
สิงคโปร์และสหรัฐฯ ร่วมจัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมศักยภาพสตรีในธุรกิจเทคโนโลยี
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 นาง Josephine Teo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ (MCI) สิงคโปร์ และนาง Gina Raimondo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ร่วมกันแถลงเปิดโครงการความร่วมมือเพื่อสร้างเสริมศักยภาพด้านเทคโนโลยีแก่นักธุรกิจและผู้ประกอบการสตรีระหว่างสองประเทศ ระหว่างการประชุมหารือกับผู้นำตัวแทนนักธุรกิจสิงคโปร์ ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ สรุปสาระสำคัญ พร้อมข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต ดังนี้
รายละเอียดและจุดประสงค์ของโครงการ
ในระหว่างการเยือนสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการสัมมนาเชิงธุรกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศสิงคโปร์ ได้พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และประกาศจัดตั้งโครงการความร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างสตรีในธุรกิจเทคโนโลยี โดยมีจุดประสงค์หลักของโครงการ คือ (1) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนสตรีในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของทั้งสองประเทศ (2) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้านธุรกิจเทคโนโลยี และ (3) เพื่อสร้างเครือข่าย (networking) การขยายธุรกิจด้านเทคโนโลยีระหว่างผู้ประกอบการสตรีของสองประเทศ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการของสองฝ่ายยังได้จัดการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับนักธุรกิจและผู้ประกอบการสตรีในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีด้วย
โครงการนี้เป็นความร่วมมือเพิ่มเติมจาก Partnership for Growth and Innovation (PGI) สิงคโปร์ – สหรัฐฯ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2564 โดยเน้นเรื่องการเติบโตโดยรวมของเศรษฐกิจดิจิทัลและเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยรัฐมนตรีว่าการของสองฝ่ายได้แถลงเปิดตัวโครงการเครือข่ายสตรีในธุรกิจเทคโนโลยี ในช่วงการประชุม SelectUSA Investment Summit 2565 ซึ่งเป็นงานสัมมนาที่หน่วยงานภาครัฐของสหรัฐฯ จัดขึ้นเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ โดยมีตัวแทนนักธุรกิจสตรีของสิงคโปร์ เข้าร่วมการเปิดโครงการมากถึง 41 คน จาก 30 บริษัท หนึ่งในนั้นคือ นาง Lin Fengru เจ้าของธุรกิจ start-up TurtleTree ที่ผลิตนมจากเทคโนโลยีชีวภาพ ที่ขณะนี้มีโรงงานผลิตทั้งในสิงคโปร์และสหรัฐฯ และกำลังหาโอกาสในการขยายกิจการเพิ่มเติม

แหล่งที่มา: The Straits Times (Photo: MCI)
(https://www.straitstimes.com/world/singapore-us-launch-networking-programme-for-women-in-tech)
หลักการและแนวทางความร่วมมือของโครงการ
การสร้างเครือข่ายสตรีของทั้งสองประเทศ เพื่อช่วยเชื่อมโยงและสร้างโอกาสใหม่ ๆ ระหว่างกัน โดยเฉพาะสิงคโปร์ ที่เป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเศรษฐกิจดิจิทัลที่คาดว่าจะมีมูลค่ามากถึง 360 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 อีกทั้งเป็นที่ตั้งของยูนิคอร์นเกือบครึ่งของจำนวนยูนิคอร์นทั้งหมด 35 ยูนิคอร์นในภูมิภาคนี้ สิงคโปร์จึงเป็นศูนย์กลางเพื่อเชื่อมโยง สร้างเครือข่าย และต่อยอดในการขยายฐานธุรกิจของนักธุรกิจและผู้ประกอบการสตรีที่ร่วมโครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เป็นอย่างดี
การใช้ระบบพี่เลี้ยง (mentoring) การจัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (workshops) และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ เจ้าของธุรกิจและผู้ประกอบการสตรีของทั้งสองประเทศ ให้สามารถเติบโตและประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อให้รู้จักระบบนิเวศน์ในการลงทุนของทั้งสองประเทศ จากประสบการณ์จริงของทั้งสองฝ่าย เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็นระหว่างกัน เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ และพัฒนาบทบาทและศักยภาพสตรีของทั้งสองประเทศ ให้มีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันด้านธุรกิจเทคโนโลยีในระดับประเทศและนานาชาติได้สำเร็จ
ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อสังเกต
นอกจากนาง Teo จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศสิงคโปร์แล้ว ยังควบตำแหน่งรัฐมนตรีรับผิดชอบด้านชาติอัจฉริยะและความมั่นคงทางไซเบอร์ (Minister-in-charge of Smart Nation and Cyber Security) สืบแทน Dr. Vivian Balakrishnan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา โดยมีบทบาทนำในการส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและเมืองอัจฉริยะกับต่างประเทศด้วย
ปัจจุบัน สิงคโปร์มีสตรีที่ทำงานด้านเทคโนโลยีประมาณร้อยละ 41 ของแรงงานในภาคเทคโนโลยีทั้งหมด ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 28 ขณะที่สหรัฐฯ มีแรงงานสตรีประมาณร้อยละ 26 ของแรงงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ สิงคโปร์มีสตรีทำงานด้านเทคโนโลยีมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลสิงคโปร์ตระหนักถึงความไม่สมดุลระหว่างชายและหญิงในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี จึงมุ่งมั่นให้ความสำคัญในการสร้างความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น

รัฐบาลสิงคโปร์ ได้ริเริ่มโครงการ SG Women in Tech (SGWiT) เป็นโครงการที่ริเริ่มโดย Infocomm Media Development Authority (IMDA) ในปี 2562 ภายใต้การดูแลของ MCI สิงคโปร์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาและสนับสนุนสตรีให้มาสนใจสายงานอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมากขึ้น ในปี 2564 SGWiT ได้คิดโครงการปฏิญาณ SGWiT Corporate Pledge เพื่อให้บริษัทต่าง ๆ ให้คำมั่นสัญญาว่าจะสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานเพื่อสนับสนุนเกื้อกูลสตรีให้ทำงานด้านเทคโนโลยีให้มากขึ้น ปัจจุบันมีบริษัทที่ร่วมปฏิญาณนี้แล้วกว่า 50 บริษัท
ไทยมีเจ้าของธุรกิจที่เป็นสตรีประมาณร้อยละ 23.7 และจากสถิติ เมื่อพูดถึงบทบาทของสตรีในฐานะผู้นำทางธุรกิจ ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยนักธุรกิจหญิงมีแนวโน้มที่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้นำหรือผู้บริหารด้านธุรกิจเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเทคโนโลยีจากแนวคิดของสตรีไทย เช่น “คิดส์อัพ” (Kids Up) แอปพลิเคชันแก้ปัญหาจราจรหน้าโรงเรียน และ“ฟินแก๊ส” (FinGas) แอปพลิเคชันที่สร้างจุดเปลี่ยนให้กับธุรกิจแก๊สหุงต้มของประเทศ
หากประเทศไทยจะพัฒนาความร่วมมือในลักษณะเดียวกันกับต่างประเทศก็จะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มนักธุรกิจสตรีไทยในภาคเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดด้านการสนับสนุนผู้ประกอบการในไทยยังสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างสำหรับการพัฒนาสตรี ดังนั้น พันธมิตรที่เกี่ยวข้องจึงควรร่วมมือกัน จัดทำหลักสูตร สัมมนา หรือ สร้างเครือข่าย เพื่อเพิ่มพูนทักษะและพัฒนาด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมให้กับสตรีมากขึ้น รวมถึงหาโอกาสสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อนำประเทศไปสู่ความเจริญและความสำเร็จด้านเทคโนโลยีด้วยความเท่าเทียมและยั่งยืนของไทย
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.straitstimes.com/world/singapore-us-launch-networking-programme-for-women-in-tech
- https://www.imda.gov.sg/news-and-events/Media-Room/Media-Releases/2021/SG-women-in-tech-corporate-pledge-initiative
- Featured Image Source: The Straits Times (Photo: MCI)