ธนาคารของสิงคโปร์ขยายการลงทุนสู่ตลาดอาเซียนหลังโควิด-19

ธนาคารใหญ่ในสิงคโปร์ 3 ราย คือ ธนาคาร DBS ธนาคาร UOB และธนาคาร OCBC เปิดเผยว่า ในปี 2564 กำไรสุทธิของธนาคารฯ เติบโตขึ้นจากปี 2563 ที่อัตรา 44%, 40%, และ 35% ตามลำดับ สะท้อนถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนที่กำลังฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19

ธนาคารท้องถิ่นเหล่านี้ต่างเริ่มสนใจการลงทุนในตลาดภายนอกสิงคโปร์ หลังจากเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยธนาคาร DBS ดำเนินการ 1) เดือนมกราคม 2565 ประกาศควบรวมกิจการฝั่งธนาคารรายย่อยของ Citigroup ในไต้หวัน 2) ปี 2563 ควบรวมกิจการธนาคาร Lakshmi Vilas ในอินเดีย 3) ปี 2564 ถือหุ้นธนาคารในเซินเจิ้น ประเทศจีน Shenzhen Rural เป็นสัดส่วนถึง 13% ทั้งนี้ จากรายงานของบริษัทจัดอันดับเครดิต Moody’s Investor Service  แสดงให้เห็นว่ารายได้สุทธิของธนาคาร DBS จะดีขึ้นในปี 2565 จากการตั้งสำรองสำหรับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น รายได้จากการบริหารความมั่งคั่ง และการขยายการดำเนินงานในภูมิภาคและธุรกิจที่หลากหลายดังกล่าว  

ธนาคาร UOB ประกาศเมื่อเดือนมกราคม 2565 ในปีนี้จะควบรวมกิจการฝั่งธนาคารรายย่อยของ Citigroup ในอาเซียน เพื่อขยายฐานลูกค้าในตลาดกลุ่มผู้มีรายได้สูงหรือฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ และต่อยอดการขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปรับโครงสร้างทางธุรกิจของ Citigroup ที่ต้องการยกเลิกธุรกิจด้านการธนาคารเพื่อรายย่อยในประเทศในเอเชียและยุโรป จำนวน 13 ประเทศ ซึ่งรวมถึงในประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม นาย Wee Ee Cheong ประธานบริหารธนาคาร UOB มองว่าการขยายธุรกิจธนาคารรายย่อยดังกล่าวเป็นโอกาสสำคัญของ UOB ในการเจาะตลาดเป้าหมายในหลายประเทศที่น่าสนใจในคราวเดียว

ธนาคาร OCBC เริ่มหันมาสนใจธุรกิจการบริหารมั่งคั่งในตลาดต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นธุรกิจหลักในการช่วยในการเติบโตของบริษัทต่อไป โดยธนาคารตั้งใจให้ศูนย์การดำเนินงานในประเทศจีนเป็นหลักในการพัฒนาธุรกิจด้านนี้ รวมทั้งมีหน่วยงานในฮ่องกง ธนาคาร OCBC Wing Hang Bank ซึ่งร่วมมือกับธนาคาร Ping An ของจีนเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าชาวจีน

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

นักวิเคราะห์หลายรายคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2565 จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อธนาคารในสิงคโปร์ในเชิงบวก ทั้งนี้ การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องไปทั่วภูมิภาคของธนาคารสิงคโปร์ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสิงคโปร์ในการเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ธุรกิจด้านการบริหารความมั่งคั่งนั้นจัดเป็นหนึ่งในธุรกิจที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในเอเชีย เห็นได้จากการการเติบโตของกลุ่มผู้มีรายได้สูงในเอเชียอย่างต่อเนื่องและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

ประเทศไทย แม้จะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ธุรกิจด้านการบริหารความมั่งคั่งเป็นหนึ่งในตลาดที่น่าสนใจและเป็นธุรกิจหลักที่ช่วยเพิ่มผลประกอบการให้กับธนาคาร เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่สูงในขณะที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าการปล่อยกู้ ธนาคารไทยเองต่างเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจนี้มากขึ้น เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) คุณสารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า ธุรกิจดูเเลพอร์ตการลงทุนให้ลูกค้าผู้มั่งคั่ง ‘เติบโตขึ้นมาก’ ในช่วงที่ผ่านมาท่ามกลางโรคระบาด ในขณะเดียวกันธนาคารกสิกรไทยเปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจ KBank Private Banking เมื่อปี 2563 ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนลูกค้าราว 12,000 รายและสินทรัพย์ภายใต้การจัดการทั้งหมดประมาณ 800,000 ล้านบาท


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง