สรุปสถานการณ์แรงงานในสิงคโปร์ปี 2564 และผลกระทบจากการจ้างงานชาวต่างชาติที่ลดลงต่ำสุดในรอบทศวรรษต่อความสามารถในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจของสิงคโปร์
ตลาดการจ้างงานในสิงคโปร์ฟื้นตัวจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มคนชาติและ PR สิงคโปร์ แต่จำนวนแรงงานต่างชาติผู้ถือบัตร Employment Pass (EP ซึ่งเป็น white collar ในสิงคโปร์) ลดลงต่ำสุดในรอบทศวรรษ ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางธุรกิจประจำภูมิภาค
รายงานสถานการณ์แรงงานในสิงคโปร์ประจำปี 2564 และแนวโน้มปี 2565
กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ได้เผยแพร่รายงาน Labour Market Report 2021 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2564 ระบุว่า ภาพรวมตลาดแรงงานของสิงคโปร์ปี 2564 ฟื้นตัวได้ดีมาก โดยอัตราการจ้างงานสูงขึ้นเกือบเท่าช่วงก่อน
โควิด-19 จำนวนการจ้างงานตลอดปี 2564 เพิ่มขึ้น 41,400 อัตรา จากปี 2563 ซึ่งหดตัวอย่างยิ่งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 166,600 อัตรา โดยปี 2564 การจ้างงานคนชาติและคนอยู่ถาวร (PR) สิงคโปร์เพิ่มขึ้น 71,300 อัตรา แต่การจ้างงานคนต่างชาติลดลง 30,000 อัตรา อัตราการจ้างงานเฉพาะในไตรมาสที่ 4/2564 เพิ่มขึ้น 47,900 อัตรา อันเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการเข้าเมืองของสิงคโปร์อย่างค่อยเป็นค่อยไป
อัตราการว่างงานลดลงจากร้อยละ 3 ในปี 2563 เหลือร้อยละ 2.7 ในปี 2564 โดยอัตราการว่างงานของคนชาติสิงคโปร์ลดลงจากร้อยละ 4.2 เหลือร้อยละ 3.7 ในขณะที่อัตราการว่างงานระยะยาวอยู่ที่ร้อยละ 1 ในปี 2564
กระทรวงแรงงานสิงคโปร์คาดว่าจำนวนการจ้างงานในปี 2565 จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม โดยที่ภาพรวมการเติบโตเศรษฐกิจโลกอาจเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากปัจจัยระหว่างประเทศต่าง ๆ ทำให้ตลาดแรงงานในสิงคโปร์ฟื้นตัวช้าขึ้นด้วย ทั้งนี้ การฟื้นตัวของการจ้างงานจะยังไม่สมดุลในทุกภาคเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรม โดยรัฐบาลสิงคโปร์จะร่วมมือกับคณะทำงานไตรภาคี (Tripartite Partners) เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะคนชาติสิงคโปร์ต่อไป
การลดจำนวนการจ้างแรงงานต่างชาติกับผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสิงคโปร์
กระทรวงแรงงานสิงคโปร์รายงานสถิติจำนวนแรงงานต่างชาติและบุคลากรฝีมือในสิงคโปร์ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากมาตรการปกป้องการจ้างงานคนสิงคโปร์ และการรักษาสมดุลในการจ้างงานคนต่างชาติ โดยจำนวนผู้ถือ EP ในสิงคโปร์ลดลงต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ จากปี 2562 (ก่อนโควิด-19) สิงคโปร์ที่มีแรงงานต่างชาติผู้ถือ EP จำนวน 193,700 ราย เหลือเพียง 161,700 รายในปี 2564 ซึ่งเป็นอัตราที่ตำกว่าปี 2554 ซึ่งมีผู้ถือ EP จำนวน 175,400 ราย
ปัจจัยที่ทำให้การจ้างงานคนต่างชาติในสิงคโปร์ลดลงเป็นผลจาก (1) นโยบายของรัฐบาลสิงคโปร์ที่ต้องการแก้ไขปัญหาคนชาติสิงคโปร์ตกงานในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยรัฐบาลสิงคโปร์ประกาศปรับฐานเงินเดือน
ขั้นต่ำของการขอบัตร EP (พนักงานออฟฟิศและพนักงานในภาคการเงินชาวต่างชาติในทุกระดับ) และ SPass (อาชีพบริการ/พ่อครัวแม่ครัว/ช่างเทคนิค) เมื่อเดือนกันยายน 2563 เพิ่มขึ้นจาก 3,900 ดอลลาร์สิงคโปร์/เดือน เป็น 4,500 ดอลลาร์สิงคโปร์/เดือน และตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 จะปรับเพิ่มเป็น 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์/เดือน (2) ข้อจำกัดด้านการเดินทางระหว่างประเทศจากภาวะโรคระบาด (3) ความกังวลในหมู่คนชาติสิงคโปร์ว่าคนต่างชาติจะมาแย่งงาน และ (4) การปรับรูปแบบการทำงานผ่านระบบทางไกลมากขึ้นของภาคเอกชนทั่วโลก
นักวิเคราะห์มีมุมมองที่หลากหลายต่อผลกระทบจากการลดลงของชาวต่างชาติในสิงคโปร์ ดังนี้
(1) ในระยะยาว จำนวนแรงงานต่างชาติประเภท EP ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสิงคโปร์ เนื่องจากบริษัทต่างชาติจำนวนมากที่เข้ามาลงทุนได้ใช้สิงคโปร์เป็นฐานของ “สำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค” เช่น Meta Google Apple Microsoft Grab และธุรกิจซื้อของออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต้องจ้างบุคลากรที่มีทักษะภาษาต่างประเทศ เช่น ไทย เวียดนาม และบาฮาซา มาตรการเข้าเมืองและการควบคุมการจ้างงานคนต่างชาติของรัฐบาลสิงคโปร์ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรฝีมือและแรงงานที่จำเป็นต่อการขยายธุรกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะภาคเทคโนโลยีและการเงิน ซึ่งได้รับผลกระทบเป็นลำดับต้น รองลงมาคือ การผลิต โลจิสติกส์ และการก่อสร้าง ทั้งนี้ ภาคธุรกิจบางประเภทย้ายตำแหน่งงานเฉพาะทางบางตำแหน่งจากสิงคโปร์ไปยังประเทศอื่นเพื่อสรรหาผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม เช่น ด้านการวิเคราะห์และวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data analytics and data science)
(2) สิงคโปร์กำลังเผชิญการถูกลดลำดับในดัชนีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ เช่น การสำรวจและจัดอันดับ “สถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับชาวต่างชาติในการอยู่อาศัยและทำงาน” ของธนาคาร HSBC จัดให้สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 9 ในปี 2564 (ลดลงจากอันดับที่ 1 ระหว่างปี 2558-2561 และอันดับที่ 2 เมื่อปี 2562) และเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 Institute for Management Development เผยแพร่การจัดอันดับการแข่งขันทางเศรษฐกิจโลก World Competitiveness Ranking 2021 ซึ่งสิงคโปร์ตกจากอันดับที่ 1 มาอยู่อันดับที่ 5
(3) ดร. Lei Hsien-Hsien CEO สภาหอการค้าอเมริกันและสิงคโปร์ (AmCham) เห็นว่า เมื่อสถานการณ์โรคระบาดกลับสู่ภาวะปกติ ทั้งการเปิดประเทศและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จะส่งผลให้รัฐบาลสิงคโปร์ผ่อนคลายการจ้างงานคนต่างชาติยิ่งขึ้น ดังนั้น จำนวนการจ้างงานชาวต่างชาติจะฟื้นตัวและสิงคโปร์จะยังคงสามารถรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันได้เช่นเดิม ทั้งในด้านการเป็นศูนย์กลางเชิงกลยุทธ์และ Supply Chain Node ในเอเชียและระดับโลก ทั้งนี้ สิงคโปร์เริ่มมีวิสาหกิจจดทะเบียนใหม่มากขึ้น ทั้ง สำนักงานรายประเทศและสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก โดย EDB สิงคโปร์ (เทียบเท่า BOI) สามารถดึงดูดเงินลงทุนในสินทรัพย์ถาวรได้ 11,800 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในปี 2564 ซึ่งคาดว่าจะสร้างงานมากกว่า 17,000 ตำแหน่งในช่วง 5 ปีข้างหน้า
(4) อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจและสื่อมวลชนเห็นว่าหากทักษะและกำลังคนในสิงคโปร์ไม่สามารถตอบสนองอุปสงค์และการขยายตัวของภาคธุรกิจได้ ธุรกิจเหล่านี้ก็จะมองหาเมืองอื่นที่มีความพร้อมและเหมาะสมมากกว่า ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์ นอกจากนี้ แรงจูงในในการลงทุนก็เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลสิงคโปร์ต้องผลักดันอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต
สถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดล่าสุดในสิงคโปร์และการเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ในระดับเกือบเทียบเท่าช่วงโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจสิงคโปร์ในภาคที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยว การบิน การบริการ และการค้าปลีกของสิงคโปร์ฟื้นตัวยิ่งดีในปีนี้ ซึ่งหากภาคธุรกิจเหล่านี้ขยายตัวจะส่งผลให้ความต้องการแรงงานต่างชาติในสิงคโปร์สูงขึ้น ทั้งนี้ สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลนส์ (SIA) ได้เริ่มประกาศรับสมัครพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่มีประสบการณ์ หลังจากที่ SIA ประกาศเลิกจ้างพนักงานต้อนรับที่มีอายุงานน้อย 2 ปี (มากกว่าร้อยละ 50) เมื่อปี 2563 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติ
การเปิดการเดินทางข้ามแดนทางบกระหว่างมาเลเซีย – สิงคโปร์ ในวันที่ 1 เมษายน 2565 และการยกเว้นการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้ผ่านแดนทางบกเป็นการเฉพาะ จะช่วยให้แรงงานมาเลเซียจากรัฐยะโฮร์เดินทางเข้ามาทำงานในสิงคโปร์มากขึ้น ทั้งงานในออฟฟิศและงานในภาคการก่อสร้าง อู่ต่อเรือ และงานที่ต้องใช้แรงงานอื่น ๆ ซึ่งในช่วงก่อนโควิด-19 มีชาวมาเลเซียสัญจรข้ามเส้นทาง Johor-Singapore Causeway เพื่อมาทำงานหรือศึกษาในสิงคโปร์เป็นประจำประมาณ 350,000 คนต่อวัน
หากเปรียบเทียบกับฮ่องกงซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในฐานะศูนย์กลางบริการทางการเงิน การเดินทางระหว่างประเทศ และธุรกิจของภูมิภาค การที่ฮ่องกงยังคงมาตรการ Zero Covid ส่งผลให้แรงงานต่างชาติย้ายถิ่นฐานออกจากฮ่องกงเป็นจำนวนมาก โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 รัฐบาลฮ่องกงระบุว่าจำนวนประชากรในฮ่องกง ณ สิ้นปี 2564 ลดลงร้อยละ 0.3 จากปี 2563 และจำนวนผู้โดยสารขาออกจากฮ่องกงเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 จากประมาณ 7,600 คน ในสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นมากกว่า 17,600 คน ในสัปดาห์สุดท้าย โดยสิงคโปร์เป็นหนึ่งในที่หมายของการย้ายถิ่นฐานของแรงงานฝีมือจากฮ่องกง โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการเงินและภาคธุรกิจบางส่วนที่ย้ายสำนักงานระดับภูมิภาคจากฮ่องกงมายังสิงคโปร์ด้วย
อนึ่ง จากข้อมูลของสำนักงานแรงงาน ณ สิงคโปร์ ปัจจุบันมีคนไทยมาทำงานในสิงคโปร์ที่ลงทะเบียนกับสำนักงานแรงงานประมาณ 20,000 คน แบ่งตามสายอาชีพ ดังนี้ (1) ภาคการก่อสร้าง 13,450 คน (2) งานเรือและงานกระบวนการผลิตปิโตรเคมี 2,008 คน (3) พ่อครัวและแม่ครัว 1,200 คน (4) อุตสาหกรรมการผลิต 305 คน (5) พนักงานทำความสะอาด 200 คน สำหรับคนไทยที่มาทำงานและถือบัตร EP ในสิงคโปร์น่าจะมีจำนวนประมาณ 1,000 – 2,500 คน โดยนับรวมคนไทยที่ได้รับสถานะ PR ในสิงคโปร์ และคนไทยที่สมรสกับคนสิงคโปร์ด้วยแล้ว
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
ข้อมูลอ้างอิง
- https://infographics.channelnewsasia.com/interactive/causewayjam/index.html
- https://sg.finance.yahoo.com/news/singapore-expat-numbers-slump-to-lowest-level-since-2010-092104453.html
- https://www.mom.gov.sg/newsroom/press-releases/2022/0314-statement-on-labour-market-developments-in-2021
- https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/expats-rush-to-exit-hong-kong-amid-strict-covid-19-rules
- https://www.straitstimes.com/singapore/global-talent-a-necessity-not-a-luxury-how-can-spore-stay-competitive-amid-expat-decline