เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 สื่อท้องถิ่นของสิงคโปร์รายงานเรื่องความร่วมมือระหว่างบริษัท อสังหาริมทรัพย์ของสิงคโปร์กับบริษัทเทคโนโลยีในสิงคโปร์ และรัฐบาลสิงคโปร์ ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ เพื่อส่งเสริมดิจิทัลภิวัฒน์ (digitalization) และการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง (Built Environment คือ สิ่งแวดล้อมที่สร้างขึ้นให้มีความเหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เช่น การก่อสร้างที่คำนึงถึงความปลอดภัย การบริการด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น) เป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงการใช้แรงงานสูง ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานอย่างมากจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 บริษัทต่าง ๆ จึงพยายามแก้ไขปัญหาโดยใช้นโยบาย digitalization เชิงรุกและนำโซลูชันเทคโนโลยีมาใช้ในการก่อสร้างและบำรุงรักษาอาคารมากขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน

ล่าสุด บริษัท GuocoLand บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในสิงคโปร์ ได้ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับบริษัทเทคโนโลยีท้องถิ่น โดยมีแผนเปิดตัวโครงการดิจิทัลในอุตสาหกรรมการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 20 โครงการภายใน 2 ปี ซึ่งหน่วยงาน Enterprise Singapore (ภายใต้ MTI สิงคโปร์) ได้สนับสนุนโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งร่วมมือกับ SMEs และสตาร์ทอัพท้องถิ่นหลายแห่ง เพื่อในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในอุตสาหกรรมดังกล่าว

เทคโนโลยีและนวัตกรรมล่าสุดในอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

  • การจัดการการก่อสร้าง (ร่วมมือกับสตาร์ทอัพ Airsquire) ในการนำ AI มาใช้เพื่อรวมภาพที่ถ่ายในไซต์งานก่อสร้างโดยคนงานที่ใช้กล้อง 360 องศาให้เป็นแบบจำลองเสมือนจริงของไซต์งาน และผู้กำกับดูแลโครงการสามารถตรวจสอบเสมือนจริงจากระยะไกลและเปรียบเทียบความคืบหน้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการช่วยลดความแออัดในไซต์งาน
แหล่งที่มา: GUOCOLAND
  • การควบคุมและตรวจสอบคุณภาพ (ร่วมมือกับสตาร์ทอัพ Operva AI) ในการนำโดรนพร้อมเครื่องสแกนความร้อนแบบอินฟราเรดมาใช้ตรวจสอบการรั่วไหลของอากาศและน้ำในโครงสร้างภายนอกของอาคาร รวมถึงข้อบกพร่องอื่น ๆ จึงเป็นระบบที่ช่วยรับประกันคุณภาพสำหรับการก่อสร้างอาคารใหม่และการบำรุงรักษาอาคารเก่าเชิงรุก รวมทั้งนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เพื่อระบุปัญหาโดยอัตโนมัติและดำเนินการตรวจสอบซ้ำ ๆ ซึ่งจะทำให้กระบวนการตรวจสอบมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า
  • การจัดการการก่อสร้าง (ร่วมมือกับสตาร์ทอัพ Airsquire) ในการนำ AI มาใช้เพื่อรวมภาพที่ถ่ายในไซต์งานก่อสร้างโดยคนงานที่ใช้กล้อง 360 องศาให้เป็นแบบจำลองเสมือนจริงของไซต์งาน และผู้กำกับดูแลโครงการสามารถตรวจสอบเสมือนจริงจากระยะไกลและเปรียบเทียบความคืบหน้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการช่วยลดความแออัดในไซต์งาน
  • การจัดซื้อและการชำระเงิน (ร่วมมือกับ Fintech Doxa) ในการศึกษาโซลูชันการจัดซื้อแบบ end-to-end ตลอดจนแอปพลิเคชันเพื่อปรับปรุงการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวก แพลตฟอร์มเหล่านี้จะช่วยขจัดข้อผิดพลาดของมนุษย์และปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน                        
  • การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน(ร่วมมือกับสตาร์ทอัพ SpaceAge Labs) ในการนำเครื่องตรวจจับอัจฉริยะ (smart sensor) ระบบ Internet-of-Things (IoT) มาใช้เพื่อตรวจสอบไฟและมาตรวัดน้ำในบริเวณที่เข้าถึงยาก ระบบ AI และ sensor จะบันทึกรูปแบบการบริโภคตามปกติ และแจ้งเตือนผู้จัดการเมื่อเกิดความผิดปกติ เช่น การรั่วไหลของน้ำ หรือโหลดไฟฟ้าที่ผิดปกติ ผู้จัดการยังสามารถตรวจสอบข้อมูลการใช้งานซึ่งอัปเดตทุกชั่วโมงได้ด้วยตนเอง
  • การตรวจจับการล้มในบ้าน (ร่วมมือกับ บริษัท Groundup.ai) ติดตั้งกล้องในบ้านเพื่อจับภาพกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ จากนั้นระบบ AI จะสามารถคาดการณ์การหกล้มที่อาจเกิดขึ้นหรือตรวจจับอันตราย และรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปยังสมาชิกในครอบครัวได้ทันที
แหล่งที่มา: GUOCOLAND

ภาครัฐกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคอสังหาริมทรัพย์

หน่วยงานภาครัฐสิงคโปร์ เช่น Housing Board และ JTC ซึ่งดูแลที่ดิน อุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน ได้ใช้ภาพถ่ายจากโดรนและ AI ช่วยตรวจสอบอาคารและการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ โดย JTC รายงานเมื่อปี 2563 ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยลดระยะเวลาในการตรวจสอบอาคาร JTC Summit (ในย่าน Jurong) ที่มีความสูง 31 ชั้น หรือ 128 เมตร จากประมาณ 4 สัปดาห์เหลือแค่ 4 วัน ระหว่างการดำเนินการนำร่องร่วมกับ บริษัท H3 Zoom.AI

สำนักงานน้ำแห่งชาติสิงคโปร์ (Public Utilities Board – PUB) ประกาศเมื่อต้นปี 2564 ว่าจะติดตั้งมาตรวัดน้ำอัจฉริยะระบบ IoT จำนวน 300,000 ชิ้น ในที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์และโรงงานอุตสาหกรรมใน 7 พื้นที่ทั่ว สิงคโปร์ ได้แก่ Tampines North, Tengah, Bukit Batok, Hougang, Jurong West, Tampines และ Tuas

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

บริษัท GuocoLand ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2519 จดทะเบียนใน Singapore Exchange Securities Trading Limited ในปี 2521 มีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ระดับภูมิภาค ประกอบธุรกิจในสิงคโปร์ มาเลเซีย และจีน เมื่อปี 2560 บริษัทได้ขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคอื่น ได้แก่ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย โดยธุรกิจหลัก คือ การพัฒนาและการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโรงแรม อาคารพาณิชย์ และการจัดการทรัพย์สิน

นอกจากความร่วมมือใหม่ทางเทคโนโลยีเหล่านี้ บริษัท GuocoLand ยังได้ดำเนินการนำเทคโนโลยีบางส่วนมาใช้ ดังนี้ 1) การอนุญาตให้เจ้าของคอนโดฯ Martin Modern ที่เพิ่งสร้างเสร็จ (ในเขต River Valley) ตรวจสอบบ้านผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ “Novade” 2) ใช้หุ่นยนต์ทำความสะอาดซึ่งผลิตโดยบริษัทต่างๆ เช่น บริษัท Triooo ในอาคารของบริษัท เพื่อรักษามาตรฐานความปลอดภัยและความสะอาด โดยสามารถจัดการหุ่นยนต์ผ่านระบบควบคุมทางไกล

AI ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 21 และมีการแข่งขันสูงทั้งความสามารถและการวิจัยทั้งในภาครัฐและเอกชน สิงคโปร์ได้กำหนดวาระแห่งชาติสำหรับ AI โดยการเผยแพร่ยุทธศาสตร์ AI แห่งชาติในปี 2562 (National AI Strategy 2019) และจัดตั้งสำนักงาน AI แห่งชาติ (National AI Office) ภายใต้สำนักงาน Smart Nation และรัฐบาลดิจิทัล (SNDG) อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการวิจัย นวัตกรรม และองค์กร (Research, Innovation and Enterprise – RIE2025)

สภาการวิจัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NRF) จะสนับสนุนเงินทุน 150 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในระยะเวลา 5 ปี ในโครงการ AI Singapore ซึ่งมีสถาบันวิจัย สตาร์ทอัพ และภาคเอกชนด้าน AI ในสิงคโปร์เข้าร่วม เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ สร้างเครือข่ายในการผลิตนวัตกรรม AI ใหม่ ๆ และพัฒนาศักยภาพด้าน AI ของสิงคโปร์ในทุกด้าน ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับโครงการดังกล่าวอย่างยิ่ง โดยนอกจาก NRF แล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอีกจำนวนมาก เช่น SNDG EDB IMDA SGInnovate และ Integrated Health Information Systems ร่วมสนับสนุนและขับเคลื่อนโครงการด้วย


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง