อุตสาหกรรมการก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อสิงคโปร์ เพราะเป็นประเทศขนาดเล็ก จำเป็นต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศและภูมิทัศน์อยู่ตลอดเวลา เพื่อการใช้ประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่ที่มีจำกัด ทั้งในการสร้างที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์ โรงงานอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา งานวิศวกรรมโยธา สวนสาธารณะ พื้นที่สันทนาการ เป็นต้น อุตสาหกรรมการก่อสร้างเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์มาอย่างต่อเนื่อง ตามตารางตัวเลข GDP ของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Trade and Industry – MTI) ดังนี้

ตั้งแต่ปี 2559-2562 อุตสาหกรรมการก่อสร้างคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 3 – 5 ของ GDP สิงคโปร์ สำหรับปี 2563 และไตรมาสแรกของปี 2564 มูลค่าของอุตสาหกรรมนี้ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 3 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

จากความสำคัญดังกล่าว รัฐบาลสิงคโปร์จึงมีนโยบายที่สนับสนุนการพัฒนาตลาดและอุตสาหกรรมการก่อสร้างทั้งภาครัฐบาลและเอกชน โดยมีหน่วยงาน Building Construction Authority-BCA ที่กำกับดูแลการก่อสร้างทุกประเภทในสิงคโปร์ และ The Urban Redevelopment Authority-URA คอยควบคุมดูแลและพัฒนาระบบผังเมืองทั้งนี้ นโยบายของสิงคโปร์ที่สำคัญต่อการพัฒนาตลาดและอุตสาหกรรมการก่อสร้างนั้นมีหลายประเภท ได้แก่

การก่อสร้างเพื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยการท่องเที่ยวสิงคโปร์สนับสนุนการสร้างแหล่งท่องเที่ยวให้เพิ่มความหลากหลายในประเทศ เช่น การขยายตัวของ Marina Bay Sands ที่จะสร้างโรงแรมและส่วนที่ให้ความบันเทิงเพิ่มเติม และ Resorts World Sentosa ที่จะขยายพื้นที่ Universal Studios Singapore สำหรับสร้าง Minion Park และ Super Nintendo World ซึงในปัจจุบัน สิงคโปร์ได้ใช้โอกาสที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติในการปรับปรุง และซ่อมบำรุงสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่น่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 หากสิงคโปร์สามารถดำเนินความร่วมมือ Air Travel Bubble กับฮ่องกงและประเทศต่าง ๆ ได้สำเร็จ

การก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นแผนการรับรองผลิตภัณฑ์สีเขียวที่ใช้ในการก่อสร้าง (Singapore Green Building Product Certification Scheme: SGBP) ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2553 เป็นการสร้างอาคารที่อยู่อาศัยที่เป็นรูปแบบสีเขียวมากขึ้น เช่น ใช้วัสดุก่อสร้างหรือตกแต่งจากวัสดุที่ใช้แล้ว ปลูกต้นไม้ในตึกโปร่งแสง ประหยัดไฟ เป็นต้น โดย BCA มีเป้าหมายว่าภายในปี 2566 สิงคโปร์จะต้องมีสิ่งปลูกสร้างสีเขียว ร้อยละ 80 ของสิ่งปลูกสร้างทั่วประเทศ หรือ แผน Green Mark ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้ตระหนักถึงด้านสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานจากธรรมชาติมากขึ้น การลดการใช้พลังงานและการใช้น้ำประปาในครัวเรือน หรือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการปลูกต้นไม้บนหลังคาอาคาร

นโยบายการสร้างเพื่อกลุ่มโลจิสติกส์ สิงคโปร์มีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์โลจิสติกส์แบบครบวงจรที่สำคัญของโลก โดยมีท่าเรือขนส่งสินค้าที่เชื่อมโยงท่าเรือกว่า 600 ท่ากับ 120 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีท่าอากาศยานชางงี (Changi Airport) ที่ได้มาตรฐานระดับโลก มีการพัฒนาปรับปรุงและขยายอยู่ตลอดเวลา เช่น อาคารผู้โดยสาร 5 (Terminal 5) ที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง ในส่วนของการเดินทางภายในประเทศนั้น สิงคโปร์ก็มีขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ได้แก่ รถไฟใต้ดิน (Mass Rapid Transit – MRT) ซึ่งทำการก่อสร้างเพิ่มเติมอยู่ตลอดเพื่อขยายเส้นทางการเดินรถให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยในปี 2565 มีแผนที่จะสร้าง MRT line สายใหม่ คือ the Cross Island Line

โควิด-19 ทำให้สิงคโปร์ขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ตั้งแต่โรคติดเชื้อโควิด-19 เริ่มระบาดเมื่อต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลสิงคโปร์มีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นต่อแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานจากเอเชียใต้ที่เป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงสูง แต่เป็นแรงงานสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง ส่งผลกระทบต่อโครงการก่อสร้างหลายโครงการที่ต้องเผชิญปัญหางานก่อสร้างล่าช้าไปอีกอย่างน้อยหนึ่งปี เมื่อสิงคโปร์เข้าสู่ช่วงล็อกดาวน์ (Circuit Breaker-CB) เดือนเมษายนปี 2563 แรงงานก่อสร้างเดินทางกลับประเทศโดยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1,000 ราย คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างขาดแคลนแรงงานประมาณ 50,000 ราย แรงงานที่เหลืออยู่ต้องทำงานล่วงเวลา ส่งผลให้ตัวเลขบาดเจ็บจากการทำงานสูงขึ้นเป็น 3,300 ราย ในไตรมาสแรกของปี 2564 นี้ เปรียบเทียบกับ 3,100 รายในไตรมาสแรกของปีที่แล้ว นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์จากอินเดีย ทำให้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 สิงคโปร์ประกาศห้ามผู้เดินทางจากอินเดีย เนปาล ศรีลังกา และบังกลาเทศเดินทางเข้าสิงคโปร์ รวมทั้งให้ชะลอการยื่นขอมีบัตรและการออกบัตรอนุญาตทำงานแก่แรงงานต่างชาติ ส่งผลให้ภาคการก่อสร้างในสิงคโปร์ขาดแคลนแรงงานอย่างยิ่งในขณะนี้

โอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมการก่อสร้างของสิงคโปร์

โอกาส

  1. อุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาการก่อสร้าง เช่น โลจิสติกส์ มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ความต้องการที่พักอาศัยก็มีเพิ่มขึ้นเช่นกัน ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสในการส่งสินค้าวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างสู่ตลาดสิงคโปร์ เพราะไทยมีทรัพยากรและเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพเป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศ
  2. ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสในการส่งสินค้าวัสดุก่อสร้างสีเขียว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ควรปรับการผลิตสินค้าโดยการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการพัฒนาผลิตสินค้าวัสดุก่อสร้างสีเขียว ให้ตอบโจทย์ความต้องการในสิงคโปร์ เพื่อสร้างและเพิ่มมูลค่าการส่งออก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย BCG Economy ของรัฐบาลไทยด้วย
  3. ต้นทุนในด้านภาษีและค่าขนส่งต่ำ ภาษีนำเข้าสินค้าของสิงคโปร์เป็นร้อยละ 0 รวมถึงค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าจากไทยมายังสิงคโปร์ไม่สูงนัก เนื่องจากระยะทางใกล้ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของไทยโดยเฉพาะ
  4. นอกจากการส่งสินค้าให้แก่ผู้นำเข้าหรือผู้จัดจำหน่ายในสิงคโปร์แล้ว ผู้ประกอบการไทยยังสามารถติดต่อโดยตรงไปยังโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในสิงคโปร์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่านายหน้า และยังสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกได้
  5. โอกาสในการร่วมทุนกับบริษัทสิงคโปร์ โดยผู้ประกอบการไทยสามารถสนับสนุนในส่วนของกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ และบริษัทสิงคโปร์สามารถสนับสนุนในส่วนของเงินทุน
  6. การใช้โอกาสในการเปิด AEC ในการส่งออกสู่สิงคโปร์ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศกลุ่ม AEC ที่เหมาะสมเป็นแหล่งผลิต จะทำให้ต้นทุนสินค้าไทยลดลง และสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้

ความท้าทาย

  1. สินค้าจากไทยต้องแข่งขันกับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศทั้งที่มีแหล่งผลิตที่ต้นทุนต่ำกว่า เช่น จีน มาเลเซีย และประเทศที่ผลิตสินค้าที่มีรูปลักษณ์สวยงามและคุณภาพสูง เช่น อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรมุ่งเน้นสินค้าที่มีคุณภาพ รูปแบบที่สวยงาม เสนอราคาให้อยู่ในระดับกลาง ควรให้ราคาต่ำกว่าราคาสินค้าประเภทเดียวกันของผู้นำตลาด แต่สูงกว่าสินค้าที่ผลิตจากแหล่งสินค้าราคาถูกที่คุณภาพต่ำกว่า
  2. การก่อสร้างในสิงคโปร์และค่าจ้างแรงงานต่างชาติมีค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับสูงทำให้ผู้รับเหมาก่อสร้างต้องเลือกซื้อสินค้าวัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพในราคาที่ไม่สูงมากนัก ดังนั้นในการที่ผู้ประกอบการไทยจะเพิ่มโอกาสในการขายและรายได้ของตน ควรที่จะมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมและการผลิตสินค้าวัสดุก่อสร้าง โดยทำการวิจัย พัฒนาและค้นคว้าให้เกิดสินค้าตัวใหม่ขึ้นในทุกระยะ ควรพัฒนาให้สินค้ามีรูปแบบและคุณสมบัติที่ดี สวยงาม เพิ่มคุณค่า มีความแตกต่างจากสินค้าที่มีอยู่แล้ว จะเป็นการเพิ่มกำไรให้กับผู้ประกอบการ
  3. กระแสและแรงผลักดันในด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานยังอยู่ในระดับต่ำสำหรับประเทศไทย ในขณะที่ความต้องการในผลิตภัณฑ์สีเขียวที่ใช้ในการก่อสร้างมีสูงขึ้นในสิงคโปร์ หากผู้ประกอบการไทยไม่ปรับตัวพัฒนา ปรับปรุง เพิ่มสินค้าหรือมีนโยบายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและพลังงาน โอกาสในการได้รับพิจารณาขยายการค้าและลงทุนก็จะลดลง

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง