เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งลงทุนสำคัญของธุรกิจจีนในช่วงหลังโควิด-19 และท่าทีของรัฐบาลสิงคโปร์ต่อความสัมพันธ์จีน – สหรัฐฯ

สถิติของ UNCTAD ระบุว่า เมื่อปี 2563 มูลค่าการลงทุนในต่างประเทศทั่วโลก ลดลง 42% เหลือเพียงประมาณ 859,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างยิ่งจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 โดยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอาเซียนลดลง 31% อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์จีนได้เปิดเผยสถิติการลงทุนในต่างประเทศของจีน พบว่า จีนลงทุนในอาเซียนเพิ่มขึ้นถึง 52.1% โดยประเทศเป้าหมาย 3 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม เมื่อปี 2563 อาเซียนและจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของกันและกัน มีมูลค่าการค้ารวมเพิ่มขึ้น 6.7 % จากปีก่อนหน้า

ความตึงเครียดระหว่างจีน – สหรัฐฯ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วิสาหกิจจีนย้ายฐานการลงทุนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากถูกกีดกันการเข้าไปลงทุนและประกอบธุรกิจในสหรัฐฯ และประเทศยุโรป ทั้งจากสงครามการค้าและจากการถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย บริษัท Alibaba ByteDance (Tiktok) และ Tencent ได้จัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในสิงคโปร์ เมื่อปีที่ผ่านมา บริษัท Huawei ได้ลงทุนสร้างศูนย์นวัตกรรม 5G ในประเทศไทย (กันยายน 2563) บริษัท Tencent ได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูล Tencent Cloud ในอินโดนีเซีย (เมษายน 2563) และบริษัท SF Express ได้ซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท Kerry Logistics เพื่อขยายฐานการลงทุนในภูมิภาค ทั้งนี้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีประชากรสูงสูดเป็นอันดับ 3 ในเอเชีย (ประมาณ 660 ล้านคน รองจากจีนและอินเดีย) จึงเป็นตลาดที่สำคัญของจีน

นโยบายของรัฐบาลจีนมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ธุรกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยรัฐบาลจีนได้จัดตั้งหน่วยงานเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างครบวงจร ซึ่งได้ให้คำปรึกษาและสร้างความเข้มแข็งแก่วิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง กอปรกับแนวคิดสายแถบและเส้นทาง (BRI) ที่รัฐบาลจีนอัดฉีดเงินทุนในต่างประเทศเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะ “หลังบ้าน” ของจีนก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ภาคตะวันตกของจีนด้วย

ข้อได้เปรียบของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการดึงดูดการลงทุนจากจีน

ความหลากหลายของทรัพยากรและตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งผลให้ภูมิภาคนี้มีข้อได้เปรียบที่จะดึงดูดการลงทุนจากจีนยิ่งขึ้น ในอุตสาหกรรมสำคัญ 5 สาขา ได้แก่ (1) โครงสร้างพื้นฐาน (2) การผลิตและการประกอบชิ้นส่วน (3) โครงการด้านวิศวกรรม (4) การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และ (5) e-commerce และเศรษฐกิจดิจิทัล แบ่งได้ ดังนี้

(1) ไทย กัมพูชา และ เวียดนาม เป็นฐานการผลิตและการประกอบชิ้นส่วนที่สำคัญ เนื่องจากจีนได้ประโยชน์ทางภาษีในการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และประเทศในยุโรปผ่านการสร้างฐานผลิตในกลุ่มประเทศนี้ โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งได้รับประโยชน์จากการย้ายการผลิตออกจากจีนมากที่สุดในภูมิภาค ทั้งยังเป็นคู่ค้าอับดับ 1 ของจีนในอาเซียน

(2) อินโดนีเซีย บรูไน และ ลาว เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เช่น เหมืองแร่และไม้ ซึ่งเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในภูมิภาคภายใต้ BRI ของจีน ในขณะที่มาเลเซีย (เมืองยะโฮร์บาห์รู) เป็นแหล่งลงทุนด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สำคัญของจีน เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ และกรุงพนมเปญ

(3) สิงคโปร์เป็นฐานการลงทุนด้านบริการทางการเงินที่สำคัญที่สุดและเป็นสถานที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคของวิสาหกิจจีน เพื่อเพิ่มพูนผลประโยชน์ในด้านบริการการเงินและเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค อาทิ โครงการระหว่างบริษัท UnionPay International Southeast Asia (ตั้งอยู่ในสิงคโปร์) ได้ร่วมมือกับธนาคารทหารเวียดนาม เพื่อจัดทำบัตรเงินออนไลน์ เพื่อการชำระเงินด้วย QR Code จำนวน 600,000 ใบในเวียดนาม นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีข้อได้เปรียบเรื่องการพัฒนาบุคลากรทั้งด้านทักษะภาษา (อังกฤษและจีน) และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

(4) ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าอินโดนีเซียและเวียดนามเป็นฐานการลงทุนด้าน E-Commerce ของจีน โดยตั้งแต่ปี 2561 บริษัท Alibaba ได้เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย และ JD.com ได้เข้าไปลงทุนในเวียดนามเพื่อเปิดแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ ซึ่งค่อนข้างประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งลงทุนและตลาดด้านเศรษฐกิจดิจิทัลที่สำคัญเนื่องจากยังเป็นตลาดเกิดใหม่ เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดของสหรัฐฯ และยุโรปที่มี ความอิ่มตัวพอสมควรแล้ว

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ประโยชน์จากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากภาคเอกชนใช้ “กลยุทธ์จีน +1” (China Plus One) เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในระบบห่วงโซ่การผลิต ห่วงโซ่อุปทาน และขยายตลาดในภูมิภาค โดยเพิ่มฐานการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีค่าแรงต่ำและมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เป็นประเทศ + 1 นอกจากนี้ การลงนามความตกลง RCEP จะทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งลงทุนที่จีนให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งนักวิชาการคาดการณ์ว่า จีนจะก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ลงทุนอันดับ 1 ของอาเซียนในอนาคตอย่างแน่นอน (ปัจจุบันจีนยังมีมูลค่าการลงทุนในภูมิภาค โดยเป็นรองจาก EU ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ) และในช่วงหลังโควิด-19 ความสัมพันธ์จีน – สหรัฐฯ จะซับซ้อนยิ่งขึ้นอีก

ท่าทีของรัฐบาลสิงคโปร์ต่อความตึงเครียดระหว่างจีน – สหรัฐฯ

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 นาย Heng Swee Keat รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจสิงคโปร์ได้กล่าวในการประชุมสุดยอด AmChams of Asia Pacific Business Summit ว่า ความสัมพันธ์จีน – สหรัฐฯ เป็นความสัมพันธ์ทวิภาคีที่สำคัญที่สุดในโลก การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจที่ตึงเครียดขึ้นได้สร้างความท้าทายแก่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงต่อจากนี้จะถือเป็นวาระสำคัญ เนื่องจากในเดือนกรกฎาคม 2564 จะเป็นโอกาสครบรอบ 100 ปีของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และในปี 2565 จะมีการประชุมสมัชชาคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 20 ซึ่งจะมีการเลือกตั้งผู้นำจีนชุดต่อไปด้วย สำหรับสหรัฐฯ ประธานาธิบดีไบเดนจำเป็นต้องร่วมมือกับรัฐสภาสหรัฐฯ ให้มากขึ้น เนื่องจากพรรคเดโมแครตมีจำนวนที่นั่งเสียงข้างมากแบบเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสิงคโปร์เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศยังไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของภูมิภาคด้วย

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องการให้รัฐบาลไบเดนมีนโยบายที่คาดการณ์ได้ (bring greater predictability) ในการดำเนินความสัมพันธ์กับจีน เพื่อให้สองฝ่ายสามารถร่วมมือกันในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น การต่อสู้กับโรคระบาด การฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก และประเด็นสิ่งแวดล้อม และหวังว่าสองฝ่ายจะจัดทำกลไก ที่นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ระหว่างกัน แม้ว่าจะยังคงแข่งขันกันต่อไป ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มบทบาทในภูมิภาคเอเชียนอกเหนือจากจีน เนื่องจากสหรัฐฯ มีการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ไม่รวมจีน) ประมาณ 800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่ง 40% เป็นการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเข้ามามีบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างเสถียรภาพแก่ภูมิภาค (vital stabilizer) และภาคเอกชนควรทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างสร้างสรรค์ด้วย


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง