หนังสือพิมพ์ The Straits Times ฉบับวันที่ 2 มีนาคม 2021 รายงานว่า SIA ยังคงเป็นสายการบินที่มีทุนสำรองมั่นคงที่สุดในโลก เนื่องจาก (1) เมื่อเดือนเมษายน 2563 SIA ได้ระดมเงินทุนมูลค่า 13.4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ผ่านการเสนอขายหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสิทธิ์ (rights issue) หุ้นกู้แปลงสภาพ (mandatory convertible bonds) และจัดหาแหล่งเงินทุนโดยมีเครื่องบินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อรักษาสภาพคล่องให้กับสายการบินฯ และ (2) ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน 2563 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา สายการบินฯ ได้อนุมัติเงินจำนวน 8.1 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อรับมือกับผลกระทบของโควิด-19 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของสายการบินฯ อย่างไรก็ตาม SIA ยังคงมีกระแสเงินสดคงเหลือ 5.3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 สายการบินฯ ได้ประกาศรายงานผลประกอบการซึ่งขาดทุนสุทธิ 142 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในไตรมาสที่ 3/2563 โดยจำนวนผู้โดยสารลดลงถึง 97.6 % เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2562 และเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 สำนักข่าว CNA รายงานว่า จำนวนผู้โดยสารสายการบินในเครือ SQ (SIA, Silk Air และ Scoot) ในเดือนมกราคม 2564 ลดลง 97.3 % เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ (cargo) ของสายการบินฯ ยังคงตัวได้ค่อนข้างดี โดยอัตราส่วนการขนส่งสินค้า (cargo load factor – CLF) ของเดือนมกราคม 2564 อยู่ที่ 89.2 % เพิ่มขึ้น 37 % เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2563 เนื่องจากความต้องการสินค้า ข้อจำกัดด้านปริมาณของการขนส่งทางอากาศ และการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินขนส่งสินค้า

ทั้งนี้ เนื่องจากเที่ยวบินทั้งหมดของ SIA เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ จึงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศของรัฐบาลทั่วโลก SIA จึงต้องลดค่าใช้จ่ายเพื่อพยุงธุรกิจเป็นระยะ ๆ ตลอดปี 2563 โดยวิธีต่าง ๆ ได้แก่ (1) การปรับลดเงินเดือนพนักงานขั้นต่ำ 10 % ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน (2) การเสนอ Voluntary Release Scheme (VRS) เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นข้อเสนอให้ พนักงานปลดเกษียณก่อนกำหนดหรือลาออกก่อนครบสัญญาด้วยความสมัครใจโดยจ่ายเงินชดเชยแก่พนักงาน ซึ่งมีพนักงานเข้าร่วมโครงการดังกล่าวประมาณ 1,900 คน และ (3) การปลดพนักงาน (retrenchment) จำนวน 2,400 คน เมื่อเดือนกันยายน 2563 (น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะปลดพนักงาน จำนวน 4,300 คน) 

แผนการดำเนินงานของสายการบินฯ

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 นาย Goh Choon Phong ประธานกรรมการผู้จัดการ SIA ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Straits Times ว่า ได้ตกลงกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน (แอร์บัส และ โบอิ้ง) ขอเลื่อนการส่งมอบเครื่องบินมูลค่ารวมกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ไปเป็นช่วงหลังปี 2566 เพื่อปรับแผนให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของการเดินทางระหว่างประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ ปัจจุบัน SIA มีเครื่องบินบริการผู้โดยสาร 64 ลำ และเครื่องบินบรรทุกสินค้า 31 ลำ โดยจะเพิ่มจำนวนเที่ยวบินทั้ง 2 ประเภท เป็น 25 % ของจำนวนเที่ยวบินก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในเดือนเมษายน 2564

อีกทั้งเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 64 ทั้ง 3 สายการบินของกลุ่ม SIA ให้บริการเที่ยวบินแรกที่นักบินและลูกเรือทั้งลำได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 (Pfizer) ครบแล้วทั้ง 2 โดสแล้ว ซึ่งนับได้ว่าเป็นสายการบินแห่งแรกของโลกที่มีพนักงาน ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบทั้งหมดทั้งลำ อนึ่ง สายการบินฯ ระบุว่า นักบินและลูกเรือผู้ปฏิบัติงาน 90 % ได้ลงชื่อขอรับวัคซีนแล้ว ซึ่งนาย Goh ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วัคซีนเป็นกุญแจสำคัญในการเปิดเขตการเดินทางระหว่างประเทศ เพื่อการท่องเที่ยว และช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้เดินทาง ควบคู่กับมาตรการการจัดการความปลอดภัย (Safe Management Measures) ทั้งบนเครื่องบินและบริการภาคพื้นดิน

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 สายการบินฯ ได้เคลื่อนย้ายเครื่องบินแอร์บัส 380 จำนวน 1 ลำ จากสถานที่จอดพักเครื่องบินในเมืองอลิซสปริงส์ (Alice Springs) ออสเตรเลียกลับมาสิงคโปร์เพื่อดำเนินการปรับปรุง (retrofit) โดยจะเพิ่มจำนวนที่นั่งผู้โดยสารชั้นประหยัด และชั้นประหยัดพรีเมี่ยม (premium economy) มากขึ้น ตามแนวโน้มของธุรกิจการบินที่ผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจจะลดลง เนื่องจากนักธุรกิจปรับรูปแบบการประชุมและเจรจา ระหว่างประเทศเป็นแบบออนไลน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย SIA มีแผนปรับปรุงเครื่องบินแอร์บัส 380 อีก 2 ลำ ภายในปีงบประมาณ 2565 (1 เมษายน 2565 – 31 มีนาคม 2566) ซึ่งเครื่องบินประเภทดังกล่าว ได้จอดพักตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2563

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 64 SIA เป็นสายการบินแรกในโลกที่เข้าร่วม โครงการแอปพลิเคชั่น Travel Pass ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เพื่อการยืนยันภาวะสุขภาพของผู้เดินทาง โดยเริ่มทดลองใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวในเที่ยวบินสิงคโปร์ – ลอนดอน ระหว่างวันที่ 15 – 28 มีนาคม 2564 สำหรับซึ่งผู้ใช้งานสามารถระบุตัวตนทางดิจิทัล (digital ID) ประกอบด้วยรูปภาพและข้อมูลหนังสือเดินทาง ทั้งนี้ สิงคโปร์มีศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 7 แห่งที่สามารถอัพโหลดเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนฯ ไปยังแอปพลิเคชันดังกล่าวได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้นทดลองใช้ระบบ ลูกเรือและผู้เดินทางจะยังคงต้องนำเอกสารรับรองฉบับจริงไปแสดงต่อ เจ้าหน้าที่ด้วย โดยในขั้นต่อไป SIA มีแผนจะประยุกต์เทคโนโลยีด้านสาธารณสุขของ IATA รวมถึงแอปพลิเคชั่น Travel Pass มาใช้กับแอปพลิเคชัน SingaporeAir ของ SIA ในช่วงกลางปี 2564 เพื่ออำนวยความสะดวกผู้เดินทางและเป็นการส่งเสริมการเดินทางระหว่างประเทศอีกทางหนึ่ง


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง