
สิงคโปร์อัดจัดงานประชุมช่วง F1 ดึงนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว
การใช้ประโยชน์1จากการกลับมาของการแข่งขันเอฟวัน (Singapore Airlines Singapore Grand Prix F1) ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 นี้ ถือเป็นสัญญาณล่าสุดที่บ่งชี้ว่า สิงคโปร์กำลังกลับสู่ภาวะปกติก่อนการเกิดภาวะระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้บริหารระดับสูงหลายร้อยคน นักลงทุนเงินคริปโต และนักนวัตกรรม (Innovators) จำนวนมากและแม้แต่ดาราบอลลีวูด (Bollywood) ต่างเดินทางมายังสิงคโปร์เพื่อเข้าร่วมงานแสดง การประชุม (Meetings, Incentives, Conventions and Exhibitions : MICE) ขนาดใหญ่ต่างๆ ที่ต่างจัดขึ้นระหว่างนี้
คณะกรรมการการท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board : STB) กล่าวเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ว่า STB คาดว่าจะมีงาน MICE2 ประมาณ 25 งาน และมีผู้เข้าร่วมประชุมเกือบ 90,000 คน ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการแข่งขัน F1 ทั้งนี้ ปริมาณการจัดงาน MICE ดังกล่าว ใกล้เคียงกับระดับการจัดงานก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ บางส่วนของกิจกรรมเหล่านี้ได้ย้ายมาจากการจัดงานในฮ่องกงมายังสิงคโปร์ เนื่องจากผู้ร่วมงานต้องการงานประชุมแบบที่ได้เห็นหน้า (face to face meeting) และทำการปิดการซื้อขายด้วยตนเองใน งาน เช่น งาน SuperReturn Asia ซึ่งเป็นงานประชุมธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) โดยจัดขึ้นที่สิงคโปร์ระหว่างวันที่ 19-22 กันยายน 2565 โดยดึงดูดผู้เข้าร่วมงาน 1,500 คน หรือเกือบสองเท่าก่อนสถานการณ์การ แพร่ระบาดฯ ที่มีผู้เข้าร่วมงาน 800 คน ในปี 2562 อีกทั้งยังมีงาน Asia Crypto Week จัดขึ้นระหว่าง 26 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 โดยผู้จัดงานคาดว่า จะมีผู้เข้าร่วมงานราว 7,000 คน และบริษัทระดับโลกมากกว่า 2,000 แห่งเข้าร่วม ซึ่งจะทำให้งานดังกล่าว เป็นงานที่ใหญ่ที่สุดและมีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในอุตสาหกรรมคริปโตและบิตคอยน์ในรอบหลายปี ทั้งนี้ งานดังกล่าวจะเน้นการประชุมเกี่ยวกับคริปโตหรือที่เรียกว่า Token2049 ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 28-29 กันยายน 2565 ที่สิงคโปร์และจะมีงานที่จัดคล้ายคลึงกันที่ลอนดอนในเดือนพฤศจิกายน 2565
นาย Yap Chin Siang รองหัวหน้าผู้บริหารของ STB กล่าวว่า งาน F1 เป็นงานที่มีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม MICE ของสิงคโปร์เป็นอย่างมาก ในการดึงดูดกิจกรรมทางธุรกิจและนักเดินทางเพื่อธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงเดินทางมายังสิงคโปร์ การกลับมาอย่างเต็มรูปแบบของการแข่งขัน F1 และกิจกรรมทางธุรกิจ ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับอุตสาหกรรม MICE และแสดงให้เห็นถึงการดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องของสิงคโปร์ในฐานะจุดหมายปลายทางทั้งสำหรับธุรกิจและการพักผ่อน ทั้งนี้ ผู้จัดงานได้ให้ความสนใจที่จะขยายขนาดการจัดงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การฟื้นตัวของภาคส่วนธุรกิจ MICE นั้นเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

แหล่งที่มา: Singapore Grand Prix F1 (https://singaporegp.sg/en/news)
การประชุมขนาดใหญ่จำนวนมากได้เกิดขึ้นภายในช่วงนี้ เช่น (1) เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2565 นิตยสาร TIME ได้เปิดตัวการจัดการประชุมผู้นำ TIME100 Leadership Forum โดยมีวิทยากรอย่าง นาย Eric Schmidt อดีต ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Google (2) งานประชุม Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 20 ซึ่งได้มีผู้นำธุรกิจที่โดดเด่นกว่า 400 คนจากทั่วโลก งานประชุมดังกล่าวได้จัดขึ้นที่โรงแรม Ritz-Carlton Millenia ระหว่างวันที่ 26-27 กันยายน 2565 โดยมีการเสวนากับนาย Lawrence Wong รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมปาฐกถาพิเศษ โดยนาย Gautam Adani มหาเศรษฐีชาวอินเดียและประธาน Adani Group ซึ่งเป็นบุคคลที่รวยอันดับสองของโลก (3) งาน Milken Institute Asia Summit ประจำปีครั้งที่ 9 งานประชุมดังกล่าวได้จัดขึ้นที่โรงแรม Four Seasons ระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2565 เป็นการประชุมว่าด้วยเรื่องการจัดการผลกระทบทางลบบางประการ เช่น ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 1,200 คน และ(4) การประชุม Philanthropy Asia Summit ของมูลนิธิเทมาเส็ก (Temasek) ซึ่งมุ่งเน้นการเรียกร้องให้ดำเนินการเพื่อจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและชุมชนที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา: Forbes (https://www.forbes.com/sites/forbesasiateam/2022/10/26/forbes-global-ceo-conference-2022-key-insights-and-highlights/)
ข้อมูลเพิ่มเติม/ความคิดเห็นของ สคต.
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพจัดงาน MICE มากกว่า 150 งาน และมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 37,000 คน และตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป การจัดงาน MICE ไม่มีการจำกัดขนาดกลุ่ม ปริมาณคนร่วมงาน และไม่มีการเว้นระยะห่างอีกต่อไป และสำหรับงานขนาดใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 500 คน ไม่บังคับการสวมใส่หน้ากากอีกต่อไป แต่ผู้เข้าร่วมจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน ในช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อุตสาหกรรม MICE3 ก่อให้เกิดการว่าจ้างงานในสิงคโปร์ 34,000 ตำแหน่ง และรายได้ 3,800 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (100,130 ล้านบาท)4 คิดเป็น 0.8% ของเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งนี้ จากการปรับมาตรการต่างๆ ส่งผลให้ความพร้อมสิงคโปร์สามารถรองรับนักท่องเที่ยวทั้งในเชิงธุรกิจหรือพักผ่อน และการดึงดูดการจัดกิจกรรม MICE เพิ่มมากขึ้น
สำหรับไทยอุตสาหกรรม MICE ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ในปี 2562 อุตสาหกรรม MICE ได้สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยถึง 212,837 ล้านบาท5 จากนั้น อุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน มาตรการเริ่มผ่อนปรน และเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของการจัดกิจกรรม MICE ที่ต่างชาติให้การยอมรับ เพราะไทยมีข้อได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมต่อต่างๆ ดังนั้น ไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม MICE ได้เช่นกัน
1 การแข่งขัน F1 ส่งผลให้อุตสาหกรรมสถานบันเทิงกลางคืนของสิงคโปร์กลับมาคึกคักอีกครั้ง จากการจัดงานเลี้ยงหลังการแข่งขัน F1
2 อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) หรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการจัดประชุมองค์กรระดับนานาชาติ (M-Meetings) การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (I-Incentives) การประชุมนานาชาติ (C-Conventions) และการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติหรือเมกะอีเวนต์ (E-Exhibitions/Mega Events) MICE จึงเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพและมีกำลังซื้อสูง
4 1 เหรียญสิงคโปร์ เท่ากับ 26.35 บาท ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2565
5 https://www.mice-intelligence.com/theimpactofmice/
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.straitstimes.com/singapore/consumer/spore-plays-host-to-high-profile-conferences-and-industry-shakers-during-f1-week
- https://www.straitstimes.com/singapore/consumer/f1s-return-boosts-singapores-mice-industry-heavy-hitting-events-returning-around-race-period
- Featured Image Source: Forbes (https://www.forbesglobalceoconference.com/)