เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 บริษัท ‘Carro’ ผู้จำหน่ายรถยนต์มือสองแบบครบวงจรของสิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการระดมทุนในซีรี่ส์ซี1 มูลค่า 360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (478 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์) โดยมีบริษัทผู้ร่วมทุน ได้แก่ SoftBank ของญี่ปุ่น EV Growth ของสิงคโปร์ และบริษัทเงินทุนของอินโดนีเซียหลายราย จนบริษัทฯ มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลายเป็นยูนิคอร์นรายล่าสุดในสิงคโปร์ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ต่อจาก Flash ของไทย) ในชั้นนี้ Carro ยังไม่ได้เปิดเผยตัวเลขการประเมินมูลค่าของบริษัทฯ

นาย Aaron Tan ประธานเจ้าหน้าบริหาร Carro กล่าวว่าบริษัทฯ ได้เริ่มเตรียมการสำหรับการเสนอขายหุ้นใหม่ต่อสาธารณชน (initial public offering – IPO) เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในช่วงกลางปี 2566 ในสหรัฐอเมริกา โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตลาดด้วย 

การให้บริการครบวงจรของ Carro ช่วยให้ลูกค้าและธุรกิจค้าส่งสามารถซื้อและจำหน่ายยานพาหนะ ควบคู่กับการให้บริการทางการเงินและประกันภัยรถยนต์ โดยบริษัทฯ จะใช้เงินทุนดังกล่าวเพื่อขยายธุรกิจเพิ่มเติมในไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ รวมถึงประเทศใหม่ เช่น เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ ที่ยังไม่เคยลงทุนด้วย นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะขยายบริการทางการเงิน และเร่งพัฒนาความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ข้อมูลภูมิหลังบริษัท Carro

ตั้งแต่ปี 2558 ที่ Carro ได้ก่อตั้งขึ้น บริษัทฯ ได้ระดมทุนรวมมูลค่ากว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐจาก
ผู้ถือหุ้น (equity) และ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการกู้ยืมเงิน โดยได้ระดมทุนจาก 1) SoftBank Ventures Asia 2) EDBI 3) Insignia Ventures Partners และ 4) B Capital Group

ต่อมาเมื่อปี 2559 SoftBank Group ได้ลงทุนกับ Carro เป็นครั้งแรกผ่าน SoftBank Ventures Asia ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนในเครือ นอกจากนี้ SoftBank Group ยังได้ลงทุนกับบริษัทให้บริการรถยนต์มือสองรายอื่น ได้แก่ Chehaoduo ของจีน และ Kavak ของเม็กซิโก Carro จึงเป็นบริษัทที่มีเครือข่ายพันธมิตรในการร่วมทุนในหลายประเทศ 

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 Carro ได้เปรียบจากผู้ซื้อที่เปลี่ยนไปทำธุรกรรมการซื้อรถยนต์ออนไลน์โดยไม่ต้องไปที่โชว์รูม รายได้ของ Carro จึงเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า จาก 117.8 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ปีงบประมาณ 2563 (เมษายน 2562 – มีนาคม 2563) เป็น 300 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เมื่อปีงบประมาณ 2564 (เมษายน 2563 – มีนาคม 2564) และ Ebitda (กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) เป็นบวกติดต่อกันสองปีงบประมาณ (เมษายน 2562 – มีนาคม 2564)

ปัจจุบัน Carro มีบุคลากรมากกว่า 1,000 คน โดยส่วนใหญ่รับผิดชอบการจำหน่าย และการตรวจสภาพรถ มีบุคลากรประมาณ 50 คน ที่รับผิดชอบด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและวิศวกรรม ซึ่งกำลังดำเนินการพัฒนา AI ให้สามารถตรวจสอบสภาพรถยนต์ ไปจนถึงการกำหนดราคาและรูปแบบสินเชื่อ ทั้งนี้ Carro ยังมุ่งขยายการให้บริการประกันภัยรถยนต์ โดยได้ตกลงเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับบริษัทประกันภัยรถยนต์ของรัฐบาลสิงคโปร์ NTUC Income และ Mitsui Sumitomo Insurance Group แล้ว

ข้อมูลเพิ่มเติม          

บริษัทข้อมูล VentureCap Insights ระบุว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 Carro ได้ระดมทุนมูลค่า 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐจาก Mitsubishi และ MS&AD Ventures ซึ่งส่งผลให้บริษัทฯ มีมูลค่าที่ 289.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ Carro มีบริษัท Fintech ในเครือ คือ ‘Genie Financial Services’ ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีเช่นกัน โดยมีรายได้เพิ่มขึ้น 46.5 % อยู่ที่ 10.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับปีงบประมาณ 2563 ในขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 48.4 % ประมาณ 4.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 Carro ร่วมกับ NTUC Income ได้เปิดตัวบริการ Usage-Based Insurance (UBI) โดยมีเป้าหมายเพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้ขับรถยนต์ในสิงคโปร์ ผ่านรูปแบบ ‘pay-as-you-drive’ หรือการจ่ายค่าธรรมเนียมสมาชิก (รวมค่าประกันภัยรถยนต์ ภาษีถนน ค่าบำรุงรักษายานพาหนะ และการให้ความช่วยเหลือทางถนนตลอด 24 ชั่วโมง) ตามระยะทางจริงที่ใช้รถยนต์ โดยใช้เทคโนโลยี telematics หรือระบบติดตามรถยนต์ซึ่งสามารถวัดระยะทางที่รถยนต์ขับเคลื่อนในแต่ละเดือน

เมื่อปี 2563 Carro มีส่วนแบ่งการตลาดติดอันดับ 1 ใน 3 ของวงการซื้อ – จำหน่ายรถยนต์มือสองในประเทศไทย เนื่องจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจออนไลน์ ปี 2564 Carro ขยายกิจการในประเทศไทย โดยเปิดรับบุคลากรเพิ่มกว่า 300 อัตรา หลายตำแหน่ง เช่น ฝ่ายการตลาด ฝ่ายขาย ฝ่ายไอที รวมถึงพนักงานประจำสาขา
ทั่วประเทศไทย

ข้อมูลล่าสุดจาก CB Insight ระบุว่า ปัจจุบันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี Startups ที่ในระดับยูนิคอร์น แล้ว 18 ราย โดยเป็นบริษัทในสิงคโปร์มากกว่าครึ่งหนึ่ง รวม 10 ราย ได้แก่ (1) Grab (2) SEA (3) Patsnap (4) Lazada (5) Trax (6) JustCo (7) Bigo (8) Acronis (9) Razer และ (10) Carro รองลงมาคือ อินโดนีเซีย 5 ราย เวียดนาม 2 ราย และไทย 1 รายดังปรากฏตามตารางด้านล่าง

แหล่งที่มา: CB Insights

1การระดมทุนในซีรี่ส์ซี หมายถึง Startups ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว และพร้อมสำหรับการเสนอขายหุ้นใหม่ต่อสาธารณะชน (initial public offering – IPO)


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง