อาหารจำนวนมากกลายเป็น ‘ขยะ’ ก่อนจะถึงมือผู้บริโภค อาหารบางส่วนถูกปฏิเสธเนื่องจากการควบคุมคุณภาพ หรือถูกกำจัดทิ้งเพราะใกล้วันหมดอายุ
นาย Travin Singh ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ‘CRUST’ กลับมองเห็นศักยภาพของอาหารส่วนเกินเหล่านี้ โดยเริ่มจากการนำขนมปังบาแก็ต (Baguette) ส่วนเกินจากร้าน Tiong Bahru Bakery ที่มีสาขาหลายแห่งในสิงคโปร์มาแปรรูปเป็นเบียร์ เรียกว่า “Beerguette” มีราคาระหว่าง 6 – 8.50 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อขวด (ประมาณ 150 – 190 บาท) ซึ่งราคาใกล้เคียงกับคราฟต์เบียร์ (Craft Beer) ยี่ห้ออื่นในสิงคโปร์ นอกจากขนมปังส่วนเกินแล้ว CRUST ยังใช้ข้าว ชา กาแฟ ผลไม้ และผักในการผลิตเบียร์ด้วย จนขยายสู่ตลาดญี่ปุ่นด้วยเบียร์ที่ทำจากข้าวและขนมปังส่วนเกิน

CRUST เริ่มต้นจากการเป็นธุรกิจผลิตเบียร์ แต่ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นธุรกิจเทคโนโลยีทางอาหารที่มองหาวิธีแก้ปัญหาขยะอาหาร โดยได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัย Bright Science Hub ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยบริษัทด้านสุขภาพและโภชนาการของเนเธอร์แลนด์ DSM ดำเนินการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับขยะหลากหลายประเภทเพื่อหาช่องทางแปรรูปเพิ่มเติม
นาย Anand Sundaresan รองประธานฝ่ายโภชนาการและสุขภาพมนุษย์ของ DSM ให้ความเห็นว่าขยะอาหารเป็นปัญหาที่ซ่อนเร้น เพราะคนมักจะไม่ทราบถึงปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งลงในหลุมฝังกลบ ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ/สังคมในระยะยาว เนื่องจากขยะอาหารที่ถูกทิ้งลงในหลุมฝังกลบจะสร้างก๊าซมีเทน (Methane) ซึ่งร้ายแรงกว่าก๊าซคาร์บอนถึง 21 เท่า
นอกจาก CRUST ที่เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะอาหารในสิงคโปร์ ปัจจุบัน ยังมีภาคเอกชนจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจเรื่องการลดอาหารขยะ จึงเกิดการรวมตัวในชุมชนริเริ่มโครงการรณรงค์ รวมถึงก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม เพื่อลดขยะอาหารในสิงคโปร์ เช่น
- Food from the Heart องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) ก่อตั้งเมื่อปี 2546 ริ่เริ่มโครงการ ‘Clean Plate’ ในโรงเรียนเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของขยะอาหาร โดย Clean Plate Ambassadors จะไปเยี่ยมโรงเรียนเพื่อแบ่งปันข่าวสารและปลูกฝังนิสัยการลด/ป้องกันการเกิดขยะอาหาร
- SG Food Rescue การรวมตัวกันของผู้ที่ส่งเสริมการลดขยะอาหารในสิงคโปร์ โดยจัดสรรอาหารแก่ผู้ที่เต็มใจจะบริโภค ก่อนที่จะกลายเป็นขยะ
- Foodprints @ South West ริเริ่มโดยสภาพัฒนาชุมชนตะวันตกเฉียงใต้ (South West Community Development Council) โดยจะมอบรางวัลให้องค์กร/หน่วยงานเขตตะวันตกเฉียงใต้ที่ดำเนินการลดปริมาณขยะอาหาร เช่น การออกแบบและติดโปสเตอร์การลดขยะอาหารรอบโรงเรียน และให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการโรงอาหารเกี่ยวกับวิธีจัดการและจัดเก็บอาหารที่ดี
- Community fridges โครงการตู้เย็นชุมชนเขต Queenstown Yishun และ Tampines โดยรณรงค์ให้ผู้พักอาศัยในเขตดังกล่าวบริจาคอาหารที่ไม่ต้องการแล้วแต่ยังบริโภคได้แทนการทิ้ง
- Foodscape Collective กลุ่มผู้สนใจการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น เช่น การจัดสรรอาหารส่วนเกินที่ยังไม่หมดอายุ และการทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารในครัว
- Treatsure แอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือแรกของสิงคโปร์ที่จัดสรรอาหารส่วนเกินจากธุรกิจและโรงแรมแก่ผู้บริโภคที่สนใจ เพื่อลดการเกิดขยะอาหาร
- TreeDots แพลตฟอร์มออนไลน์หรือ marketplace ที่จัดจำหน่ายสินค้าคงเหลือไปยังผู้บริโภค ตั้งแต่ปี 2560 TreeDots ช่วยลดการเกิดขยะอาหารถึงประมาณ 2,300 ตัน หรือเทียบเท่ากับอาหาร 23 ล้านมื้อ และเมื่อปี 2561 ได้รับเงินสนับสนุนสาขา Business Transformation and Improvement Grant (BTI Grant) จากมูลนิธิ DBS เพื่อพัฒนาธุรกิจด้วย
- UglyFood กิจการด้านอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสังคมที่พยายามลดขยะอาหารอันเป็นผลมาจากการคัดเลือกรูปลักษณ์อาหาร และพยายามเปลี่ยนความเชื่อเรื่องการเลือกซื้ออาหารจากรูปลักษณ์
- Good for Food ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ผลักดันให้โรงแรมและครัวเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อลดขยะอาหาร ต้นทุน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ เทคโนโลยีทางอาหารก็มีบทบาทสำคัญในการลดขยะอาหารเช่นกัน ยกตัวอย่างการศึกษาและวิจัยของสถาบัน Singapore-MIT Alliance for Research and Technology (SMART) โดยใช้ไหมจากรังไหมมาแปรรูปเป็นสารเคลือบป้องกันไม่ให้อาหารเน่าเปื่อย สารเคลือบดังกล่าวกันน้ำและรับประทานได้ ใช้ได้ผลดีกับผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ เช่น บวบ อะโวคาโด เชอร์รี่ เนื้อปลา และเนื้อวัว เป็นต้น ในขณะที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ได้แปรรูปใบสับปะรดให้กลายเป็นแอโรเจล (Aerogel) หรือของแข็งที่เบาที่สุดในโลก ซึ่งเมื่อใช้ร่วมกับผงถ่านกัมมันต์ (active carbon powder) จะสามารถชะลอเวลาไม่ให้อาหารเน่าเปื่อยได้อย่างน้อยสองสัปดาห์ อาทิ การยืดเวลาสุกของกล้วย ซึ่งสามารถใช้ถนอมผักและผลไม้ในระหว่างการขนส่งได้ด้วย
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์