำปีสมัยพิเศษ WEF Special Annual Meeting 2021 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในสิงคโปร์ระหว่างวันที่ 17 – 20 สิงหาคม 2564
โดยในช่วงต้นของการสัมภาษณ์นั้น นาย Schwab ได้กล่าวถึงผลการประชุมทางไกล WEF The Davos Agenda ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 – 29 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ว่าประสบความสำเร็จและได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างมาก เป็นการแสดงให้เห็นว่าโลกกำลังจับตามองแนวคิด “The Great Reset” เนื่องจาก (1) หลายประเทศยังคงเร่งหานโยบายรับมือกับโควิด-19 (2) ความต้องการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และ (3) สถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ทุกคนตระหนักได้ว่าที่ผ่านมานั้นโลกเราขาด/บกพร่องจุดใดไปบ้าง อย่างไรก็ตาม การประชุมทางไกลดังกล่าวไม่อาจทดแทนการประชุมที่ทุกคนสามารถมาพบปะกันโดยตรง ซึ่งจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเชื่อมั่น รวมถึงความรู้สึกเชื่อมโยงที่จะช่วยในการรับมือกับประเด็นต่างๆ ดังนั้น ในการประชุมที่กำลังจะจัดขึ้นในสิงคโปร์ในเดือนสิงหาคม 2564 จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกฝ่ายมารวมตัวกัน เพื่อร่วมกันหารือวาระสำคัญระดับโลกเหล่านี้
อีกทั้งการประชุมที่กำลังจัดขึ้นในสิงคโปร์นี้ ถูกกำหนดจัดขึ้นก่อนการประชุมที่สำคัญระดับโลกอีก 3 การประชุม ได้แก่ (1) การประชุม UNGA ในเดือนกันยายน 2564 (2) การประชุม G20 ในเดือนตุลาคม 2564 และ (3) การประชุม Glasgow COP26 ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ที่ประชุมจะร่วมกันกำหนดปัจจัยหลัก (a major input) เพื่อนำไปหารือเพิ่มเติมร่วมกันในการประชุมทั้ง 3 ดังกล่าวต่อไป และการประชุมฯ ยังแสดงถึงความสำคัญในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือ (1) ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาภูมิภาคเอเชียมีตัวเลข GDP และกำลังซื้อจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก และ (2) ในอดีต
ที่ผ่านมา เมื่อผู้คนพูดถึงศูนย์กลางอำนาจของโลกมักจะนึกถึง จีน สหรัฐฯ หรือกลุ่มสหภาพยุโรป แต่ที่จริงแล้วภูมิภาคอาเซียนถือเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยเฉพาะสัดส่วนจำนวนประชากรในภูมิภาคที่มีจำนวนมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรในสหภาพยุโรป
ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ กล่าวได้ว่าการประชุมของ WEF ทุกครั้งที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐบาลและภาคเอกชนของทั้ง 2 ประเทศเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ดังนั้น การประชุมที่กำลังจะจัดขึ้นในสิงคโปร์นี้ จึงเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าผู้นำระดับสูงจากทั้ง 2 ประเทศจะมาเข้าร่วมและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีดังเช่นในทุกครั้งที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การประชุมฯ จะไม่ใช่เวทีเพื่อการตัดสินใจ แต่เป็นการหารือและรับฟังข้อคิดเห็นร่วมกัน เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการกำหนดกรอบนโยบายในระยะยาว ซึ่งจะพิจารณาข้อมูลในหลายมิติ เช่น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระบบการเมืองการปกครองที่หลากหลาย รวมถึงเทคโนโลยีและมุมมองทางสังคมที่แตกต่างกัน เป็นต้นโดยระหว่างการประชุมฯ จะมี 3 ประเด็นหลักที่หารือร่วมกัน ได้แก่ (1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งผลการหารือจะถูกนำไปต่อยอดในการประชุม Glasgow COP26 ในเดือนพฤศจิกายน 64 (2) Upskilling and Reskilling หรือการสร้างทักษะใหม่และการพัฒนาทักษะเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มแรงงานทักษะต่ำ เนื่องจากการทำงานในอนาคตจะถูกแทนที่โดยระบบ AI และเทคโนโลยีอื่นที่ทันสมัย และ (3) ความมั่นคงทางอาหาร
อนึ่ง เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 นาย Chan Chun Sing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ ได้เผยแพร่ข้อความลงบน Facebook ส่วนตัวว่า สิงคโปร์ได้หารือร่วมกับ WEF ในประเด็นสำคัญรวมถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดการความท้าทายทางเศษฐกิจและสังคมอันเนื่องมาจากโควิด-19 พร้อมให้คำมั่นว่าสิงคโปร์จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับ WEF เพื่อจัดการประชุมฯ ที่ปลอดภัยและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรฐกิจโลก
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์