
ธนาคารดิจิทัลของสิงคโปร์เริ่มทยอยเปิดให้บริการ
ธนาคารดิจิทัลของสิงคโปร์เริ่มทยอยเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 ซึ่งเป็นความคืบหน้าที่สำคัญของการเปิดเสรีภาคการธนาคารของสิงคโปร์ หลังจากที่เมื่อปี 2562 – 2563 ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ได้ประกาศอนุญาตจัดตั้งธนาคารดิจิทัล เพื่อให้วิสาหกิจที่ไม่ใช่ธนาคารหรือสถาบันการเงินสามารถจัดตั้งธนาคารดิจิทัลได้ ทั้งหมด 4 ราย โดยเป็นธนาคารค้าส่งดิจิทัล (Digital Wholesale Bank – DWB) 2 ราย และธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบ (Digital Full Bank – DFB) 2 ราย โดยธนาคารดิจิทัลจะให้บริการทางธนาคารในรูปแบบการทำธุรกรรมทางออนไลน์เท่านั้น ไม่มีการจัดตั้งสาขา และไม่มีเครื่องรับฝากและถอนเงินอัตโนมัติ นอกจากนี้ MAS ยังอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม คือ ธนาคาร Standard Chartered สิงคโปร์ ร่วมมือกับสหภาพแรงงานแห่งชาติสิงคโปร์ (National Trades Union Congress – NTUC) จัดตั้งธนาคารดิจิทัลเพิ่มเติมด้วย
ธนาคารค้าส่งดิจิทัลและธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบในสิงคโปร์
ธนาคารค้าส่งดิจิทัล เน้นให้บริการกลุ่มผู้ค้าส่งและธุรกิจ SMEs จำนวน 2 ราย ได้แก่(1) ธนาคาร Green Link Digital Bank (GLDB) กิจการค้าร่วมระหว่างบริษัท Greenland Financial และบริษัท Linklogis Hong Kong เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2565 ให้บริการทางการเงินบนเว็บไซต์ของธนาคารเพื่อแก้ไขปัญหาห่วงโซ่อุปทานของกลุ่มลูกค้า เช่น ผู้ค้าวัสดุก่อสร้างแบบยั่งยืนและธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ และ(2) ธนาคาร ANEXT โดยบริษัท Ant Group ในเครือ Alibaba ของจีน เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 เน้นการให้บริการที่เข้าถึงง่าย ปลอดภัย และใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงบริการบัญชีเงินฝากสองสกุลเงิน (dual-currency) ที่ปลอดภัย

นาย Sopnendu Mohanty ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายฟินเทคของ MAS (กลาง) และผู้บริหารระดับสูงของธนาคารดิจิทัล ANEXT
แหล่งที่มา: ANEXT
ธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบ เน้นให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อย เช่น การเปิดบัญชี การฝากเงิน บัตรเครดิต บัตรเดบิต และบริการสำหรับลูกค้าองค์กร จำนวน 2 ราย ได้แก่ (1) ธนาคารดิจิทัล GXS กิจการค้าร่วมระหว่างบริษัท Grab และบริษัท Singtel เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 ผลิตภัณฑ์แรก คือ บัญชีออมทรัพย์ GXS ที่ไม่กำหนดเงินฝากขั้นต่ำ และจ่ายดอกเบี้ยเป็นรายวันที่อัตรา 0.08% ต่อปี ฝากเงินสูงสุดได้ไม่เกิน 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ผู้ฝากเงินสามารถแบ่งกระเป๋าเงินภายในบัญชีออมทรัพย์สูงสุด 8 กระเป๋าเงิน ตามจุดประสงค์ของการฝากเงิน อาทิ เพื่อการศึกษา โดยให้ดอกเบี้ยเงินฝากในอัตรา 1.58% ต่อปี ธนาคารจะเน้นการบริการที่สนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการ แรงงานอิสระ (gig economy workers) และผู้ที่เพิ่งเริ่มทำงาน และยังมีแผนช่วยเหลือลูกค้าที่ดำเนินธุรกิจขนาดเล็กให้เข้าถึงเครดิตและการกู้เงินที่สะดวกขึ้น และ (2) ธนาคารดิจิทัล Maribank ของบริษัท Sea ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการสรรหาบุคลากรและยังไม่เปิดดำเนินการ แต่ตั้งเป้าหมายการให้บริการกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น รวมถึงผู้ที่ใช้แพลตฟอร์มของ Sea อยู่แล้ว เช่น อีคอมเมิร์ซ Shopee และผู้พัฒนาเกม Garena

แหล่งที่มา: GXS BANK (https://www.gxs.com.sg/news-press/gxs-bank-to-redefine-banking-services-with-singapores-first-digital-bank-for-consumers-and-businesses)
การเปิดให้บริการของธนาคารดิจิทัลอื่น ๆ ที่นำโดยธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม
เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 ธนาคาร Trust ได้เปิดให้บริการโดยเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคาร Standard Chartered (ถือหุ้น 60%) กับ NTUC (ถือหุ้น 40%) ให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสุงสุด 1.4% ต่อปี สำหรับเงินฝาก 50,000 ดอลลาร์สิงคโปร์แรก บัตรเดบิตที่ให้คะแนนสะสมแลกคืน (Linkpoint) 11% สำหรับสมาชิก NTUC และ 5% สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก บัตรเครดิตของธนาคารให้ Linkpoint สูงสุดถึง 21% สำหรับสมาชิก NTUC และ 15% สำหรับลูกค้าที่ไม่ใช่สมาชิก NTUC ไม่กำหนดเงินฝากขั้นต่ำ ไม่กำหนดการเข้าใช้งาน ไม่มีค่าธรรมเนียมใด ๆ โดยลูกค้าหลักของธนาคารคือคนที่อยู่ในระบบนิเวศน์ของ NTUC เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต Fairprice ประกันของ Income และระบบ Linkpoint

แหล่งที่มา: Trust Bank Singapore (https://www.facebook.com/trustbanksg)
ธนาคาร Trust มียังมีแผนที่จะให้บริการคนสิงคโปร์สูงอายุด้วยระบบดิจิทัลที่ไม่ซับซ้อน สิ่งที่แตกต่างจากธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบคือ ลูกค้าธนาคาร Trust สามารถถอนเงินสดได้ด้วยเครื่องถอนเงินอัตโนมัติของธนาคาร Standard Chartered 20 แห่ง และที่ซูเปอร์มาร์เก็ต Fairprice สาขา Vivocity โดยใช้ประโยชน์สูงสุดจากเครือข่ายลูกค้าของ FairPrice Group ทั้งลูกค้าซูเปอร์มาร์เก็ตและศูนย์อาหารที่มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคนต่อวัน
ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต
สำนักข่าว South China Morning Post ได้สำรวจความเห็นของนักวิชาการในสิงคโปร์เกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบ ซึ่งนักวิชาการของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) และสถาบัน INSEAD เห็นตรงกันว่า ธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยเน้นกลุ่มลูกค้าเฉพาะ เช่น กลุ่ม SMEs ซึ่งแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม นักวิชาการเชื่อว่าธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบอาจเติบโตได้ไม่ดีนักในสิงคโปร์ เนื่องจากบริการทางการเงินไม่ได้แตกต่างจากบริการดิจิทัลของธนาคารแบบดั้งเดิม สิ่งจูงใจ เช่น Linkpoint เพื่อให้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคใช้ในบ้านก็ไม่ได้ดึงดูดนัก เมื่อเทียบกับการเก็บไมล์สะสมเพื่อเดินทางไปต่างประเทศ กอปรกับกลุ่มผู้ไม่มีบัญชีธนาคารแบบดั้งเดิมในสิงคโปร์มีน้อย และส่วนใหญ่มีเหตุผลหนักแน่นที่จะไม่ใช้บริการของธนาคาร ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม ดังนั้น ธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบก็อาจไม่สามารถดึงดูดลูกค้ากลุ่มนี้ดังที่ตั้งใจไว้ได้ ในที่สุด เมื่อต้นทุนการดำเนินกิจการของธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบสูงขึ้น แต่กำไรที่ได้ไม่มากตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ก็จะมีการปิดตัวของธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบในสิงคโปร์
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เห็นว่า ตลาดในมาเลเซียซึ่งมีกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงธนาคารแบบดั้งเดิมได้เหมาะที่จะขยายกิจการธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบมากกว่า แม้จะมีความรู้ความชำนาญด้านการเงินและดิจิทัลน้อยกว่าประชากรในสิงคโปร์ ส่วนนักการตลาดของภาคเอกชน เช่น บริษัท EY เห็นว่า แนวโน้มของธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบในสิงคโปร์ย่อมขึ้นอยู่กับคุณภาพของบริการ การเข้าถึงได้ง่าย รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม และความสามารถในการขยายลูกค้าจากฐานธุรกิจเดิม เช่น Grab Singtel และ FairPrice เป็นต้น สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ รวมถึงความปลอดภัยในการให้บริการอย่างถี่ถ้วน ก่อนที่จะมีการออกหลักเกณฑ์การขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารดิจิทัลที่ชัดเจนต่อไป
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.straitstimes.com/business/banking/green-link-launches-as-singapores-first-digital-bank
Featured Image Source: Graphic by BIC (Image Sources: Trust Bank, GXS Bank, ANEXT Bank and GLDB)