การขยายตัวของวิสาหกิจสิงคโปร์และรัฐบาลในอุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือก

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 บริษัทสิงคโปร์ Growthwell Foods เปิดตัวโรงงานผลิต “โปรตีนจากพืช” แบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบขนาดใหญ่แห่งแรกของสิงคโปร์ ในพื้นที่ JTC Food Hub @Senoko โดยโรงงานดังกล่าวสามารถผลิตผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชได้ 4,000 ตันต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคโปรตีนทางเลือกของคนในสิงคโปร์มากกว่า 100,000 คน/ปี ซึ่งบริษัท Growthwell Foods วางแผนที่จะขายผลิตภัณฑ์ในซูเปอร์มาร์เก็ตสิงคโปร์ ตั้งแต่ต้นปี 2565

แหล่งที่มา: Takashi Nakano

แหล่งที่มา: Takashi Nakano

รัฐบาลสิงคโปร์สนับสนุนอุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือกอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2565 บริษัท Next Gen Foods ซึ่งผลิตเนื้อไก่สังเคราะห์ จะไปใช้ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอาหารของหน่วยงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม A*STAR (ภายใต้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์) และบริษัท Asia Sustainable Foods Platform (ภายใต้ Temasek Holdings) ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ที่ทันสมัยครบครัน โดยบริษัท Temasek ได้ลงทุนในบริษัท Next Gen Foods และ บริษัท Growthwell Foods ด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้อนุมัติการขายเนื้อไก่สังเคราะห์ที่เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการได้อย่างถูกกฎหมายเป็นประเทศเเรกในโลกตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563

ปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการจัดตั้งสำนักงานระดับภูมิภาคของบริษัทโปรตีนทางเลือกข้ามชาติ และเป็นสนามประลองตลาดสินค้าโปรตีนทางเลือกแห่งแรก ๆ ในภูมิภาค โดยสิงคโปร์ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีด้านอาหารระดับโลก เนื่องจากมี ecosystem ที่แข็งแกร่ง ทั้งในด้านการดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก และในด้านการพัฒนานวัตกรรม/เทคโนโลยีอาหารที่ทันสมัย เช่น บริษัท Shiok Meats ในสิงคโปร์ ใช้เทคโนโลยีเพาะเนื้อสัตว์จากเซลล์ของสัตว์น้ำเปลือกแข็ง เพื่อผลิตเนื้อสัตว์ทะเลจากห้องปฏิบัติการ เช่น กุ้ง ปู และกุ้งมังกร และจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ การสนับสนุนดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 30 by 30 ด้านความมั่นคงทางอาหารของรัฐบาลสิงคโปร์

อุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   

โปรตีนทางเลือกแบบดั้งเดิมอยู่ในวัฒนธรรมของเอเชียมาโดยตลอด เช่น เต้าหู้ เทมเป้และฟองเต้าหู้ ซึ่งยังคงเป็นอัตราส่วนหลักในตลาดโปรตีนทางเลือกเอเชีย ส่วนการผลิตเนื้อสัตว์จากพืชและเนื้อสัตว์ที่เพาะในห้องปฏิบัติการ (lab-grown meat) เป็นธุรกิจที่เพิ่งเริ่มเติบโต (early-adopter) และคงเป็นส่วนน้อยของมูลค่าตลาดโดยรวม โดยบริษัทวิจัย Euromonitor International เปิดเผยข้อมูลว่าในปี 2563 ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก 279,000 ตันที่ขายให้กับร้านค้าปลีกและร้านอาหารใน 6 ประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม มีเพียงร้อยละ 0.07 มาจากเนื้อสัตว์และอาหารทะเลทดแทน เช่น เนื้อสัตว์จากพืช โดยมีเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่มียอดขายมากพอที่จะจัดทำสถิติได้     

อย่างไรก็ตาม ด้วยศักยภาพของธุรกิจโปรตีนทางเลือก นักวิเคราะห์มองว่าอุตสาหกรรมนี้จะสามารถเติบโตได้ดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากปัจจัย (1) การใช้จ่ายด้านอาหารของผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสูงถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.1 trillion USD) ในปี 2030 เพิ่มขึ้นร้อยละ 83 เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่จะนำหน้าจีน (2) จำนวนผู้บริโภคในแต่ละประเทศที่มีแนวโน้มจะเป็นมังสวิรัติหรือจะเป็นมังสวิรัติในอีก 12 เดือนข้างหน้าค่อนข้างสูง คือ อินโดนีเซีย ร้อยละ 43  ไทย ร้อยละ 37 สิงคโปร์และฟิลิปปินส์ ร้อยละ 23 มาเลเซีย ร้อยละ 20 เวียดนาม ร้อยละ 13 รวมทั้งการขยายตัวของกลุ่มลูกค้า Flexitarian ที่ตั้งใจลดสัดส่วนการบริโภคและถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของโปรตีนทางเลือก (3) การขยายตัวของวิสาหกิจขนาดใหญ่และ SMEs ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ สตาร์ทอัพอินโดนีเซีย บริษัท Green Rebel Foods ที่เพิ่งก่อตั้งในปี 2563 แต่เติบโตอย่างรวดเร็ว ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ของบริษัท เช่น เนื้อวัวทางเลือกที่ทำจากเห็ดชิตาเกะ ไก่ทางเลือกจากถั่วเหลือง ชีสจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ได้เข้าสู่เมนูของกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ เช่น Starbucks Domino’s Pizza ในอินโดนีเซีย ซึ่งมีกำลังการผลิตเนื้อสัตว์จากพืช 60 ตัน/เดือน และมีแผนเปิดโรงงานแห่งใหม่ในปี 2565 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต 10 เท่า และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 บริษัท CP Foods ของไทยเริ่มจำหน่ายเนื้อสัตว์จากพืชทั้งในสิงคโปร์ ฮ่องกง และบริษัท Impossible Foods สหรัฐฯ หนึ่งในผู้บุกเบิกในภาคธุรกิจนี้ เริ่มจำหน่ายเนื้อหมูทางเลือกในสิงคโปร์

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

โปรตีนทางเลือกมีอุปสรรคและความท้าทายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ ต้นทุนการผลิตและราคาสูง จากข้อจำกัดด้านกำลังการผลิตและการขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการผลิตและการขยายตลาด สินค้าโปรตีนทางเลือกจึงเปรียบเสมือน “สินค้าฟุ่มเฟือย” ในอุตสาหกรรมอาหารที่กลุ่มคนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ มีเพียงแต่กลุ่มที่มีกำลังซื้อเท่านั้น

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังมีปัญหาความไม่มั่นคงทางด้านอาหาร เช่น การเข้าถึงอาหาร ปริมาณอาหารที่เพียงพอ และความมั่นคงปลอดภัยทางอาหาร ดังนั้น โปรตีนทางเลือกจึงช่วยเพิ่มทางเลือกแก่ผู้บริโภค โดยนอกจากประโยชน์เชิงพาณิชย์แล้ว การขยายตัวของอุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือกในภูมิภาคยังช่วยสร้างงาน และดึงดูดผู้มีความสามารถทั้งในวงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอาหาร และการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้าน เช่น ผู้ประกอบการเริ่มนำผลผลิตในท้องถิ่นอย่างขนุนและงามาสร้างผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกใหม่ ๆ ได้

ปัจจุบัน ตลาดโปรตีนทางเลือกของไทยยังคงขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่า SMEs จากความได้เปรียบเรื่องศักยภาพในการผลิตและช่องทางการจำหน่าย หาก SMEs ไทยต้องการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันก็ควรสร้างความแตกต่างในเรื่องของวัตถุดิบและการนำเสนอ โดยอาจพิจารณานำสินค้าท้องถิ่นไทยมาดัดแปลงผลิตเป็นผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกรูปแบบใหม่ และทำการตลาดที่เหมาะสมกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งศึกษาช่องทางการส่งออกสู่ตลาดในภูมิภาคและทั่วโลก เนื่องจากยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ซึ่งรวมถึงการศึกษาโอกาสในการร่วมทุนกับบริษัทสตาร์ทอัพหรือ SMEs ในสิงคโปร์ที่มีจุดแข็งด้านเงินทุนและเทคโนโลยีด้วย


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง