สิงคโปร์และจีนได้จัดการประชุม Joint Council for Bilateral Cooperation (JCBC) ครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระดับสูงสุดระหว่างกันที่จัดเป็นประจำทุกปี โดยมีนายเฮง ซวีเกียต (Heng Swee Keat) รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์และรัฐมนตรีประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจสิงคโปร์ และนายหาน เจิ้ง (Han Zheng) รองนายกรัฐมนตรีจีน และสมาชิกประจำคณะกรรมการกรมการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นประธานร่วมกัน

การหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กับรองนายกรัฐมนตรีจีน

ก่อนหน้าการประชุม JCBC รองนายกรัฐมนตรีของสองประเทศได้พบหารือทวิภาคีผ่านระบบการประชุมทางไกล สองฝ่ายต่างพอใจกับภาพรวมความสัมพันธ์ และความร่วมมือทวิภาคี ซึ่งคืบหน้าด้วยดีในทุกด้าน โดยเฉพาะในด้าน เศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาที่ยั่งยืน รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์หวังว่า จีนจะพิจารณาฟื้นฟูการเดินทางระหว่างประเทศกับสิงคโปร์เป็นประเทศแรก เพื่ออำนวยความสะดวกการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนสองประเทศในโอกาสแรก  พร้อมทั้งแสดงความพร้อมของสิงคโปร์ที่จะเป็น “connecting travel hub” สำหรับคณะผู้นำและคณะนักกีฬาจากทั่วโลกที่จะแวะพักเปลี่ยนเครื่องเพื่อไปเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่จีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และหวังว่าจะใช้โอกาสนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดการเดินทางระหว่างสองประเทศ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีจีนสนับสนุนการฟื้นฟูการเดินทางข้ามพรมแดนที่ปลอดภัย โดยให้มีการหารือกันในระดับเจ้าหน้าที่ (สำนักงานการบินพลเรือน) ต่อไป 

รองนายกรัฐมนตรีจีนกล่าวเน้นเรื่องการค้าที่เสรีและเปิดกว้างและความร่วมมือ RCEP ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2565 ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนบูรณภาพทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในเชิงลึก สองฝ่ายยังได้เห็นพ้องที่จะผลักดัน ความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีจีน – สิงคโปร์ (CSFTA) ซึ่งมีมาตรฐานสูง เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนที่เสรีระหว่างกันด้วย โดย รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ยินดีที่จีนได้ยื่นคำขอเข้าเป็นสมาชิก CPTPP และเข้าร่วมความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลพหุภาคี (DEPA) ระหว่างสิงคโปร์ ชิลี และนิวซีแลนด์ (ตามที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงประกาศในการประชุมผู้นำ G20 ที่กรุงโรม เมื่อ 30 ตุลาคม 2564)

สองฝ่ายยินดีกับการเกิดของลูกหมีแพนด้า “เล่อเล่อ” (叻叻) ในสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คู่หมีแพนด้า “ขายข่าย” (凯凯) และ “เจียเจีย”(嘉嘉) ที่สิงคโปร์ได้ยืมจีนมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 ได้ให้กำเนิดลูกหมีแพนด้าในสวนสัตว์สิงคโปร์ (ชื่อเล่อเล่อชนะการลงคะแนนเสียงของประชาชนสิงคโปร์ที่ต่างรอต้อนรับ โดยมาจากคำว่า “สือเล่อโพ” (石叻坡) ชื่อภาษาจีนในอดีตของสิงคโปร์/แปลเป็นภาษามลายูว่า Selat หรือ Strait) ถือเป็นความสำเร็จของการทูตหมีแพนด้า

แหล่งที่มา : Photo: Ministry of Communications and Information

การประชุม JCBC สิงคโปร์ – จีน ครั้งที่ 17

ประเด็นสำคัญของการประชุม JCBC ครั้งที่ 17 สองฝ่ายเน้นเรื่อง (1) ยุทธศาสตร์ BRI (2) ความยั่งยืนทาง เศรษฐกิจและการค้า (3) การเงิน (4) นวัตกรรม (5) สาธารณสุข และ (6) การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน โดยเห็นควรเพิ่มพูน“ความร่วมมือด้านนวัตกรรม” ให้เป็นเสาหลักใหม่ของความร่วมมือในยุคดิจิทัล ทั้งในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เมืองอัจฉิรยะ และวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

นอกจากความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ BRI แล้ว สิงคโปร์ยังให้ความสำคัญกับกระบวนทัศน์การพัฒนาใหม่ (New Development Paradigm ซึ่งจีนเน้นมากขึ้นตามแผนพัฒนาฯ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14) และยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน (Dual Circulation) ของจีน เพื่อส่งเสริมโอกาสในการเติบโตใหม่ ๆ ร่วมกัน ตลอดจนการพัฒนาสีเขียว ซึ่งรวมถึง เศรษฐกิจหมุนเวียน พลังงานทดแทน การเงินสีเขียว และโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และความร่วมมือด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

นายกาน คิม ยอง (Gan Kim Yong) รัฐมนตรีว่าการการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ แจ้งที่ประชุมฯ ว่า สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการรักษาห่วงโซ่อุปทานโลกเป็นลำดับต้น โดยเฉพาะในสินค้าจำเป็น อาทิ อาหาร เมื่อปีที่แล้วสิงคโปร์ได้เพิ่มบริษัท suppliers ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังจีน จำนวน 7 ราย และเสนอให้สองฝ่ายร่วมกันจัดตั้งศูนย์การตรวจสอบคุณภาพก้าวหน้า (forward inspection hub) ในสิงคโปร์ เพื่อประหยัดเวลาในการตรวจสอบและจัดการผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในท่าเรือของจีน

นายชาน ชุน ซิง (Chan Chun Sing) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ รายงานเรื่องความร่วมมือเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษาว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 สองประเทศได้ลงนามความตกลงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาฝึกงาน (Agreement for China-Singapore Youth Interns Exchange Scheme) ทั้งนี้ ฝ่ายสิงคโปร์ประสงค์จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนของนักเรียนอาชีวะและช่างกล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการศึกษาผู้ใหญ่ (Continuing Education and Trainings – CET) ด้วย

ก่อนหน้าการประชุมฯ 1 วัน รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้เผยแพร่บทความข้อคิดเห็น (Op-ed) ทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาจีน เกี่ยวกับความสัมพันธ์สิงคโปร์ – จีน บนพื้นฐานของ JCBC โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่

(1) การส่งเสริมยุทธศาสตร์ของจีน สิงคโปร์สามารถส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาใหม่และวงจรคู่ขนานของจีนได้ โดยช่วยเชื่อมโยงจีนกับเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ในภูมิภาค อาทิ โครงการ CCI – New International Land-Sea Trade Corridor (ILSTC) ซึ่งเชื่อมโยงภาคตะวันตกของจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งในด้านการขนส่งสินค้าแบบกายภาพและการค้าดิจิทัลที่มีการลื่นไหลของข้อมูลดิจิทัล (paperless documentation) โดยฝ่ายสิงคโปร์ยินดีที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 การขนส่งสินค้า (cargo flows) ระหว่างจีนกับ New ILSTC มีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 แม้จะยังอยู่ในช่วงโควิด-19

(2) ความเชื่อมโยงดิจิทัล สิงคโปร์เห็นว่าจีนเป็นผู้นำด้านดิจิทัลของโลก โดยเศรษฐกิจดิจิทัลคิดเป็น 1 ใน 3 ของ GDP ของจีน ในขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2568 (ค.ศ. 2025) สิงคโปร์จึงประสงค์ส่งเสริมความร่วมมือด้านดิจิทัลกับจีนทั้งในแบบทวิภาคี (อาทิ โครงการ Shenzhen Smart City Initiative ตามที่ฝ่ายจีนเสนอ) อาเซียน และกรอบพหุภาคี (DEPA)

(3) ความเชื่อมโยงทางสังคม เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างเผชิญกับความท้าทายด้านสังคมร่วมกัน อาทิ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สองฝ่ายจึงเห็นควรกระชับความร่วมมือในด้านสังคมยิ่งขึ้น รวมถึงการแลกเปลี่ยนการดำเนินนโยบายด้านสังคม และการส่งเสริมการไปมาหาสู่กันของประชาชน ซึ่งสิงคโปร์หวังว่าจะได้ร่วมมือกับจีนเพื่อส่งเสริมการเดินทางทางอากาศ (เพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มภายในสิงคโปร์) และหวังว่าจีนจะพิจารณาจัดทำความร่วมมือด้านการรับรองเอกสารวัคซีนโควิด-19 กับสิงคโปร์ในโอกาสแรก

(4) การพัฒนาที่ยั่งยืน สิงคโปร์เห็นว่า แผน Singapore Green Plan 2030 สามารถเกื้อกูลแผน “1+N” policy framework เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนใน ค.ศ. 2060 ของจีนได้

เอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ จำนวน 14 ฉบับ ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ การค้า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กฎหมาย และสังคม ได้แก่

(1) Cooperation Plan on China-Singapore (Chongqing) Connectivity Initiative – New International Land-Sea Trade Corridor (CCI ILSTC) (2) MOU on Urban Governance, Urban Planning and Management (3) MOU on Knowledge Sharing (4) 9th Executive Programme on Cultural Cooperation (2022-2024) (5) MOU on “Single Window” Interconnection Consortium Blockchain (6) Joint Paper on pursuing Green and Low-Carbon Development (7) MOU on Cooperation in Competition Law (8) MOU on Nature Conservation(9) MOU on “Garden City” Project in the Sino-Singapore Tianjin Eco City (10) MOU relating to Electronic Certificates for Ships and Seafarers (11) MOU to Support the Establishment of the SIP International Business Cooperation Centre (Singapore) (12) Cooperation Agreement to establish the National University of Singapore Guangzhou Research Translation and Innovation Institute (13) MOU to establish an exchange-traded funds (ETF) Product Link และ (14) Announcement of collaboration on commodity derivatives

แหล่งที่มา : Xinhuanews

การประชุม Joint Steering Committee (JSC) ที่เกี่ยวข้อง

(1) การประชุม Suzhou Industrial Park (SIP) JSC ครั้งที่ 22

สิงคโปร์และจีนดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรม SIP มากว่า 27 ปี มูลค่าการลงทุนในปีที่ผ่านมายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้จะได้รับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีมูลค่า output value กว่า 500,000 ล้านหยวน (105,437 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์) ในปี 2563 โดยบริษัทเทคโนโลยีคิดเป็นร้อยละ 72.4 ของอุตสาหกรรมทั้งหมด โดย SIP มีบริษัทเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนตลอดปี 2564 มากกว่า 2,000 บริษัท บริษัทของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำด้าน microelectromechanical systems จำนวน 5 จาก 10 บริษัทก็ดำเนินกิจการใน SIP ด้วย

มณฑลเจียงซูซึ่งเป็นที่ตั้งของ SIP ถือเป็นอันดับ 2 ของมณฑล/นครในจีนที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัลสูงสุดในจีน หรือมากกว่า 4 ล้านล้านหยวน คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 40 ของ GDP ของมณฑลฯ โดยสิงคโปร์กับมณฑลเจียงซูมีมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2563 มูลค่าการค้าสินค้ารวม 19,364 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (14,270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 (แบบ YoY) จากปีก่อนหน้า ในด้านการลงทุน สิงคโปร์ลงทุนในมณฑลเจียงซูกว่า 3,700 โครงการ มูลค่ารวม 26,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่มณฑลเจียงซูลงทุนในสิงคโปร์ 290 โครงการ มูลค่ารวม 3,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากรายงานของสำนักข่าว CNA ปัจจุบัน SIP มีเนื้อที่ 278 ตารางกิโลเมตร ประชากร 11.3 ล้านคน และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2562 โดยเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่เน้นด้านการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ AI  ชีวการแพทย์ นาโนเทคโนโลยี การผลิตขั้นสูง และการบริการที่ทันสมัย ภายใต้หลักการจัดการแบบ “One Zone, Two Centers” ได้แก่ (1) the National Third-generation Semiconductor Technology Innovation Centre (2) National Biotechnology Innovation Centre (3) the National Pilot for Innovation and Development of New Generation Artificial Intelligence

(2) การประชุม Sino-Singapore Tianjin Eco-City (SSTEC) JSC ครั้งที่ 13

สองฝ่ายหารือเรื่องการพัฒนาโครงการเมืองอัจฉริยะและเมืองเชิงนิเวศ (Smart and Eco-City) ในนครเทียนจิน โดยเน้นด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งการจัดการลดขยะเป็นศูนย์ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติสิงคโปร์ (NParks) จะดำเนินความร่วมมือให้นครเทียนจินกลายเป็น “Garden City” ด้วย

(3) การประชุม Singapore-China (Chongqing) Connectivity Initiative (CCI) JSC ครั้งที่ 5

สิงคโปร์และจีนมั่นใจว่า CCI จะมีบทบาทนำในการเชื่อมโยงภาคตะวันตกของจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการพัฒนาร่วมกันโดยเฉพาะใน 4 สาขาเป้าหมาย [(1) บริการการเงิน (2) การบิน (3) คมนาคมและโลจิสติกส์ และ (4) ICT] ซึ่งในปี 2564 สองฝ่ายได้จัดทำแผน CCI-ILSTC และอยู่ระหว่างการจัดทำโครงการที่เป็นรูปธรรมต่อทั้งสองประเทศ

จากรายงานข่าวของสำนักข่าว Xinhua โครงการ CCI มุ่งเน้นความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล ผ่านโครงการ China-Singapore (Chongqing) International Dedicated Connectivity (IDC) ซึ่งเป็นโครงการแรกที่รัฐบาลจีนอนุมัติให้ดำเนินการกับต่างชาติ โดยนครฉงชิ่งได้จัดงาน IDC forum ภายในมหกรรม Smart China Expo (SCE) เมื่อปี 2564 โดยมณฑลเสฉวน มณฑลยูนนาน มณฑลกุ้ยโจว และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงประกาศขอเข้าร่วมโครงการ IDC ด้วย ซึ่งนครฉงชิ่งมีแผนจะเชื่อมโยง IDCกับโครงการ Big Data Application and Development Administration ของตนต่อไป

(4) โครงการอื่น ๆ

ที่ประชุมฯ แสดงความยินดีต่อผลการประชุม Singapore-China (Shenzhen) Smart City Initiative (SCI) Joint Implementation Committee ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งสิงคโปร์กับนครเซินเจิ้นได้ลงนาม MoU จำนวน 4 ฉบับ ครอบคลุมด้านใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิก์ Internet of Things และ blockchain

โครงการ China – Singapore (Guangzhou) Knowledge City (CSGKC) ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2562 มีความคืบหน้าด้วยดี โดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) จะจัดตั้งสถาบันวิจัย NUS Guangzhou Research Translation and Innovation Institute (NUSGRTII) ด้วยเงินทุน 550 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (2,630 ล้านหยวน) โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาบุคลากร การสนับสนุน start-ups และการจัดหลักสูตรสำหรับประชาชนในกว่างโจวและ Greater Bay Area โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2565 NUSGRTII จะฝึกอบรมนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก และ Post-doctoral ของจีนจำนวน 3,200 คน

แหล่งที่มา : Xinhuanews

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

ฝ่ายสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการประชุม JCBC สิงคโปร์ – จีนอย่างยิ่ง โดยเป็นเวทีเพื่อทบทวนความคืบหน้าและวางเป้าหมายของความร่วมมือประจำปีระหว่างกัน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ แจ้งว่าการประชุมฯ ในปีนี้มีจำนวนเอกสารผลลัพธ์สูงที่สุดตั้งแต่ที่เริ่มมีการประชุมฯ เมื่อปี 2547 ทั้งนี้ ฝ่ายสิงคโปร์มีผู้แทนระดับรัฐมนตรีว่าการขึ้นไป (cabinet ministers) เข้าร่วมรวม 10 คน ซึ่งรวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการการสื่อสารฯ รัฐมนตรีว่าการการพัฒนาประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

สิงคโปร์ยังคงเป็นประเทศผู้ลงทุนอับดับ 1 ของจีน (เข้าสู่ปีที่ 9) โดย Temasek Annual Report 2021 เปิดเผยว่าจีนยังเป็นเป้าหมายการลงทุนในต่างประเทศสูงสุดของ Temasek คิดเป็นร้อยละ 27 ของการลงทุนทั้งหมด

ในด้านการเงิน ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ได้จัดทำความร่วมมือกับจีนเพิ่มเติมในด้าน ETF Connect การเงินสีเขียว Bond platform linkage และ commodity derivatives ซึ่งเป็นประเด็นที่สื่อมวลชนสายการลงทุนให้ความสนใจ  


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง