นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา รัฐบาลสิงคโปร์ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ และมีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีทางอาหาร (FoodTech) และเทคโนโลยีการเกษตร (AgriTech) ที่ทันสมัยของภูมิภาค โดยเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 นาย Koh Poh Koon ตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโสด้านการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ ได้แถลงในที่ประชุมรัฐสภาสิงคโปร์ว่า รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดตั้งคณะทำงานบูรณาการหลายหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม FoodTech และ AgriTech โดยมีรัฐมนตรี Koh เป็นหัวหน้าคณะทำงานดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานที่สำคัญ ได้แก่ (1) กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเป็นผู้กำกับดูแลนโยบายในภาพรวม (2) คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (Economic Development Board) เป็นที่ปรึกษาด้านนโยบาย และ (3) สำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์ (Singapore Food Agency) เป็นผู้ดูแลการจัดสรรงบประมาณและกองทุนเพื่อสนับสนุนภาคเอกชน

และในปีเดียวกันนั้นเอง สิงคโปร์ได้กำหนดเเผนระยะยาวเกี่ยวกับนโยบายความมั่นคงทางอาหารที่มีชื่อว่า “30 by 30” โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) สิงคโปร์จะต้องผลิตอาหารได้เองอย่างน้อย 30% ของความต้องการบริโภคอาหารภายในประเทศ โดยรัฐบาลมีงบประมาณสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศที่สนใจลงทุนทำการเกษตรและปศุสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกษตรในอาคาร (Indoor Farming) และการเกษตรเเนวตั้ง (Vertical Farming) ทั้งยังมีนโยบายดึงดูดกิจการสตาร์ทอัพด้าน FoodTech และ AgriTech จากทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนศึกษาวิจัยและพัฒนาร่วมกับสิงคโปร์โดยใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร เป็นต้น

ต่อมาในช่วงกลางปี 2563 เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารของสิงคโปร์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และสร้างความกังวลแก่ประชาชนในสิงคโปร์อย่างยิ่ง รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้ประกาศนโยบาย “30 by 30 Express” ซึ่งเป็นแผนต่อยอดของนโยบาย “30 by 30” อันเนื่องมาจากสิงคโปร์ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศถึงร้อยละ 90 โดยเฉพาะจากมาเลเซีย ดังนั้น แผนเร่งด่วน “30 by 30 Express” จึงมีเป้าหมายคือเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้นและเร็วขึ้น (Grow More and Grow Faster) และจัดสรรงบประมาณเร่งด่วนจำนวน 30 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 680,217,000 บาท ให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นนำไปซื้อเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเร่งเพิ่มผลผลิตทางอาหารและการเกษตรในประเทศให้ได้ภายในปี 2565 โดยเน้นไปที่ 3 กลุ่มธุรกิจที่ชาวสิงคโปร์บริโภคมากที่สุด ได้แก่ การเลี้ยงปลา การปลูกผัก และการทำฟาร์มไข่ไก่

และล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 นาย Mentri Besar Datuk Hasni Mohammad มุขมนตรีแห่งรัฐยะโฮร์ (Johor Chief Minister) ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนสิงคโปร์ว่า รัฐบาลสิงคโปร์และรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐยะโฮร์ มาเลเซีย ได้หารือความเป็นไปได้ในการลงนามความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการจัดตั้ง “ธนาคารอาหาร” โดยใช้พื้นที่ในรัฐยะโฮร์ของมาเลเซียทำการเกษตรและปศุสัตว์เต็มรูปแบบและนำผลผลิตที่ได้ส่งออกไปยังสิงคโปร์เท่านั้น ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สมประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย โดยสิงคโปร์จะมีแหล่งนำเข้าอาหารสดตลอดทั้งปี ในขณะที่ทางรัฐยะโฮร์ได้จะเพิ่มการจ้างงานในท้องถิ่นและได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีทางอาหารที่ทันสมัยจากสิงคโปร์

นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังเห็นความสำคัญของการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรด้าน AgriTech โดยเมื่อปี 2562 สำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์ (Singapore Food Agency หรือชื่อเดิมคือ Agri-Food and Veterinary Authority of Singapore) ได้ร่วมมือกับสถาบัน Republic Polytechnic สร้างห้องปฏิบัติการ Agriculture Technology Laboratory และเปิดตัวหลักสูตรการเรียนการสอนด้าน AgriTech อย่างเต็มรูปแบบเป็นแห่งแรกในสิงคโปร์ โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ (1) หลักสูตรระดับอนุปริญญาสาขา Urban Agricultural Technology และ (2) หลักสูตรอบรมสำหรับบุคคลทั่วไปเพื่อสร้างทักษะใหม่และ/หรือพัฒนาทักษะเดิม (Reskill & Upskill)

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการในภาค FoodTech และ AgriTech จากต่างประเทศหลายบริษัทฯ สนใจมาลงทุนในสิงคโปร์ เช่น (1) บริษัท Shiok Meats ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อศึกษาวิจัยเรื่องการเพาะเลี้ยงเนื้อกุ้งล็อบสเตอร์และเนื้อกุ้งสังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ (Laboratory) (2) บริษัท Skygreens ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสิงคโปร์ให้เป็นต้นแบบโรงงานผลิตพืชระบบปิดที่ใช้ AI ควบคุมปัจจัยการเจริญเติบโตต่างๆ และ (3) บริษัท Blue Aqua International Group ซึ่งประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Aquaculture Industry) ที่ใช้ AI ควบคุมการขยายจำนวนและพันธุ์ปลา เป็นต้น

อีกหนึ่งธุรกิจด้าน AgriTech ที่น่าจับตามองในสิงคโปร์ คือ การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินควบคู่กับการเลี้ยงปลาบนดาดฟ้าของอาคาร (Urban Aquaponics Garden) แนวคิดนี้ได้รับการพูดถึงอย่างมากตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่สิงคโปร์ประกาศใช้มาตรการตัดวงจร (Circuit Breaker) ในประเทศ โดยบริษัท Fairmont Raffles Hotels International ได้สร้าง Urban Aquaponics Garden บนดาดฟ้าของโรงแรมเป็นแห่งแรกในสิงคโปร์ และนำผลผลิตที่ได้มาใช้ประกอบอาหารในครัวของโรงแรมได้ตลอดทั้งปี ดังนั้น ผู้ประกอบการในไทยมีศักยภาพในด้านนี้เช่นเดียวกันและน่าจะสามารถเข้าร่วมทุนหรือเพิ่มพูนการค้ากับหุ้นส่วนสิงคโปร์ในลักษณะบริการครบวงจร ทั้งการให้คำปรึกษาเรื่องการออกแบบสถานที่ การจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ และองค์ความรู้เรื่องการทำปุ๋ยจากเศษอาหารและเศษผัก

อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ยังคงมีข้อจำกัดทางด้านขนาดของพื้นที่สำหรับทำการเกษตรและปศุสัตว์ เนื่องจากสิงคโปร์มีพื้นที่การเกษตรเพียง 1% เท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงจำเป็นต้องเน้นเรื่องการเกษตรในตัวอาคาร และการเกษตรเเนวตั้ง รวมทั้งพึ่งพานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการ และน่าจะยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอาหารจากต่างประเทศรวมทั้งไทยซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าข้าวหอมมะลิอันดับหนึ่งของสิงคโปร์

นอกจากการปลูกพืชในอาคารและการปลูกพืชแนวตั้งแล้ว ภาคประชาสังคมของสิงคโปร์ อาทิ Floating Solutions ยังมีบทบาทอย่างแข็งขันในการพัฒนาแนวคิดการปลูกพืชบนเรือ ซึ่งยังอยู่ในช่วงวิจัยและพัฒนา โดยสิงคโปร์ประสงค์จะร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญของไทยในการพัฒนาแนวคิดดังกล่าว


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง