สิงคโปร์ได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา Convention Abolishing the Requirement of Legalisation for Foreign Public Documents (Apostille Convention) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กันยายน 2564 หากประเทศภาคีอื่น ๆ ไม่ได้คัดค้านต่อภาคยานุวัติดังกล่าว ซึ่งสิงคโปร์เป็นประเทศที่ 120 ที่เป็นภาคี ของอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งจะช่วยส่งผลประโยชน์ต่อสิงคโปร์และประเทศคู่ค้าของสิงคโปร์

โดยเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 นาย Edwin Tong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกฎหมายคนที่ 2 ของสิงคโปร์ ได้แถลงต่อรัฐสภาสิงคโปร์ ถึงความสำคัญของการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ว่า (1) สาเหตุที่สิงคโปร์ควรเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เนื่องจากสิงคโปร์มีนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศและมีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจระหว่างประเทศ ดังนั้น การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ จะช่วยส่งเสริมให้สิงคโปร์เป็น Interconnected Hub และ Global Player ที่ช่วยอำนวยความสะดวก/ลดขั้นตอนทางเอกสารแก่ธุรกิจต่างชาติที่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์ รวมถึงการทำธุรกรรมทางการเงินและกิจกรรมต่าง ๆ โดยเมื่ออนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้สําหรับสิงคโปร์แล้ว ภาคีสมาชิกอื่น ๆ ต้องยอมรับเอกสารที่มีตราประทับ Apostille Convention ที่ออกโดยทางการสิงคโปร์และในทางกลับกัน ทางการสิงคโปร์จะต้องยอมรับเอกสารที่มีตราประทับ Apostille Convention ที่ออกโดยภาคีสมาชิกเช่นเดียวกัน (2) ปัจจุบันมีเอกสารที่รับตราประทับ Apostille Convention อยู่ทั่วโลกเป็นจำนวนมากกว่าหลายล้านฉบับในแต่ละปี ตัวอย่างเอกสารที่สามารถรับตราประทับ Apostille Convention เช่น เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีโดยศาล หนังสือรับรองนิติบุคคล หนังสือรับรองการทำงาน หนังสือรับรองเงินเดือน หนังสือรับรองถิ่นที่พักอาศัย ทะเบียนสมรส สูติบัตร มรณบัตร ปริญญาบัตร เป็นต้น และ (3) Apostille Convention ถือเป็นหนึ่งในอนุสัญญาฯ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ปัจจุบันมีภาคีสมาชิก 120 ประเทศ (สิงคโปร์เป็นประเทศที่ 120 ที่เข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาฯ) ซึ่งหลายภาคีสมาชิกนั้นเป็นคู่ค้าที่สำคัญของสิงคโปร์ เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ อินเดีย รวมทั้งหลายภาคีสมาชิกในภูมิภาคยุโรป เป็นต้น อนึ่ง หน่วยงานที่ได้รับการแต่งตั้งให้รับรองเอกสาร Apostille Convention อย่างเป็นทางการเพียงหน่วยงานเดียว (Competent Authority) ของสิงคโปร์ คือ The Singapore Academy of Law (SAL) ซึ่ง SAL ได้โอนถ่ายงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรับรองเอกสารระหว่างประเทศจากกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ แล้ว (เดิมทีกระบวนการรับรองเอกสารดังกล่าวอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์) มีกำหนดแล้วเสร็จเมื่อเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา

The Singapore Academy of Law (SAL) เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย Singapore Academy of Law Act 1988 (No 18 of 1988) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม/พัฒนาวิชาชีพกฎหมายในสิงคโปร์ และมีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางทางกฎหมายที่สำคัญของเอเชีย มีประธานศาลฎีกา (Chief Justice) เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร และมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านกฎหมายของสิงคโปร์ อาทิ อัยการสูงสุด และอัยการ รวมทั้งผู้บริหารของคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ดำเนินงานผ่านสำนักงานเลขาธิการ (the Secretariat) ซึ่งครอบคลุมงานใน 5 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการศึกษากฎหมายแบบครบวงจร (ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์) เช่น การจัดตั้งศูนย์กลางการประชุมและการอบรมทางกฏหมาย การจัดทำโปรแกรม e-learning (Legal Industry Framework for Training and Education: LIFTED) เป็นต้น (2) ด้านการค้นคว้า ได้แก่ การจัดทำแหล่งสืบค้นข้อมูลทางกฎหมาย (Research Portal : LawNet) ซึ่งมีฐานข้อมูลครอบคลุมกฎหมายหลักและกฎหมายลำดับรองทั้งในอดีตและปัจจุบัน การจัดตั้งสํานักพิมพ์เฉพาะทางด้านกฎหมาย และการจัดทำวารสารข่าวด้านกฎหมาย (The Singapore Academy of Law Journal : SAcLJ) (3) ด้านการพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมายของสิงคโปร์ เช่น การผลิตนักกฎหมายรุ่นใหม่ในสิงคโปร์ที่มีความเชี่ยวชาญ การสร้างชุมชน/เครือข่ายนักกฎหมายทั้งในสิงคโปร์และในต่างประเทศ เป็นต้น และ (4) ด้านเทคโนโลยี ทางกฎหมาย มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการเติบโตของสังคมยุค Digital Economy และ (5) ด้านงานยุทธศาสตร์และการพัฒนาองค์กร เพื่อสนับสนุนการทำงานในทุกภาคส่วนของ SAL ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ด้านการบริหารความเสี่ยง ด้านการเงิน ด้านทรัพยากรบุคคล ด้านการสื่อสารองค์กร ด้านการปรับกระบวนธุรกิจ และด้านการควบคุม/ดูแลการให้บริการ Authentication Services และการรับรองเอกสาร Notary Public เป็นต้น อนึ่ง SAL มีหน่วยงานภายใต้ความรับผิดชอบอีก 3 หน่วยงาน ได้แก่ (1) the Singapore Mediation Centre (2) the Asian Business Law Institute และ (3) SAL Ventures Ltd.

Maxwell Chambers
แหล่งที่มา: ST PHOTO: CAROLINE CHIA

อนึ่ง รัฐบาลสิงคโปร์มีนโยบายที่จะส่งเสริม/ขยายศักยภาพให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศแบบครบวงจร (International Dispute Resolution Centre หรือ Maxwell Chambers) เห็นได้จากการที่ (1) กระทรวงกฎหมายของสิงคโปร์ได้เผยแพร่ข่าวสารนิเทศเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2560 ประกาศนโยบายดังกล่าว โดยประสงค์ให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางเทียบเท่ากับศูนย์กลางระงับข้อพิพาทฯ อีก 4 แห่ง ได้แก่ ลอนดอน ปารีส เจนีวา และฮ่องกง เนื่องจากการระงับข้อพิพาทฯ มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการมากขึ้นสำหรับภาคเอกชน โดยเฉพาะการระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ปรากฏจากสถิติจาก The Singapore International Arbitration Centre (SIAC) ระบุว่าการระงับข้อพิพาทฯ ในสิงคโปร์ ได้เพิ่มขึ้นจาก 179 คดี เป็น 212 คดี หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18 ในช่วงปี 2558 – 2559 อีกทั้งสิงคโปร์ยังมี จุดแข็งคือระบบกฎหมายที่มีเสถียรภาพและมีความเป็นกลาง ดังนั้น สิงคโปร์จึงมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางระงับข้อพิพาทฯ ดังกล่าวได้ และ (2) ด้านการดำเนินงาน ได้แก่ (2.1) การสร้าง Facilities เพื่ออำนวยความสะดวกและรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั้งหมดไว้ ณ จุดเดียวกัน เช่น ห้องพิจารณาคดี ห้องเตรียมการก่อนการพิจารณาคดี สถาบันวิชาการด้านกฎหมาย สำนักงานกฎหมายเอกชน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดจะตั้งรวมอยู่ในอาคาร Maxwell Chambers ที่มีพื้นที่ใช้สอย 120,000 ตารางฟุต อีกทั้งรัฐบาลสิงคโปร์มีแผนขยายพื้นที่ใช้สอยเพิ่มเติมโดยการสร้างสะพานเชื่อมไปยังตึกข้างเคียงอื่น ๆ ทั้งหมด เพื่อให้เพียงพอต่อการรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ดังนั้น ผู้รับมารับบริการทางกฎหมายจึงสามารถประหยัดเวลา/ค่าใช้จ่าย และไม่ต้องเดินทางไปหลายสถานที่ และ (2.2) เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 รัฐสภาของสิงคโปร์ได้เห็นชอบพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของสิงคโปร์ (ฉบับแก้ไข) เพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของสิงคโปร์ ข้อ 143A ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวเป็นการเสริมสร้างกรอบกฎหมายของสิงคโปร์และช่วยให้ SIAC ในฐานะหน่วยงานระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศของสิงคโปร์มีแนวทางสอดคล้องกับขั้นตอนปัจจุบันที่กําหนดไว้ในกฎของสถาบันอนุญาโตตุลาการชั้นนําของโลกอื่น ๆ ได้แก่ ICC (ปารีส) LCIA (ลอนดอน) และ HKIAC (ฮ่องกง)


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง