ตั้งแต่ปี 2558 สิงคโปร์ได้เริ่มโครงการพัฒนาท่าเรือ Tuas โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 4 เฟส ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและกลายเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2583 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 นาย S Iswaran รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ และนาย Chee Hong Tat รัฐมนตรีอาวุโสประจำกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ ได้กล่าวประกาศการเสร็จสมบูรณ์ของการก่อสร้างท่าเรือ Tuas เฟสที่ 1 ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใช้ระบบอัจฉริยะขนาดใหญ่ทางฝั่งตะวันตกของสิงคโปร์ และเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมครบรอบ 25 ปีของการก่อตั้งกรมเจ้าท่าสิงคโปร์ (Maritime and Port Authority of Singapore – MPA)

การท่าเรือแห่งสิงคโปร์ (Port of Singapore Authority – PSA) ได้แต่งตั้งผู้รับเหมาก่อสร้าง คือ บริษัท Dredging International Asia Pacific และบริษัท Daelim Industrial และบริษัท Surbana Jurong เป็นที่ปรึกษาโครงการ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 โดยเริ่มปรับปรุงดินในพื้นที่ 414 เฮกตาร์ ถมทะเลเพื่อให้เป็นที่ดินจำนวน 294 เฮกตาร์ (ขนาดประมาณสนามฟุตบอล 412 สนาม) ติดตั้งกล่องเคซอง (caissons) เพื่อวางฐานของท่าเรือสูง 10 ชั้น จำนวน 221 แห่ง แต่ละกล่องมีน้ำหนัก 15,000 ตัน สร้างเป็นกำแพงกั้นน้ำทะเลความยาว 8.6 กิโลเมตร เท่ากับความลึกของทะเลเพื่อรองรับเรือขนาดใหญ่ โดยใช้แรงงานทั้งสิ้น 34 ล้านชั่วโมง จากกว่า 450 บริษัทในการดำเนินโครงการ

แหล่งที่มา: Straits Times Photo and Graphics

ท่าเรือ Tuas เฟสที่ 1 มีท่าเทียบเรือน้ำลึก 21 ท่า สามารถรองรับสินค้า 20 ล้าน TEUs (Twenty-foot Equivalent Units) ต่อปี ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญ และแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของสิงคโปร์ท่ามกลางภาวะวิกฤติโรคระบาด
ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อห่วงโซ่อุปทานโลก และเป็นการเน้นย้ำสถานะของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางท่าเรือระดับโลกที่เชื่อถือได้และได้รับความไว้วางใจจากพันธมิตรทั่วโลก และสะท้อนถึงความพร้อมของสิงคโปร์ในอนาคต

PSA จะดำเนินการงานถมดินสำหรับเฟสที่ 2 ต่อไปตามกำหนด และเริ่มการวางแผนสำหรับเฟสที่ 3 เมื่อสร้างแล้วเสร็จครบ 4 เฟสในปี 2583 ซึ่งจะทำให้ท่าเรือ Tuas สามารถรองรับการขนส่งสินค้าได้ปริมาณมากกว่า 65 ล้าน TEUs ต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 2564 ที่สามารถรองรับได้ 37.2 ล้าน TEUs ต่อปี ประมาณการมูลค่าก่อสร้างของทั้ง 4 เฟส ประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ท่าเรือ Tuas จะเป็นท่าเรืออัตโนมัติที่ชาญฉลาดและยั่งยืน โดยติดตั้งเครนสนามไฟฟ้าแบบอัตโนมัติและยานพาหนะไร้คนขับเพื่อขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งยังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ระบบการจัดการจราจรบนเรือที่ทันสมัย และ digitalPORT@SGTM พอร์ทัลแบบครบวงจรสำหรับการเคลียร์พอร์ตและธุรกรรมด้านกฎระเบียบอื่น ๆ ตลอดจนบริการที่ทันท่วงที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของท่าเรือ และลดเวลาในการดำเนินการในเขตท่าเรือ (turnaround time)

ข้อมูลเพิ่มเติม

MPA ดำเนินการก่อสร้างท่าเรือ Tuas เฟสที่ 1 ในรูปแบบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดย 50% ของวัสดุก่อสร้างเป็นวัสดุขุดลอกจากก้นทะเลหรือขุดจากโครงการก่อสร้างภาคพื้นดินอื่น ๆ ร่วมกับการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี เช่น โดรน AI เพื่อสำรวจพื้นที่ ซึ่งช่วยให้ต้นทุนในการก่อสร้างลดลง MPA คาดว่า การลงทุนที่เน้นสิ่งแวดล้อมดังกล่าวจะช่วยให้สิงคโปร์ประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างท่าเรือ Tuas ได้มากถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์      


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง