เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 บริษัท Facebook ประกาศแผนสร้างสายเคเบิล Bifrost ใต้น้ำ เป็นระยะทางถึง 15,000 กิโลเมตร ครอบคลุมตั้งแต่กวม ชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ สิงคโปร์ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ภายใต้ความร่วมมือจากภาคเอกชนยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือบริษัท Keppel Midgard Holdings (KMH) ในเครือบริษัท KEPPEL Telecommunications & Transportation (Keppel T&T) ของสิงคโปร์ และบริษัท Telekomunikasi Indonesia International (Telin) ในเครือบริษัท Telkom อินโดนีเซียโดยแต่งตั้งบริษัท Alcatel Submarine Networks (ASN) ของฝรั่งเศสเป็นผู้ดำเนินการวางรากฐานและติดตั้งระบบของโครงการฯ ซึ่งโครงการดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567

ทั้งนี้ บริษัท KMH ของสิงคโปร์ร่วมลงทุนในโครงการฯ ประมาณ 471 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยนาย Thomas Pang ผู้บริหารของบริษัทฯ กล่าวว่า การวางโครงสร้างสาธารณูปโภคข้ามชาติครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มบทบาทของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางดิจิทัลท่ามกลางความต้องการและการขยายตัวของเครือข่ายดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคฯ

ในขณะเดียวกัน Facebook ยังได้ร่วมมือกับ Google ดำเนินการวางระบบสายเคเบิล Echo มุ่งขยายเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ Facebook และ Google โดยบริษัท XL Axiata ของอินโดนีเซียร่วมลงทุนด้วย ซึ่งโครงการสายเคเบิล Echo คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566

Facebook กล่าวว่า สายเคเบิลใต้น้ำทั้ง Bifrost และ Echo จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในการสัญจรของข้อมูลถึง 70% และรองรับระบบ 4G และ 5G สำหรับผู้ใช้อินเตอร์เน็ต นอกจากนี้ ยังช่วยต่อยอดความเชื่อมโยงของโครงการสายเคเบิลใต้น้ำอื่น ๆ ในสิงคโปร์ เช่น โครงการ Asia-Pacific Gateway (APG) ที่วางสายเคเบิลใต้น้ำเชื่อมต่อ 8 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนาม และสิงคโปร์) และโครงการเคเบิลใต้น้ำ Australia Singapore Cable (ASC) ระหว่างออสเตรเลียกับสิงคโปร์ เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 Facebook และ Google ประกาศยกเลิกโครงการเดินสายเคเบิลใต้น้ำระหว่างสหรัฐฯ กับฮ่องกง หลังจากประธานาธิบดีของสหรัฐฯ แสดงความสงสัยว่าจีนอาจใช้ช่องทางดังกล่าวเก็บข้อมูลเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ รายงาน e-Conomy SEA (จัดทำโดย 3 บริษัท ได้แก่ Google Temasek และ Bain & Company) ชี้ให้เห็นว่า เมื่อปี 2563 การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดผู้ใช้อินเตอร์เน็ตรายใหม่ จำนวนมากถึง 40 ล้านคน (เมื่อปี 2562 มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตรายใหม่เพียง 10 ล้านคน) และเพิ่มจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ต จำนวน 400 ล้านคนในภูมิภาคฯ

จากข้อมูลข้างต้น บริษัท Facebook และ Google อาจเล็งเห็นว่าสถานการณ์โควิด-19 กระตุ้นความต้องการเข้าถึงโครงข่ายอินเตอร์เน็ตของผู้ใช้งานจำนวนมหาศาลในภูมิภาคฯ และการวางเคเบิล Bifrost และ Echo จะเป็นประโยชน์กับการเก็บข้อมูลจากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในภูมิภาคฯจำเป็นต้องพึ่งพาสายเคเบิลฯ ในการเข้าถึงข้อมูลในอนาคต

นอกจากนี้ หากมองย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 Facebook เริ่มลงทุนสร้างนิคมศูนย์ข้อมูล “Singapore Data Centre Park” ด้วยงบประมาณ 1.4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือประมาณ 33,000 ล้านบาท) ในเขต Tanjong Kling ฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของในสิงคโปร์ ซึ่งนับเป็นนิคมศูนย์ข้อมูลแห่งแรกในเอเชียของ Facebook มีพื้นที่รวม 1.7 แสนตารางเมตร ตัวอาคารมี 11 ชั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มเปิดให้บริการในปี 2565 (จนถึงปัจจุบัน Facebook จัดตั้งนิคมศูนย์ข้อมูลแล้วใน 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ไอร์แลนด์ และสวีเดน) และเมื่อเดือนตุลาคม 2563 Facebook ร่วมกับบริษัท Sunseap ได้เริ่มติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารที่พักอาศัย 1,200 แห่ง และอาคารของหน่วยงานรัฐบาลอีก 49 อาคาร โดยคาดว่าจะสามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มากถึง 100 เมกกะวัตต์พีค (Megawatts-peak – MWp) และส่งไปใช้ในนิคมศูนย์ข้อมูลฯ

แหล่งที่มา: FACEBOOK/SINGAPORE DATA CENTER

ในอีกแง่มุมหนึ่ง นอกจากการสร้างโครงการสายเคเบิลฯ จะช่วยสร้างเสถียรภาพและขยายโครงข่ายสัญญาณอินเตอร์เน็ตให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศขนาดใหญ่อย่างอินโดนีเซียที่สัญญาณอินเตอร์เน็ตยังครอบคลุมไม่ทั่วถึงแล้ว โครงการสายเคเบิลฯ และนิคมศูนย์ข้อมูลฯ ยังจะช่วยอำนวยความสะดวกการให้บริการของ Facebook ในเอเชียอย่างยั่งยืน เนื่องจากได้วางรากฐานสาธารณูปโภคอย่างครบวงจรในประเทศที่มีความพร้อมเช่นสิงคโปร์

ข้อมูลเพิ่มเติม

ในปี 2563 บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ 3 บริษัทของสิงคโปร์ ได้แก่ Singtel StarHub และ M1 ได้เริ่มทดลองให้บริการเครือข่าย 5G บางส่วน (บนพื้นฐานของเครือข่าย 4G) ซึ่ง Singtel และ M1 เน้นพื้นที่ใจกลางเมืองของสิงคโปร์ ในขณะที่ Starhub วางแผนการส่งสัญญาณ 5G ให้ครอบคลุม 70% ของพื้นที่ที่ตนให้บริการทั่วสิงคโปร์ โดยความเร็วของสัญญาณ 5G ในภาพรวมจะเร็วกว่าเครือข่าย 4G ระหว่าง 20% จนถึง 490% หรือ ด้วยความเร็วขั้นต่ำสูงกว่า 100 เมกะบิตต่อวินาที (Mbps)


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง