เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 เวลา 14.00 – 15.30 น. สภาธุรกิจสิงคโปร์ (Singapore Business Federation – SBF) ได้จัดงานสัมมนา FYIASEAN: Thailand’s Eastern Economic Corridor (EEC) and Investment Opportunities ซึ่งจัดโดย ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยนาย Darius Lim ผู้ช่วย CEO เป็นผู้แทน SBF ได้เชิญเอกอัครราชทูตกล่าว keynote address และเชิญ ดร.ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการ EEC บรรยายสรุปพัฒนาการสำคัญของ EEC

ผู้ช่วย CEO SBF กล่าวนำในช่วงต้นว่า SBF ร่วมกับพันธมิตรธุรกิจ และสถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ จัดงานสัมมนา FYIstival เพื่อเพิ่มโอกาสการค้าการลงทุนในต่างประเทศแก่ผู้ประกอบการในสิงคโปร์ โดยมีเป้าหมายการลงทุน ได้แก่ อาเซียน เอเชียใต้และญี่ปุ่น ทั้งนี้ ไทยเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับสิงคโปร์ ทั้งด้านการลงทุนและธุรกิจ โครงการ EEC ซึ่งเป็นพื้นที่การลงทุนของอุตสาหกรรมสาขาใหม่ ๆ เป็นโอกาสสำคัญสำหรับภาคธุรกิจสิงคโปร์ที่จะเข้าไปร่วมลงทุนเพื่อการขยายธุรกิจทั้งในไทยและในอาเซียน

SBF เริ่มก่อตั้งโครงการ Global Connect ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Enterprise Singapore (ESG) หน่วยงานภายใต้ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 เพื่อส่งเสริมศักยภาพของธุรกิจสิงคโปร์ ในการขยายธุรกิจ ตลาด และการลงทุนในต่างประเทศ ในปัจจุบันสิงคโปร์มีบริษัทที่เข้าไปประกอบธุรกิจและลงทุนในประเทศไทยและอาเซียนจำนวนมาก โดยยกตัวอย่างบริษัทที่ประสบความสำเร็จ 2 ราย คือ (1) บริษัท MLion Corp บริษัทอุตสาหกรรมเหล็กประสบความความสำเร็จในการจัดตั้งบริษัทในกทม. และ (2) บริษัท SmartTeam Technology ดิจิทัลโซลูชั่นที่สามารถจัดตั้งผู้กระจายสินค้าในไทยผ่าน SBF ในปี 2563 Keynote Address โดยเอกอัครราชทูต

เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐสิงคโปร์
แหล่งที่มา: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ (BIC)

เอกอัครราชทูตขอบคุณนาย Darius และกล่าวชื่นชมสิงคโปร์ ซึ่งสามารถรับมือกับสถานการณ์โรคโควิด -19 ได้อย่างดี และโดยที่โควิด-19 มีแนวโน้มที่จะไม่หายไป สิงคโปร์จึงเตรียมการที่จะอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 แบบโรคประจำถิ่น (endemic) เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติยิ่งขึ้น เอกอัครราชทูตเห็นว่าการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และการวางแผนธุรกิจ รวมถึงการส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนที่น่าสนใจใน EEC ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงประเด็นสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ (1) ความยั่งยืน (2) นวัตกรรม (3) การก้าวไปสู่อนาคต (Sustainability, Innovation and Future Oriented) ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญของการฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงหลังโควิด – 19 ที่ยั่งยืนร่วมกันในอนาคต

ระเบียงเศรษฐกิจ EEC ประกอบไปด้วยประชากรจำนวน 3.3 ล้านคน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 13,800 ตารางกิโลเมตร โดยสามารถนำประเด็นสำคัญข้างต้นทั้ง 3 ประเด็นมาขับเคลื่อนการเติบโตของ EEC ตลอดจนนักลงทุนของไทยและต่างประเทศ ดังนี้

  1. ความยั่งยืน Sustainability EEC ผสมผสานแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้แก่ Bio Economy การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ Circular Economy การนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วมาใช้ซ้ำหรือเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ และ Green Economy คือ การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดการปล่อยคาร์บอนตาม ซึ่งไทยได้เป้าหมายที่ไทยตั้งไว้ที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอัตราร้อยละ 20 – 25 ภายในปี 2573
  2. นวัตกรรม Innovation เป็นการผสมผสานระหว่างความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และดิจิทัลในการลงทุนใน EEC ผ่านนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการผลักดันให้เป็นประเทศแรกในเอเชียที่นำเทคโนโลยี 5G มาใช้
  3. การก้าวไปสู่อนาคต Future Oriented การเชื่อมโยง EEC สู่ภูมิภาค การสร้างห่วงโซ่อุปทาน ที่มั่นคงและครอบคลุมเพื่อพัฒนาการนำเข้าและส่งออก

ถึงแม้โลกจะยังอยู่ในสภาวะคับขันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่สิงคโปร์และไทยยังเป็นหุ้นส่วนทางธรรมชาติ (natural partner) และประเทศคู่ค้าที่สำคัญในเอเชีย มูลค่าการค้าไทย – สิงคโปร์ ในปี 2563 และไตรมาสที่ 1/2564 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นท่ามกลางสภาวะโรคระบาด สิงคโปร์สามารถเพิ่มโอกาสการค้าและการลงทุนใน EEC ซึ่งแผน BCG ของไทยก็สามารถส่งเสริมเกื้อกูลกับแผน Singapore Green Plan 2030 ของสิงคโปร์ได้ โดยอุตสาหกรรมและธุรกิจที่มีศักยภาพและโอกาส เช่น รถ EV ชีวการแพทย์ การพัฒนาเทคโนโลยี และ Smart Logistics เป็นต้น

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตให้ข้อมูลความคืบหน้าของสถานการณ์ในประเทศไทยว่า ประเทศไทยมีแผนจะเปิดเศรษฐกิจของประเทศภายใน 120 วัน ตามดำริของนายกรัฐมนตรี และตั้งเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนจำนวนร้อยละ 70 ภายในปี 2564 นี้ โดยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ประเทศไทยได้เริ่มเปิดการท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ต ตามโครงการ Phuket Sandbox แล้ว เอกอัครราชทูตขอบคุณ SBF ที่ได้จัดงานสัมมนาฯ ครั้งนี้ และย้ำความเชื่อมั่นว่าไทยเป็นคู่ค้าที่สำคัญของสิงคโปร์ โดยมี EEC เป็นแรงขับเคลื่อนสู่อนาคต

การบรรยายสรุปโดยรองเลขาธิการ EEC

รองเลขาธิการ EEC ให้ข้อมูลว่า EEC ครอบคลุม 3 จังหวัดในภาคตะวันออกของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดฉะเชิงเทรา EEC พัฒนาระบบโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่องเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน เช่น การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างท่าอากาศยาน 3 แห่ง คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยใช้เวลาเดินทางระหว่างกันเพียง 50 นาที และยกระดับท่าเรือ 2 แห่ง ทั้งท่าเรือมาบตาพุด ซึ่งเป็นศูนย์การจัดการด้านปิโตรเคมี และท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นศูนย์การจัดการด้านการส่งออก

การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของ EEC จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 12 ด้าน (S – curve Industries) ซึ่งสถานการณ์โรคระบาดได้ตอกย้ำว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ และสำคัญในการข้ามผ่านภาวะวิกฤติ อุตสาหกรรมทั้ง 12 ด้านสามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักคือ (1) สุขภาพและความเป็นอยู่ เช่น การเกษตรขั้นสูง เทคโนโลยีการประมวลผลทางชีวภาพ โครงการจีโนมิกส์ ปทท. การมีศูนย์วิจัย และห้องทดลองที่ตอบรับนักลงทุนในหลายสาขา (2) ดิจิทัล อาทิ ระบบ 5G ใน EEC (3) ระบบโลจิสติกส์ และห่วงโซ่อุปทาน เช่น การร่วมมือกับศุลกากรในการพัฒนาระบบ National Single Window และ ASEAN Single Window เป็นต้น บวกกับ 1 กลุ่มหลัก (3+1) ที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โรคระบาด คือเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว เช่น สนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย BCG ของรัฐบาลไทย ที่จะลดปริมาณคาร์บอนลงร้อยละ 20 – 25 ภายในปี 2573 สนับสนุนการตั้งโรงงานผลิตยานยนตร์ไฟฟ้า และสถานีเติมไฟฟ้า EVs เป็นต้น ควบคู่ไปกับการให้การศึกษาและพัฒนาบุคลากรสู่เทคโนโลยีและทักษะใหม่ๆ

EEC จัดสรรสิทธิพิเศษแก่นักลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี การอำนวยความสะดวกเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน อนุมัติบัตรอนุญาตทำงานแก่ชาวต่างประเทศและครอบครัวที่เข้ามาทำงาน ลดหย่อนการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน การได้รับยกเว้นภาษีศุลกากร การเป็น One-Stop Service ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ เป็นต้น ช่วงการอภิปรายและถาม – ตอบ

ผู้ดำเนินรายการ (นาย Luca Bernardinetti บริษัท มหานครกรุ๊ป) หยิบยกเรื่องปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ประเทศไทยเหมาะสมกับการลงทุน ซึ่งผู้แทนบริษัท Milion Corp. บริษัทของสิงคโปร์ที่ลงทุนในไทยให้ความเห็นว่า (1) ท่าเรือของไทยมีทำเลที่เป็นศูนย์กลางและเชื่อมต่อกับต่างประเทศได้ดีกว่าหลายประเทศ (2) ประชาชนไทยตอบรับการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ และอยู่ระหว่างการเพิ่มพูนทักษะภาษาอังกฤษของบุคลากร (3) การทำธุรกรรมทางธุรกิจในไทยมีความโปร่งใส

ผู้แทนบริษัท Asia Western Union BS กล่าวถึงบทบาทของบริษัทฯ ในการชำระเงินข้ามพรมแดน ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ และการบริหารความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งผู้แทนธนาคาร Standard Chartered (Thailand) กล่าวว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังโควิด-19 ประเทศไทยไม่สามารถพึ่งพาเฉพาะการบริโภคภายใน ประเทศได้ แต่ต้องอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่ง EEC เป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่สำคัญ โดยธนาคารฯ มีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกการลงทุนใน EEC ของนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนใน ประเทศไทย โดยเน้นถึงจุดเด่นของประเทศไทยในด้านทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ อยู่ตรงกลาง CLMV ซึ่งเป็น ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และความพร้อมที่จะขยายการลงทุนในภาคการเงินของไทยซึ่งมีโอกาสเติบโตอีกมาก และสามารถขยายผลสู่ตลาดการเงินและผลิตภัณฑ์การเงินทั่วภูมิภาคได้

ผู้แทนบริษัท UPS South Asia Region กล่าวว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกกับประเทศไทยสูงที่สุด 5 อันดับแรก โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีสูง และอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ วิสาหกิจข้ามชาติได้รับความสะดวกจากข้อตกลงทางการค้าในหลายด้านที่รัฐบาลไทยสนับสนุน เช่น ความร่วมมือ RCEP ที่เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยการลดภาษีต่อสินค้าจำนวนกว่าร้อยละ 92 จากสินค้าทั้งหมด ในระยะ 20 ปี

ต่อข้อสอบถามเรื่องความแตกต่างของสิทธิพิเศษต่อนักลงทุนต่างประเทศระหว่าง EEC กับ BOI รอง เลขาธิการ EEC แจ้งว่า ทั้ง EEC และ BOI ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โดย BOI เน้นการสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี ส่วน EEC สนับสนุนสิทธิประโยชน์ด้านอื่น ๆ พร้อมกล่าวปิดการสัมมนาว่า EEC ยินดีเปิดรับการลงทุนโดยตรงจาก ต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง การทำธุรกิจในประเทศไทยเปรียบเสมือนการทำธุรกิจกับนานาชาติ ซึ่งช่วยเปิดโอกาสในการทำธุรกิจให้กว้างขึ้น รวมทั้งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง