เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 นาย Ong Ye Kung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ กล่าวถ้อยแถลงในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างองค์กร SingHealth ซึ่งเป็นวิสาหกิจด้านสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ (ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์) กับองค์กร SGInnovate ซึ่งเป็นวิสาหกิจด้านเทคโนโลยีของรัฐบาลสิงคโปร์1 ที่จัดตั้งขึ้นเป็นบริษัทเอกชน ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อส่งเสริมการนำนวัตกรรมวิทยาศาสตร์สุขภาพ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์มาพัฒนาธุรกิจด้านสุขภาพ  

MoU ความร่วมมือระหว่าง SingHealth กับ SGInnovat

โดยที่ SingHealth มีจุดแข็งด้านการแพทย์ นวัตกรรมสุขภาพ และการวิจัย ส่วน SGInnovate มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology)2 รวมทั้งสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจ สตาร์ทอัพ และนวัตกร MoU ฉบับนี้จึงช่วยส่งเสริมให้วิสาหกิจของรัฐบาลสิงคโปร์ทั้งสองแห่งสามารถร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยนำระบบ AI และเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย พัฒนาบริการด้านการแพทย์และพยาบาล แลเสริมสร้างความร่วมมือด้านบริการสุขภาพในสิงคโปร์อย่างเป็นระบบ โดยมีกรอบระยะเวลา 3 ปี

MoU กำหนดเป้าหมาย 3 ประการ ได้แก่ 1) การพัฒนาความเป็นผู้นำด้าน AI ด้านสาธารณสุขของสิงคโปร์ รวมถึงการสร้างเครือข่ายบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน การจัดทำวารสารในด้านนี้เป็นรายไตรมาส และการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ AI In Health เป็นประจำทุกปี ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาทั้งด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และผลการวิจัยล่าสุด 2) การสนับสนุนสตาร์ทอัพในการพัฒนาและเติบโต โดยเชื่อมโยงนวัตกรกับนักลงทุนที่มีศักยภาพ เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพในการพัฒนาแผนธุรกิจ กลยุทธ์การตลาด โดยเฉพาะการวิเคราะห์ข้อมูลมหัต (big data) และการพัฒนาแบบจำลอง AI อาทิ การให้คำแนะนำทางการแพทย์เป็นรายบุคคลโดยใช้ระบบ AI มาช่วยวิเคราะห์และสนับสนุนการวินิจฉัยโรค และ 3) การพัฒนาบุคลากร (Talent) โดยดึงดูดผู้ร่วมทุนและบริษัทข้ามชาติเพื่อเพิ่มโอกาสให้บุคลากรของสิงคโปร์ไปฝึกอบรมและปฏิบัติงานจริง เพื่อนำความรู้และประสบการณ์มาพัฒนานวัตกรรมและศักยภาพขององค์กร

ตัวอย่าง AI ใน Healthcare สิงคโปร์

SingHealth และ A*STAR ร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชั่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ chatbot “Doctor Covid” ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้แรงงานข้ามชาติที่ติดเชื้อโควิด-19 สามารถสื่อสารกับทีมแพทย์ในภาษาต่างประเทศได้ และช่วยให้ทีมแพทย์สามารถตรวจสอบสุขภาพกายและสุขภาพจิตของแรงงานได้อย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

แหล่งที่มา: A*STAR

แหล่งที่มา: IHiS

ศูนย์จักษุแห่งชาติสิงคโปร์ (Singapore National Eye Centre) สถาบันวิจัยจักษุสิงคโปร์ (Singapore Eye Research Institute) และวิทยาลัยคอมพิวเตอร์ (School of Computing) มหาวิทยาลัย NUS ได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนาระบบ AI SELENA+ (Singapore Eye LEsioN Analyzer Plus) ที่ใช้ภาพจอประสาทตาตรวจหาโรคตาที่พบบ่อย และนำไปใช้แล้วในคลินิก 20 แห่ง โครงการ SELENA+ ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรการแพทย์ที่เชี่ยวชาญที่สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงได้ตั้งแต่ระยะแรก และช่วยป้องกันไม่ให้ตาบอดในอนาคต  

  

โรงพยาบาล Changi General Hospital และหน่วยงานระบบข้อมูลสุขภาพบูรณาการ (Integrated Health Information Systems – IHiS) ร่วมกันพัฒนาระบบการเรียนรู้เชิงลึกเพื่อประเมินผลเอ็กซ์เรย์ทรวงอกโดยอัตโนมัติถึงความเสี่ยงที่ผู้ป่วยอาจพัฒนาโรคปอดบวมรุนแรง ช่วยให้แพทย์สามารถเข้ารักษาได้ทันท่วงที

แหล่งที่มา: National Dental Centre Singapore, SingHealth

AI สำหรับภาคธุรกิจ Healthcare ในเอเชีย-แปซิฟิก

ผลการศึกษาล่าสุดของบริษัท Zebra ระบุถึงประสิทธิภาพของ AI ซึ่งช่วยยกระดับการดูแลผู้ป่วย การให้คำปรึกษาและการวินิจฉัยทางไกล บริการด้านสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) ดังนั้น โรงพยาบาลในเอเชีย-แปซิฟิกจะสำรวจและทดลองใช้โซลูชันด้านสุขภาพดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งในสิงคโปร์มีอัตราร้อยละ 94 จีนร้อยละ 89 และออสเตรเลีย ร้อยละ 8

ภาคธุรกิจ Healthcare ในเอเชีย-แปซิฟิกยังเผชิญความท้าทาย คือ 1) ความปลอดภัยของผู้ป่วย จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า ปัญหาการดูแลที่ไม่เพียงพอและไม่ปลอดภัยยังคงพบได้ทั่วไปในเอเชีย โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ร้อยละ 60 ของการเสียชีวิตเกิดจากการรักษาพยาบาลด้อยคุณภาพ ข้อผิดพลาดด้านยาและค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงถึง 42,000 ล้านดอลลาร์/ปี 2) การรักษาผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์ เป็นสิ่งที่ท้าทายมากขึ้นสำหรับโรงพยาบาลในภูมิภาค โดยเฉพาะจากสถานการณ์โควิด-19 ผลการศึกษาพบว่า 2 ใน 3 ของแพทย์และผู้มีอำนาจตัดสินใจร้อยละ 69 เห็นว่าแพทย์และผู้ดูแลผู้ป่วยทำงานหนักเกินไปในระหว่างกะ ส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้าและหมดไฟ 3) บุคลากรทางการแพทย์ยังทำงานที่ใช้ระบบอัตโนมัติน้อยกว่าเมื่อเทียบกับพนักงานบริการในภาคอุตสาหกรรมอื่น พยาบาลต้องจัดการงานธุรการที่เป็นแบบ manual ส่งผลให้การส่งต่อข้อมูลสำคัญของผู้ป่วยไปยังสมาชิกในทีมดูแลคนอื่นๆ ไม่มีประสิทธิภาพ

AI ระบบอัตโนมัติ รวมถึงอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) สามารถปรับปรุงระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในปี 2565 ผู้บริหารโรงพยาบาลร้อยละ 80 วางแผนที่จะทำให้ระบบการทำงานเป็นอัตโนมัติ เพื่อปรับปรุงการจัดการห่วงโซ่อุปทาน สะดวกในการค้นหาอุปกรณ์ที่สำคัญ/สินทรัพย์ทางการแพทย์ ปรับปรุงห้องฉุกเฉิน และห้องผ่าตัดให้ดีขึ้น และปรับปรุงประสิทธิภาพตารางทำงานของพนักงาน รวมทั้งสามารถนำระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติมาใช้ในการเคลื่อนย้ายวัสดุ อุปกรณ์ในโรงพยาบาล ให้กับทีมและสถานที่ที่ถูกต้องเหมาะสม ในเวลาที่จำเป็นต้องใช้ ช่วยให้ผู้ให้บริการทางการแพทย์สามารถมุ่งเน้นไปที่งานที่จำเป็นมากขึ้น      

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

ไทย 1) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 บริษัท Huawei ประเทศไทย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาบริการอัจฉริยะ 5G ที่ขับเคลื่อนด้วย Cloud และ AI (5G Powered Smart Hospital Enabled with Cloud and AI) สร้างแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่ช่วยพัฒนาบริการทางการแพทย์โดยนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ ในช่วงระยะเวลา 5 ปี (2563-2568) ทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอันทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการและการดำเนินงานทางการแพทย์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพบริการสาธารณสุขของไทยให้ดียิ่งขึ้น 2) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมมือกับบริษัท Huawei ในการนำเทคโนโลยี AI มาวิเคราะห์ภาพ CT Scan เพื่อวิเคราะห์การติดเชื้อ COVID-19 ที่ปอดของผู้ที่เข้ารับการตรวจ และยังสามารถระบุว่าเป็นการติดเชื้อในระยะเริ่มต้นหรือระยะลุกลาม (ระยะรุนแรง) โดยมีอัตราความแม่นยำสูงถึงร้อยละ 96 ภายในเวลาเพียง 25 วินาที และยังได้รับคะแนนจาก DICE score หรือค่าประมวลของ Medical Imaging ที่ 85 คะแนน ปัจจุบัน โรงพยาบาลในจีนได้นำ AI นี้ไปวิเคราะห์กว่า 20 แห่ง เพื่อรับมือกับผู้ติดเชื้อ

นิตยสาร CEOWORLD ได้จัดอันดับดัชนีการดูแลสุขภาพ HealthCare Index 2021 จาก 89 ประเทศ ทั่วโลก โดยพิจารณาจาก 5 ปัจจัยหลัก คือ 1) โครงสร้างพื้นฐาน 2) ความเชี่ยวชาญของบุคลากรด้านการดูแลสุขภาพ 3) ต้นทุนและค่าใช้จ่าย 4) เวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพ 5) ความพร้อมของรัฐบาล ซึ่งไทยอยู่อันดับ 13 และสิงคโปร์ อันดับ 24 (เกาหลีใต้ 1 / ไต้หวัน 2 / เดนมาร์ก 3 / ญี่ปุ่น 5) 

ภาคอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพถือเป็นการบริการที่ยังมุ่งเน้นความเห็นอกเห็นใจ ความรัก ความเอาใจใส่ต่อผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ Human Touch หรือการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์อย่างสูง ซึ่งภาค Healthcare ไทยมีข้อได้เปรียบในด้านที่บุคลากรมีจิตวิญญาณการให้บริการ ดังนั้น จากจุดแข็งด้านการบริการนี้ รวมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพ เห็นได้จากการจัดอันดับดัชนีการดูแลสุขภาพดังกล่าว เมื่อรวมกับการนำ AI และเทคโนโลยีต่างๆมาปรับใช้ในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้าน Health Tech การดูแลรักษาผู้ป่วยแบบครบวงจร ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จะช่วยให้องค์กร ผู้ประกอบการไทยพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ และผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub Service ของอาเซียนตามนโยบายของรัฐ

ผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพไทยทางด้านโซลูชัน Healthcare หรือเทคโนโลยีขั้นสูง สามารถมองหาโอกาสในการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ ขยายเครือข่ายสู่สิงคโปร์และระดับโลก ผ่านหน่วยงาน SGInnovate ที่มีแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงผู้นำด้านนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการทำธุรกิจและพัฒนาสังคม ผู้สนใจสามารถศึกษาโอกาสและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sginnovate.com/open-innovation


1 ก่อตั้งในปี 2559 โดยรัฐบาลสิงคโปร์เป็นเจ้าของทั้งหมด เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการแปลงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เป็นแอปพลิเคชันเทคโนโลยีขั้นสูง

2 Deep Technology คือ เทคโนโลยีระดับสูงที่มีความซับซ้อน ผ่านการค้นคว้าวิจัย และคิดค้นขึ้นมาใหม่จากนวัตกรรมเชิงวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ Tech แต่ก็พอจะมีประเภทของ Deep Tech ที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น Artificial Intelligence, Blockchain, Big Data, Quantum Computing เป็นต้น


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง