การส่งเสริมความเป็นเลิศด้านยา เวชภัณฑ์ และชีวการแพทย์ของสิงคโปร์ และ การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์จีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำในภูมิภาค

สิงคโปร์มีความพร้อมสูงและดึงดูดภาคเอกชนให้มาลงทุนในสาขายา เวชภัณฑ์และเทคโนโลยีชีวภาพ โดยบริษัทยาชั้นนำที่มีรายได้สูงสุดทั่วโลก 8 รายจาก 10 ราย ได้จัดตั้งฐานการผลิตในสิงคโปร์ เช่น Johnson & Johnson, Pfizer, Roche, Novartis และ Amgen เป็นต้น และเป็นฐานการผลิตยาชั้นนำ 4 จาก 10 ประเภทที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในโลก

คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (Singapore Economic Development Board – EDB) กล่าวถึงเหตุผลสำคัญ 3 ประการที่ทำให้บริษัทยาและเทคโนโลยีชีวภาพมาตั้งฐานการผลิตในสิงคโปร์ ดังนี

1) สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางด้านวิทยาศาสตร์ยา เวชภัณฑ์ และชีวการแพทย์ ภาคเอกชนจากทั่วโลกที่มาลงทุนในสิงคโปร์จะได้รับประโยชน์จากความโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และระบบนิเวศนวัตกรรม (innovation ecosystem) ของสิงคโปร์ที่มีประสิทธิภาพ เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ และมีข้อได้เปรียบด้านภูมิเศรษฐศาสตร์ในเอเชีย

2) สิงคโปร์มีความเป็นเลิศในด้านการผลิตระดับโลก โดยได้ผลิตสินค้าและนวัตกรรมด้านยาและวัคซีนรวมถึงชีวการแพทย์จำนวนมาก บริษัทผู้นำอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น Pfizer Novartis Sanofi AbbVie และ Amgen ได้ตั้งฐานการผลิตในสิงคโปร์ เพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์ทั้งที่เป็นส่วนผสมยาที่ใช้งานผลิตภัณฑ์ยา และสารยาชีววิทยา ซึ่งส่งไปจำหน่ายและใช้งานทั่วโลก

3) สิงคโปร์มีระบบนิเวศนวัตกรรม (innovation ecosystem) ที่กว้างขวางและครบวงจร สอดรับกับการค้นคว้า วิจัย และพัฒนายาที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบตลอดเวลา บริษัทเอกชนสามารถร่วมมือกับสถาบันชั้นนำ รวมถึงสถาบันเทคโนโลยีชีวภาพที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ โรงพยาบาล คลินิก หรือองค์กรต่างๆในการคิดค้นและเพิ่มสินทรัพย์ โดยหน่วยงานภาครัฐได้จัดสรรเงินทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและชีวการแพทย์ เป็นมูลค่าสูงถึง 4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

ตัวอย่างบริษัทเอกชนต่างประเทศ ที่ลงทุนสร้างโรงงานผลิตในสิงคโปร์ ได้แก่

บริษัท GlaxoSmithKline (GSK) บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์จากสหราชอาณาจักร จัดตั้งโรงงานผลิตยาปฏิชีวนะระดับโลก มูลค่ากว่า 32 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อผลิตยาเพนิซิลลินกึ่งสังเคราะห์ที่เพิ่งค้นพบใหม่ และเป็นแหล่งผลิต amoxicillin ซึ่งเป็นสารประกอบออกฤทธิ์ที่ใช้ในการผลิตยาปฏิชีวนะสำหรับการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย

บริษัท Amgen บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์จากสหรัฐฯ Amgen ลงทุนมากกว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในโรงงานผลิตชีวการผลิตรุ่นใหม่ ตั้งอยู่ในนิคม Tuas Biomedical Park (TBP) เป็นโรงงานผลิตแห่งแรกของ Amgen ในเอเชียและเป็นนวัตกรรมที่ดีที่สุด

นอกจากบริษัทยาชั้นนำขนาดใหญ่ระดับโลกแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ยังสนับสนุนองค์กรสิงคโปร์ที่บุกเบิกการพัฒนาชีวการแพทย์ เช่น บริษัท Hummingbird Bioscience ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาการรักษาด้วยแอนติบอดีเพื่อเป็นตัวเลือกทางการแพทย์ในการรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19

นโยบายการส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์1และการแพทย์แม่นยำ2 ให้เป็นศูนย์กลางของเอเชีย

รัฐบาลสิงคโปร์จัดตั้งสถาบันที่สนับสนุนการแพทย์จีโนมิกส์เป็นการเฉพาะ รวมถึงการดำเนินความร่วมมือกับสถาบันชั้นนำของต่างประเทศ ดังนี้

Genome Institute of Singapore – GIS เป็นสถาบันของหน่วยงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการวิจัย (Agency for Science, Technology and Research – A * STAR) ก่อตั้งขึ้นในปี 2543 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการค้นคว้าจีโนมิกส์ GIS จะศึกษาและผสมผสานเทคโนโลยี พันธุศาสตร์และชีววิทยาเพื่อดูผลกระทบทางวิชาการ เศรษฐกิจ และสังคม GIS มีวิสัยทัศน์ระดับโลกที่ใช้วิทยาศาสตร์จีโนมิกส์เพื่อยกระดับสุขภาพของมนุษย์ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความกินดีอยู่ดีของประชาชน

SingHealth Duke-NUS Genomic Medicine Centre (SDGMC) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2562 เพื่อค้นคว้า วิจัยด้านพันธุศาสตร์การแพทย์และอำนวยความสะดวกในการศึกษาวิจัยกี่ยวกับจีโนมของสถาบันในกลุ่ม SingHealth ทั้งหมด โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำการรักษาทางคลินิกที่นำสมัยด้วยการใช้เทคโนโลยีจีโนมขั้นสูง เพื่อปรับปรุงคุณภาพ การวินิจฉัย การรักษา และการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยที่เป็นโรคทางพันธุกรรมและครอบครัว

การแพทย์แม่นยำเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของแผนวิจัย นวัตกรรม และธุรกิจ (Research, Innovation and Enterprise – RIE) ของ โดยกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ ได้จัดตั้ง Precision Health Research, Singapore (PRECISE) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์ National Precision Medicine (NPM) 10 ปีของสิงคโปร์เพื่อจัดการและยกระดับการวิจัยด้านชีวการแพทย์ ผลลัพธ์ด้านสุขภาพ และการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์

กลยุทธ์ NPM 10 ปี (2560 – 2570) แบ่งเป็น 3 ระยะ (Phase) ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่ เดือนเมษายน 2564 โดยมีเป้าหมาย ดังนี้
1) วิจัยเชิงลึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Phenotype (ลักษณะที่มองเห็นได้) ของคนเอเชีย โดยวิเคราะห์องค์ประกอบ ทางพันธุกรรมของชาวสิงคโปร์ที่มีสุขภาพดี 100,000 คน และผู้ป่วยโรคเฉพาะมากถึง 50,000 คน
2) ปรับปรุงผลลัพธ์ของผู้ป่วยโดยการนำร่องการใช้การแพทย์แม่นยำในการรักษาในคลินิก
3) สร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพและเทคโนโลยีชีวการแพทย์ของ สิงคโปร์ โดยดึงดูดบริษัทต่างประเทศ และแสวงให้โอกาสใหม่ ๆ สำหรับภาคธุรกิจในสิงคโปร์ จากตัวอย่างที่เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 หนังสือพิมพ์ The Business Times สิงคโปร์รายงานว่าองค์กรบริหารเงินทุนและความมั่งคั่งของรัฐบาล (Government  of Singapore Investment Corporation – GIC ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของสิงคโปร์ที่นำ Sovereign Wealth Fund ไปลงทุนต่อยอดและสร้างรายได้แก่ สิงคโปร์จำนวนมหาศาลทุกปี) ได้สนับสนุนเงินลงทุนให้แก่บริษัท Engine Biosciences จำนวน 57 ดอลลาร์สิงคโปร์ โดยบริษัทฯ ได้ใช้เครื่องมือและการทดสอบทางชีววิทยาขนาดใหญ่ในการค้นหาวิธีการรักษาโรคมะเร็งและโรคอื่น ๆ ด้วยการแพทย์แม่นยำ โดยเงินทุนวิจัยรอบใหม่จะสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านการรักษาเนื้องอกวิทยาที่แม่นยำในวงกว้างยิ่งขึ้น โดยบริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมสำหรับโปรแกรมทางคลินิกครั้งแรก และขยายแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท      

ข้อมูลเพิ่มเติม  

ระบบสาธารณสุขสิงคโปร์ประกอบด้วยกลุ่มบริการทางสาธารณสุข 3 ภาค (region) ได้แก่ (1) ภาคกลาง ได้แก่ National Health Group (NHG) (2) ภาคตะวันออก กลุ่ม SingHealth และ (3) ภาคตะวันตก กลุ่ม National University Health System (NUHS)  ทั้งนี้ กลุ่ม Singapore Health Service หรือ SingHealth เป็นกลุ่มสถาบันสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ ก่อตั้งเมื่อปี 2543 ประกอบด้วย โรงพยาบาลรัฐ 4 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 3 แห่ง ศูนย์เฉพาะทางระดับชาติ 5 แห่ง และเครือข่ายของคลินิก 8 แห่ง โดยมี Singapore General Hospital (SGH) เป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม SingHealth และทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลหลักสำหรับคลัสเตอร์

รัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับการแพทย์แม่นยำ และได้ริเริ่มโครงการจีโนมแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม โครงการระดับชาติเหล่านี้ส่วนใหญ่เน้นการศึกษาวิจัยที่ประชากรชาวตะวันตกหรือชาวยุโรป แต่ยังขาดข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับคนเอเชียซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60 ของประชากรโลก สิงคโปร์โดยหน่วยงาน PRECISE จึงมุ่งเน้นการแสดงบทบาทเป็นผู้นำของภูมิภาคในการศึกษาวิจัยด้านจีโนมจากประชากรหลากหลายเชื้อชาติ (จีน อินเดีย มาเลเซีย ทมิฬ) ในสิงคโปร์

โดยที่ปัจจุบันไทยได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand)

ปี 2563 – 2567 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model ระยะเวลา 6 ปี และ Big Rock Projects ดังนั้น หน่วยงานการแพทย์จีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำไทยอาจพิจารณาเพิ่มพูนความร่วมมือกับหน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้องของ สิงคโปร์ อาทิ PRECISE หรือ GIS เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมดานการแพทย์แห่งอนาคตร่วมกันต่อไป


1 การแพทย์จีโนมิกส์ เป็นนวัตกรรมการบริการทางการแพทย์ที่ใช้ข้อมูลพันธุกรรมเฉพาะบุคคลร่วมกับข้อมูลทางสุขภาพอื่นๆ มาใช้ในการวินิจฉัย รักษา และทำนายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค  ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้ตรงจุด แม่นยำ และเหมาะสมกับสภาพพันธุกรรมของผู้ป่วยแต่ละรายมากขึ้น

2 การแพทย์แม่นยำ เป็นแนวทางการรักษาโรครูปแบบใหม่ ช่วยให้แพทย์ สามารถรักษาผู้ป่วยได้จำเพาะถึงรายบุคคล โดยแพทย์จะเอารหัสพันธุกรรมหรือโปรตีนของผู้ป่วยรายนั้น ๆ ซึ่งอาจเก็บได้จากตัวอย่างชิ้นเนื้อ เลือด หรือปัสสาวะของผู้ป่วย นำไปเพาะและเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลกลางที่สามารถระบุกลไก การเกิดโรคที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล เพื่อให้ทราบถึงตัวยาที่สามารถตอบสนองต่อผู้ป่วยรายนั้นได้ดีที่สุด และเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง