นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์นำคณะนักธุรกิจเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ มุ่งส่งเสริมการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์ระหว่างกัน

นาง Jacinda Ardern นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 18 – 20 เมษายน 2565 โดยมีนาย Damien O’Cornor รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจนิวซีแลนด์ และคณะนักธุรกิจนิวซีแลนด์ชั้นนำ 13 รายร่วมคณะด้วย จุดประสงค์หลักของการเยือน คือ การส่งเสริมการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับสิงคโปร์1 ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของนิวซีแลนด์ในอาเซียน และเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของนิวซีแลนด์จากทุกประเทศทั่วโลก2 ซึ่งนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เลือกสิงคโปร์เป็นที่หมายการเยือนต่างประเทศแห่งแรก หลังจากที่ได้ปักหลักในประเทศเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 มายาวนานกว่า 2 ปี

ในการเยือนสิงคโปร์ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ได้เข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดีแห่งสิงคโปร์ และพบหารือกับนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ รวมทั้งเข้าร่วมงานสัมมนาส่งเสริมการค้าการลงทุนและงานเลี้ยงอาหารค่ำที่จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำสิงค์โปร์ นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมท่าเรือและเปิดซุ้มประตู Kuwaha ที่สวนพฤกษศาสตร์ Gardens by the Bay สรุปสาระสำคัญของการพัฒนาความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์ – นิวซีแลนด์ ดังนี้

1. การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า

1.1 ภาพรวมความสัมพันธ์ฯ นายกรัฐมนตรีของสองประเทศยินดีที่ความสัมพันธ์ Enhanced Partnership (EP) ซึ่งได้ลงนามปฏิญญากันเมื่อปี 2562 มีความคืบหน้าที่ดี ทั้ง 4 สาขา คือ (1) การค้าและเศรษฐกิจ (2) ความมั่นคงและกลาโหม (3) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (4) ความสัมพันธ์ระดับประชาชนสู่ประชาชน ตลอดช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สองฝ่ายมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดทั้งในด้านสาธารณสุข คมนาคม การเข้าเมือง และการต่างประเทศ โดยเฉพาะความเชื่อมโยงทางอากาศในการขนส่งอาหารจากนิวซีแลนด์ไปยังสิงคโปร์ และขนส่งเวชภัณฑ์จากสิงคโปร์ไปยังนิวซีแลนด์ 

1.2 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเศรษฐกิจสีเขียว สองประเทศตกลงที่จะขยายความร่วมมือ EP เพิ่มเติมในสาขาที่ 5 คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเศรษฐกิจสีเขียว ที่เป็นความท้าทายของโลกในปัจจุบัน เพื่อสะท้อนถึงความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะปฏิบัติตาม Paris Agreement การวิจัยด้านเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำร่วมกัน สองฝ่ายตกลงที่จะพัฒนาความร่วมมือในด้านนี้ร่วมกันอย่างจริงจัง ได้แก่ (1) การจัดการประชุมทวิภาคีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างหน่วยงานภาครัฐของ 2 ประเทศ (2) การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านตลาดคาร์บอนแก่ประเทศในอาเซียน (3) การพัฒนามาตรฐานและการรับรองพลังงานไฮโดรเจนตามข้อตกลง Agreement of Cooperation on Low Carbon Hydrogen (July 2021) เพื่ออำนวยความสะดวกการพัฒนาการค้าไฮโดรเจนระหว่างประเทศต่อไป (4) การส่งเสริมการบินที่ยั่งยืน โดยมีการลงนาม Memorandum of Arrangement on Sustainable Aviation (5) การแลกเปลี่ยนสารสนเทศด้านนโยบายและข้อมูลด้านเทคโนโลยีการขนส่งสินค้าทางเรือแบบคาร์บอนต่ำ และการลดการใช้คาร์บอน รวมถึงการใช้พลังงานคาร์บอนต่ำ เช่น ไฮโดรเจนและแอมโมเนีย ซึ่งจะนำไปสู่การจัดตั้งระเบียงการเดินเรือสีเขียว (Green Shipping Corridors) ในศตวรรษข้างหน้า (6) การแลกเปลี่ยนด้านนโยบายและความรู้ทางเทคนิคเกี่ยวกับยานพาหนะคาร์บอนต่ำหรือที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (7) การจัดการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านยุทธศาสตร์และเทคโนโลยีการจัดการขยะ และ (8) การวิจัยด้านเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำร่วมกัน

1.3 เศรษฐกิจและการค้าทวิภาคี การแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนถึงความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานโลก นายกรัฐมนตรีสองประเทศให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความยืดหยุ่น (resilience) ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงในด้านความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร โดยจะร่วมมือกันในด้าน (1) การปกป้องระบบการค้าจากลัทธิคุ้มครองทางการค้า (protectionism) และส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานโลกที่เปิดกว้าง (2) การจัดตั้งคณะทำงานด้านห่วงโซ่อุปทานสิงคโปร์ – นิวซีแลนด์ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนทั้งจากภาครัฐและเอกชน (3) การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) สิงคโปร์ – นิวซีแลนด์3 และ (4) ความร่วมมือทางอาหารและสินค้าเกษตร การพัฒนานวัตกรรมอาหาร และการวิจัยด้านอาหาร อาทิ โปรตีนทางเลือก โดยที่นิวซีแลนด์เป็นประเทศผู้ผลิตอาหาร และสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการขนส่งและกระจายสินค้า สองฝ่ายจึงประสงค์ส่งเสริมความร่วมมือในด้านนี้เพื่อเพิ่มพูนโอกาสให้ภาคธุรกิจการส่งออกและบริการอาหารเติบโตในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ฯลฯ ซึ่งรวมถึงการนำผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด

1.4 โครงการ Working Holiday Scheme สองประเทศตกลงตามที่ฝ่ายนิวซีแลนด์เสนอเรื่องการจัดทำโครงการแลกเปลี่ยนของเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 18 – 30 ปี สามารถเดินทางไปอาศัยและทำงานในประเทศของอีกฝ่ายได้นานถึง 1 ปี เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชนสู่ประชาชน โดยจะเริ่มในวันที่ 5 พฤษภาคม 2565

1.5 ความสัมพันธ์ในช่วงโควิด-19 และการเปิดประเทศล่าสุด นายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศยินดีกับการผ่อนคลายมาตรการเข้าเมืองของสิงคโปร์ โดยใช้ Vaccinated Travel Framework (VTF) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 และการเปิดพรมแดนของนิวซีแลนด์อีกครั้งสำหรับประเทศที่ได้รับยกเว้นการตรวจลงตรา (รวมทั้งสิงคโปร์) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมและเป็นก้าวสำคัญในการใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 (endemic)

1.6 ความร่วมมือเศรษฐกิจพหุภาคี นายกรัฐมนตรีของสองประเทศต่างยินดีที่สิงคโปร์และนิวซีแลนด์มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นจากการเริ่มมีผลบังคับใช้ของความตกลงพหุภาคี ทั้ง Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) และ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นสมาชิกอยู่ ทั้งสองประเทศยินดีที่สหรัฐฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำความตกลง Indo-Pacific Economic Framework ร่วมกับหุ้นส่วนในภูมิภาค และจะร่วมมือกันสนับสนุนการยกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) รวมทั้งการเปิดรับสมาชิกเพิ่มเติมของความตกลง CPTPP และข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Partnership Agreement-DEPA)4 รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของ WTO และระบบการค้าพหุภาคีที่มีกฎเกณฑ์

2. ความร่วมมือด้านความมั่นคงและกลาโหม

2.1 ภาพรวมความมั่นคงทวิภาคี นิวซีแลนด์และสิงคโปร์จะยังคงส่งเสริมการหารือด้านความมั่นคงและกลาโหม ผ่านการหารือระดับสูง การฝึกซ้อม การแลกเปลี่ยนทางทหาร และความร่วมมือความมั่นคงในระดับพหุภาคี ซึ่งรวมถึงในกรอบ Five Powers Defence Arrangements (FPDA)5 และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (ADMM-Plus) นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศยินดีที่สิงคโปร์และนิวซีแลนด์มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกด้านความมั่นคงทางทะเล

2.2 ความร่วมมือด้านการรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ระหว่างสิงคโปร์และนิวซีแลนด์บ่อยครั้ง นับตั้งแต่มีการลงนามใน Memorandum of Arrangement on Cyber Security เมื่อปี 2562 ซึ่งรวมถึงการหารือเรื่องความยืดหยุ่นของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญธุรกิจ SMEs กับเหตุการณ์ทางไซเบอร์ การพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ การรักษาความปลอดภัยใน Internet of Things และ ransomware รวมถึงความร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งหัวหน้าหน่วยงานด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ของสองประเทศจะจัดการหารือเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนในด้านนี้ต่อไป

3. ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต                  

3.1 ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เข้าเยี่ยมคารวะนาง Halimah Yacob ประธานาธิบดีสิงคโปร์สองฝ่ายได้หารือเรื่องความก้าวหน้าของผู้หญิงในทั้งสองประเทศ และความสำคัญของการรักษาความสามัคคีในสังคม ทั้งนี้ ตามธรรมเนียมการทูตกล้วยไม้ของฝ่ายสิงคโปร์ ซึ่งจะตั้งชื่อกล้วยไม้สายพันธุ์ใหม่ที่ปลูกในสิงคโปร์ตามผู้นำที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศ นาง Jacinda Ardern ได้รับเกียรติ โดยกล้วยไม้ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ คือ เดนโดรเบียม (Dendrobium)

3.2 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 กระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ได้จัดการประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยการบินที่ยั่งยืน Roundtable on Sustainable Aviation) โดยมีนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เป็นแขกเกียรติยศ เนื่องจากภาคการบินระหว่างประเทศปล่อยก๊าซคาร์บอนคิดเป็นร้อยละ 2 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกทั้งหมด สองประเทศจึงเห็นควรกระชับความร่วมมือในด้านการบินที่ยั่งยืนเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2583 (ค.ศ. 2050) และสองประเทศได้ลงนามใน Memorandum of Arrangement on Sustainable Aviation เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการวิจัยด้านเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน อาทิ การใช้เชื้อเพลงที่มีไฮโดรเจนเป็นพื้นฐาน

3.3 นอกจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดแล้ว นักวิเคราะห์ยังประเมินถึงสาเหตุที่นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เลือกเยือนสิงคโปร์และญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกหลังจากโควิด-19 นั้น เป็นเพราะปัจจัยทางการเมืองด้วย กล่าวคือทั้งนิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และญี่ปุ่นต่างมีภูมิศาสตร์เป็นเกาะและมีจุดยืนทางการเมืองระหว่างประเทศใกล้เคียงกัน ซึ่งทั้งสามประเทศได้แสดงจุดยืนในการประณามรัสเซียอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน และถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อประเทศที่ไม่เป็นมิตรอย่างยิ่งของรัสเซีย การเยือนครั้งนี้ยังช่วยให้นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์หารือถึงสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศใหม่ ๆ ในภูมิภาค เช่น IPEF AUKUS รวมถึงการประเมินอิทธิพลของจีนในภูมิภาคในช่วงหลังโควิด-19  


1https://www.beehive.govt.nz/release/prime-minister-lead-trade-mission-singapore-and-japan

2มูลค่าการค้ารวมระหว่างนิวซีแลนด์กับสิงคโปร์ในปัจจุบัน รวมประมาณ 5 พันดอลลาร์สิงคโปร์ (5.6 พันล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์)

3นิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกที่สิงคโปร์จัดทำ FTA ด้วยเมื่อปี 2543 และมีการยกระดับเมื่อปี 2563 ในโอกาสครบรอบ 20 ปีของความตกลงฯ

4DEPA ระหว่างสิงคโปร์ ชิลี และนิวซีแลนด์เป็นข้อตกลงฉบับแรกที่กำหนดแนวทางและความร่วมมือใหม่ ๆ ในประเด็นการค้าดิจิทัล และแก้ไขปัญหาใหม่ที่เกิดจากการแปลงเป็นดิจิทัล ข้อตกลงมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2564 ซึ่งนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศเริ่มหารือแนวคิดนี้ตั้งแต่การพบกันในเดือนพฤศจิกายน 2561 ปัจจุบัน ทั้ง 2 ประเทศมีความยินดีที่ประเทศอื่น ๆ ให้ความสนใจในการเข้าร่วม DEPA นี้ และหวังว่าจะสามารถทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วโลกได้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 จีนและสาธารณรัฐเกาหลีได้สมัครขอเข้าเป็นสมาชิก DEPA อย่างเป็นทางการด้วยแล้ว

5ความตกลงการป้องกันห้าประเทศของเครือจักรภพ ได้แก่ สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร มาเลเซีย และออสเตรเลีย ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2514  และครบรอบ 50 ปีเมื่อปี 2564


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง