ด้วยเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 นาย Gan Kim Yong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม สิงคโปร์ ได้กล่าวเปิดงาน SGX Securities Market จัดโดยตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) โดยได้ประกาศข้อริเริ่มเพื่อส่งเสริมการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ 5 โครงการ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนสิงคโปร์ ได้แก่ (1) กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (2) หน่วยงานด้านส่งเสริมการลงทุน EDBI (ภายใต้คณะกรรมการพัฒนา เศรษฐกิจสิงคโปร์) (3) ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) (4) บริษัท Temasek 5) ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และ (6) 65 Equity Partners (บริษัทจัดการกองทุนภายใต้ Temasek) เพื่อให้สิงคโปร์สามารถดึงดูดการลงทุนในตลาดตราสารทุนจากนักธุรกิจและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่โครงการส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ ของ SGX สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

กองทุน Anchor Fund @ 65

รัฐบาลสิงคโปร์กับ Temasek ร่วมกันจัดต้องกองทุน Anchor Fund @ 65 มูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ สิงคโปร์ในระยะแรก ซึ่งจะเข้าไปลงทุนในกองทุนส่วนบุคคลขั้นสุดท้าย (last stage private funding) และหุ้น IPO ของบริษัทที่มีการเติบโตสูง เพื่อช่วยให้สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ได้ (ซึ่งรวมถึงบริษัทต่างชาติที่จดทะเบียนในสิงคโปร์) 

กองทุน 65 Equity Partners จะจัดสรรเงินจำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เข้ากองทุน Local Enterprises Fund เพื่อสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นขนาดใหญ่ (large local enterprises – LLEs) ในการขยายหรือปรับโครงสร้างบริษัทด้วย

กองทุน Growth IPO Fund      

EDBI ซึ่งเป็นองค์กรด้านการส่งเสริมลงทุนของ EDB ได้จัดตั้งกองทุน Growth IPO Fund เพื่อลงทุนในธุรกิจที่เป็นผู้นำด้านตลาดในอนาคตและเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เติบโตพอสมควรและมีศักยภาพจะจดทะเบียนในตลาดหุ้นภายใน 2 – 5 ปี โดยกองทุนมีมูลค่าเริ่มต้น 500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ 

การจัดตั้งกองทุนดังกล่าวจะทำให้สิงคโปร์สามารถสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเป็นสาขาธุรกิจที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญเป็นพิเศษได้มากยิ่งขึ้น และเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในด้านนี้เข้าถึงการสนับสนุนทางการเงินใน ecosystem ของสิงคโปร์ได้ดียิ่งขึ้น

โครงการให้เงินทุนสนับสนุนตลาดตราสารทุนในสิงคโปร์ (GEMS) 

MAS สิงคโปร์จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนในตลาดตราสารทุน (listing costs) ในรูปแบบการร่วมทุน โดยขยายเพดานเงินทุน Listing Grant เป็น 2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (จากเดิม 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการจดทะเบียนในตลาดทุนของบริษัท “ยูนิคอร์น” รายใหม่ ๆ ในสิงคโปร์ ทั้งยังช่วยส่งเสริมการเข้าตลาดหุ้นของบริษัทต่าง ๆ โดยการควบรวบกับบริษัทตามกรอบ Special Purpose Acquisition Companies (SPAC Framework) เพื่อฟื้นฟูตลาดหุ้นในช่วงหลังโควิด-19 โดยสิงคโปร์คาดหวังที่จะดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่าง ๆ ในภูมิภาค รวมถึง Startup ด้านเทคโนโลยีให้เข้าสู่ประเทศ ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นประเทศแรกในเอเชียที่รองรับการเข้าตลาดหลักทรัพย์ตามกรอบ SPAC หลังจากที่ SPAC ได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2563 (แต่กฎระเบียบ SPAC ของสิงคโปร์ มีความเข้มงวดมากกว่า โดยอินโดนีเซียและฮ่องกงก็กำลังศึกษาการจัดทำกฎระเบียบ SPAC เช่นกัน)

MAS ได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาบุคลากรเพื่อการวิจัยตลาดหลักทรัพย์ (Research Talent Development grant) โดยเพิ่มเงินสนับสนุนแก่ผู้ทำงานในด้านการวิจัยตลาดฯ จำนวน 6,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน (จากเดิมที่สนับสนุน 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน) และหากเป็นนักวิจัยที่เป็นคนชาติสิงคโปร์จะได้รับเงินสนับสนุนต่อเนื่อง 2 ปี (จากเดิม 1 ปี)

การสนับสนุน market solutions ในตลาดหลักทรัพย์

SGX ได้จัดทำโครงการหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership Model) เพื่อพัฒนา market solutions ในตลาดหลักทรัพย์ให้ตอบโจทย์ผู้ประกอบการและบริษัทต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่มีการเติบโตสูงซึ่งมีชุดปัญหาที่ซับซ้อนกว่าบริษัททั่วไป รวมถึงการเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ดูแล (market makers) และนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ (traders) กว่า 40 ราย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี

ข้อมูลเพิ่มเติม  

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ได้กล่าวถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจของ สิงคโปร์ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างยิ่ง โดยในคริสต์ทศวรรษที่ 1980 สิงคโปร์ยังคงเน้นการเติบโตของภาคการผลิตเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ให้เป็นอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ต่อมาในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 และ 2000 สิงคโปร์จึงได้พัฒนาภา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ชีวเภสัชภัณฑ์ (bio-pharma) และภาคการเงิน โดยพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นความรู้ (knowledge-based economy)

การกระตุ้นการฟื้นฟูตลาดหลักทรัพย์มีผลต่อการพัฒนายูนิคอร์นรายใหม่ของสิงคโปร์ (มีมูลค่าธุรกิจอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ยืนยันว่าเฉพาะในปี 2564 นี้ สิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการสร้างยูนิคอร์นท้องถิ่นแล้ว 4 ราย ได้แก่ PatSnap, Carro, Nium และล่าสุด Carousell ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ธุรกิจ Startups ด้านเทคโนโลยีในสิงคโปร์เติบโตอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจกลุ่มนี้จากทั้งการร่วมทุน venture capital และธุรกิจร่วมทุนเอกชน (private equity firms)  สูงกว่า 5,300 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเป็นผู้นำในตลาดตราสารหนี้ของเอเชีย

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าตลาดหลักทรัพย์ของสิงคโปร์ในช่วงที่ผ่านยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร โดยมีบริษัทจำนวนน้อยตัดสินใจที่จะ IPO ซึ่งการลงทุนที่เติบโตได้ดีที่สุดใน SGX ยังคงเป็นธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการที่เปิดให้บริษัทต่าง ๆ สามารถเข้าตลาดผ่านบริษัท SPAC ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 โดยสิงคโปร์หวังว่ากฎระเบียบใหม่ดังกล่าวจะช่วยให้ SGX ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และจะช่วยดึงดูดการลงทุน ต่างประเทศเข้าสู่ตลาดสิงคโปร์ได้มากขึ้น


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง