แผน Industrial Transformation Map 2025 (ITM 2025) ภาคการค้าปลีกของสิงคโปร์

สิงคโปร์เริ่มประกาศใช้แผน Industrial Transformation Map (ITM) สำหรับภาคธุรกิจค้าปลีกฉบับแรกเมื่อปี 2559 พร้อมกับแผน ITM ด้านอื่น ๆ รวม 23 ภาคอุตสาหกรรม โดยเน้นเรื่องนวัตกรรม และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อยกระดับผลิตภาพในการแข่งขันในยุคโลกาภิวัตน์และอีคอมเมิร์ซ และเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา นางโล เยน ลิง (Low Yen Ling) Minister of State ประจำกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ได้ประกาศแผน ITM ฉบับใหม่ (ITM 2025) เพื่อใช้สำหรับภาคธุรกิจค้าปลีกสิงคโปร์

จากสถิติปี 2564 ผู้ประกอบการ SMEs ด้านธุรกิจค้าปลีกในสิงคโปร์จำนวน 9 ใน 10 ราย ได้เริ่มนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจค้าปลีกเพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของตนเอง โดยในช่วงเดือนมกราคม ถึง สิงหาคม 2565 ภาคการค้าปลีกของสิงคโปร์ (ไม่รวมสินค้าประเภทยานยนต์) มีรายได้รวมทั้งหมด 26.7 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

สาระสำคัญของแผน ITM 2025 ด้านการค้าปลีก

แผน ITM 2025 ด้านการค้าปลีก เน้นถึงความจำเป็นของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ ภาคธุรกิจค้าปลีกในสิงคโปร์จึงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เพื่อให้ก้าวทันกระแสธุรกิจและเศรษฐกิจโลกในช่วงหลังโควิด-19 โดยแผน ITM 2025 ประกอบด้วยนโยบายหลัก 4 ประการ ดังนี้

(1) การสนับสนุนสินค้าของสิงคโปร์และส่งเสริมการส่งออก ด้วยการผลักดันยี่ห้อหรือแบรนด์ของ สิงคโปร์ และส่งเสริมผู้ประกอบการสิงคโปร์ ให้สามารถลงทุนและส่งออกไปยังตลาดใหม่ ๆ ในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น หน่วยงาน Enterprise Singapore (ESG) ได้จัดทำโครงการ Scale-up SG เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบและข้อบังคับของประเทศต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ธุรกิจค้าปลีกของสิงคโปร์เติบโตในต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น อาทิ บริษัทเฟอร์นิเจอร์ Castlery  ของสิงคโปร์ ที่สามารถขยายตลาดในออสเตรเลียในปี 2560 และในสหรัฐฯ ในปี 2562 โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าภายใน 2 ปี นอกจากนี้ ESG ยังได้ริเริ่มโครงการ Made with Passion (MWP) เพื่อส่งเสริมสินค้าของสิงคโปร์ ด้วยการจัดแสดงสินค้าให้กับธุรกิจไลฟ์สไตล์ท้องถิ่น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้บริโภคจะได้ทราบถึงความเป็นมาของธุรกิจ ปัจจุบัน โครงการ MWP มีบริษัทที่เข้าร่วมแล้วมากกว่า 110 บริษัท

(2) การสนับสนุนความคิดริเริ่มและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยผู้ประกอบการที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้ตรงกับกระแสความนิยมของผู้บริโภคได้อย่างทันการณ์ จะทำให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว ทั้งการใช้แพลตฟอร์มการขายออนไลน์ และการจับทิศทางสินค้าเพื่อสุขภาพและสินค้าที่เกี่ยวกับความยั่งยืน ซึ่งกำลังได้รับความนิยมและเติบโตได้ดี ตัวอย่างเช่น ความร่วมมือระหว่างบริษัท Charles & Keith กับสายการบิน SIA ในการนำหนังหุ้มเบาะที่นั่งผู้โดยสารเครื่องบินเก่ากลับมาใช้ใหม่ในการผลิตกระเป๋าและรองเท้าอย่างสร้างสรรค์ ช่วยขยายตลาดกลุ่มผู้รักสิ่งแวดล้อม และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ธุรกิจ

(3) การส่งเสริมสิงคโปร์ให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจด้านไลฟ์สไตล์นานาชาติ โดยพัฒนาระบบนิเวศทางธุรกิจค้าปลีกให้น่าดึงดูดและเหมาะสมกับการเปิดสาขาในสิงคโปร์ เพื่อให้เกิดความร่วมมือและต่อยอดให้กับธุรกิจท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น การออกแบบเสื้อผ้าลายเป็ด ที่เป็นการ์ตูนสัญลักษณ์ของแบรนด์ขนม IRVINS ของ สิงคโปร์ ร่วมกับแบรนด์เสื้อผ้า Cotton On ของออสเตรเลีย ซึ่งช่วยเพิ่มการรับรู้และประชาสัมพันธ์ตราสินค้าในวงกว้างยิ่งขึ้น

(4) การพัฒนาศักยภาพและบทบาทหน้าที่ให้กับแรงงานสิงคโปร์ เพื่อรองรับการเติบโตของภาคธุรกิจค้าปลีก โดยรัฐบาลสิงคโปร์และผู้ประกอบการจะร่วมกันเสริมสร้างและพัฒนาทักษะแรงงานในสิงคโปร์ที่เน้นภาคการค้าปลีกอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาแรงงานจากต่างประเทศ และเพื่อให้แรงงาน สิงคโปร์ มีความพร้อมกับลักษณะงานใหม่ ๆ จากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกดิจิทัล เช่น การซื้อขายออนไลน์ การตลาดดิจิทัล ผู้จัดการแบรนด์สินค้า และนักออกแบบผลิตภัณฑ์ รัฐบาลสิงคโปร์ยังได้อนุมัติโครงสร้างค่าแรงที่สัมพันธ์กับระดับทักษะ Progressive Wage Model (PWM) และสนับสนุนเงินอุดหนุนด้านค่าแรงแก่ผู้ประกอบการในภาคการค้าปลีกด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อสังเกต

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2565 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ได้เผยแพร่รายงานประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ไตรมาสที่ 3/2565 ประเมินว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์เติบโตร้อยละ 4.4 แบบ Year-on-Year (YoY) และร้อยละ 1.5 แบบ Quarter-on-Quarter (QoQ) โดยภาคการค้าปลีก-ส่ง และภาคการขนส่งและการเก็บสินค้า เติบโตได้ที่สุดในทุกกลุ่มธุรกิจประมาณร้อยละ 4.2 แบบ QoQ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศ สวนทางกับภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่หดตัวร้อยละ 3.3 แบบ QoQ และภาคสารสนเทศ การสื่อสาร การเงิน และการประกันภัย ที่เติบโตเพียงร้อยละ 1.7  ในไตรมาสก่อนหน้า

รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้จัดทำโครงการ PWM เพื่อทยอยเพิ่มค่าแรงแก่แรงงานในธุรกิจค้าปลีกเป็นการเฉพาะ เฉลี่ยประมาณร้อยละ 8.4 – 8.5 ต่อปี เป็นเวลา 3 ปี (วันที่ 1 กันยายน 2565 – 31 สิงหาคม 2568) โดยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 พนักงานขายในร้านค้าปลีกและแคชเชียร์ทั่วไป จะต้องได้รับค่าแรงอย่างน้อย 1,850 ดอลลาร์ สิงคโปร์ต่อเดือน (ไม่รวมค่าล่วงเวลา) และเพิ่มเป็น 2,175 ดอลลาร์ สิงคโปร์ต่อเดือน ภายในเดือนสิงหาคม 2568 หากเป็น พนักงานอาวุโส ค่าแรงจะเพิ่มเป็น 2,395 ดอลลาร์ สิงคโปร์ต่อเดือน และระดับหัวหน้า ค่าแรงจะเพิ่มเป็น 2,635 ดอลลาร์ สิงคโปร์ต่อเดือน ภายใน 3 ปีต่อจากนี้

นอกจากนี้ สิงคโปร์ ได้จัดการจัดการแข่งขันรถยนต์สูตรหนึ่ง Formula One Singapore Grand Prix (F1) ระหว่างวันที่ 30 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 302,000 คน และได้จัดมหกรรมลดราคาสินค้า Great Singapore Sale (GSS) เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ระหว่างวันที่ 9 กันยายน – 30 ตุลาคม 2565 ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นการค้าปลีกในสิงคโปร์ และช่วยฟื้นฟูภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างยิ่งจากโควิด-19 ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก สายการบิน การคมนาคม และอาหารและเครื่องดื่ม


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง