เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 นาย Chan Chun Sing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ (ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์) กล่าวแถลงในงานวันอุตสาหกรรม ชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharma Industry Day) โดยเน้นย้ำความสำคัญของอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ที่จะช่วยผลักดันสิงคโปร์ให้บรรลุแผน “Manufacturing 2030” (แผนระยะ 10 ปี ที่รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศเมื่อเดือน มกราคม 2564) โดยมุ่งขยายมูลค่าผลิตภาพของภาคการผลิตในสิงคโปร์ให้เติบโตขึ้นร้อยละ 50 จากปัจจุบันซึ่งมีมูลค่า 106 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ รวมถึงเป็นศูนย์รวมทางธุรกิจ นวัตกรรม และบุคลากรผู้มีความสามารถ ระดับโลก และจะก้าวไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูงขึ้น ทั้งนี้ เมื่อปี 2563 อุตสาหกรรมชีวการแพทย์ในสิงคโปร์ขยายตัวถึง 24 % คิดเป็นประมาณ 18 % ของ GDP ภาคการผลิตของ สิงคโปร์

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment – FDI) โดย UNCTAD คาดการณ์ว่า สถิติ FDI ทั่วโลกปี 2563 ลดลงถึง 30 – 40 % เทียบกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Investment – FAI) ของ อุตสาหกรรมมชีวการแพทย์ในสิงคโปร์กลับมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 410 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยมีมูลค่ารวม 638 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และมีผลรวมค่าใช้จ่ายธุรกิจ (Total Business Expenditure – TBE) มีมูลค่าที่ 269 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

เมื่อเดือนมีนาคม 2564 หน่วยงานภาครัฐ JTC Corporation (สังกัด MTI) ซึ่งกำกับดูแลการพัฒนาพื้นที่และสาธารณูปโภคทางอุตสาหกรรมในสิงคโปร์ร่วมกับคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติสิงคโปร์ (National Parks Board – NParks) และสภาที่ปรึกษาผู้ผลิตชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceutical Manufacturers’ Advisory Council – BMAC) เริ่มดำเนินการฟื้นฟูนิคมชีวการแพทย์เขต Tuas (Tuas Biomedical Park – TBP) โดยปลูกต้นไม้เพื่อสร้างภูมิทัศน์สีเขียวบริเวณนิคมฯ และส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ตอบสนองและดึงดูดบุคลากรผู้มีทักษะทางชีวการแพทย์และภาคธุรกิจมากขึ้น อนึ่ง นิคม TBP ขนาดพื้นที่ 280 เฮกตาร์ (1,750 ไร่) พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของ อุตสาหกรรมชีวการแพทย์ โดยปัจจุบันเป็นที่ตั้งของธุรกิจภาคเภสัชภัณฑ์ระดับโลกถึง 13 แห่ง มีบุคลากรจำนวนประมาณ 7,000 คน

นอกจากนี้ สภา BMAC หรือกลุ่มความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและธุรกิจภาคเอกชน 16 แห่ง ในอุตสาหกรรมชีวการแพทย์และสาขาที่เกี่ยวข้อง (เช่น Sanofi Abbott Pfizer AbbVie GSK Takeda และ MSD เป็นต้น) ได้ส่งเสริมความร่วมมือและแบ่งปันความรู้ต่าง ๆ อาทิ การปรับใช้พลังงานสะอาด โดยภาคเอกชนหลายแห่งในสภา BMAC ได้ติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (solar panels) ขนาด 14,578 ตารางเมตร (เทียบเท่ากับสนามฟุตบอลสองสนาม) ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงพอต่อการใช้ไฟฟ้าของที่พักอาศัยที่พัฒนาโดยรัฐบาลสิงคโปร์ (HDB) ขนาดสี่ห้องนอน จำนวน 729 หลัง เป็นระยะเวลา 1 ปี

ปัจจุบัน สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ (medical technology) ใหม่ ๆ เช่น พันธุกรรมบำบัด (gene therapy) การรักษาด้วยสเต็มเซลล์ (stem cells treatment) การรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (cancer immunotherapy) การพัฒนาวัสดุชีวภาพในการซ่อมแซมกระดูก และนวัตกรรมการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ในการพิมพ์ชิ้นส่วนทางการแพทย์

โครงการส่งเสริมบุคลากรด้านชีวการแพทย์

ปัจจุบัน สิงคโปร์มีบุคลากรด้านชีวการแพทย์ ประมาณ 25,000 ราย โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 หน่วยงาน Workforce Singapore (WSG) ภายใต้กระทรวงแรงงาน สิงคโปร์ ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (EDB) ได้ริเริ่มโครงการ Professional Conversion Programme (PCP) เพื่อส่งเสริมบุคลากรระดับมืออาชีพ (Professionals, Managers, Executives and Technicians – PMET) ให้พัฒนาและเพิ่มพูนทักษะ (upskills/reskills) เพื่อเปลี่ยนสายอาชีพสู่อุตสาหกรรมชีวการแพทย์ที่สิงคโปร์ประเมินว่ายังเติบโตได้ดี ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ โครงการ PCP จะมีการจ้างงานบุคลากรระดับมืออาชีพจำนวน 300 ราย โดยจะสร้างทักษะเฉพาะทางใหม่ ๆ แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ เช่น นักจุลชีววิทยา และ วิศวกรการผลิต เป็นต้น นอกจากนี้ หน่วยงาน WSG ร่วมกับบริษัทเภสัชภัณฑ์ Novartis และมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ได้จัดทำโครงการฝึกอบรมเพื่อดึงดูดบุคลากรผู้มีความสามารถที่เหมาะสมเข้าสู่อุตสาหกรรมชีวการแพทย์ ประกอบด้วยผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา และบุคลากรระดับมืออาชีพจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ

ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 ถึงปัจจุบัน สิงคโปร์มีการขยายการลงทุนของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ อย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มการจ้างงานเพิ่มอีกประมาณ 800 ตำแหน่ง เช่น นักเทคโนโลยีชีวภาพ วิศวกรระบบอัตโนมัติ และนักจุลชีววิทยา เพื่อตอบสนองความต้องการที่สูงขึ้นสำหรับการรักษารูปแบบใหม่ อาทิ เซลล์บำบัด (Cell Therapy) การลงทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพและสาขาที่เกี่ยวข้องเหล่านี้จะช่วยเตรียมความพร้อมให้ภาคการผลิตชีวการแพทย์รวมถึงการผลิตวัคซีนของสิงคโปร์ครบวงจรยิ่งขึ้น และเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นของสิงคโปร์ในห่วงโซ่คุณค่าโลก (GVCs) ด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม

ตัวอย่างธุรกิจภาคเอกชนในอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ที่การขยายการลงทุนในสิงคโปร์ ได้แก่ 1) บริษัทผู้ผลิตยาของฝรั่งเศส Sanofi ลงทุนมูลค่า 630 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ 2) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Thermo Fisher Scientific ของสหรัฐฯ ลงทุนมูลค่า 170 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และ 3) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Esco Aster ของสิงคโปร์วางแผนการลงทุนมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อวิจัยและพัฒนาด้านพันธุกรรมบำบัด (gene therapy) เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมด้านการแพทย์และยาของสิงคโปร์ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในเดือนเมษายน 2564 แม้ว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพของสิงคโปร์จะยังขยายตัว 12.7 % เนื่องจากอุปสงค์การส่งออกเครื่องมือแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่จากสภาวะความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในเอเชียที่ทวีความรุนแรงขึ้น กอปรกับการปกป้องทางการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะสินค้ายา วัคซีนและเวชภัณฑ์ ทำให้การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ในสิงคโปร์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องยังไม่เติบโตตามที่รัฐบาลสิงคโปร์ตั้งเป้าหมายไว้ โดยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 EDB ได้เผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจเดือนเมษายน 2564 ว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ หดตัวที่ -22.7 % แบบ YoY โดยสาขาเภสัชภัณฑ์ (pharmaceuticals) หดตัวที่-24.7 % เนื่องจากการปรับใช้ส่วนผสมของสารออกฤทธิ์ (active pharmaceutical ingredients – API) ที่แตกต่างกันด้วย


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง