พัฒนาการสำคัญของหน่วยงานภาครัฐสิงคโปร์ในการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนและการเงินสีเขียว ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ทั้งการจัดตั้งกลุ่มงานความยั่งยืนของ MAS และการจัดตั้งแผนสนับสนุนธุรกิจสีเขียวเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ มีดังนี้

ความคืบหน้าด้านการเงินสีเขียว (Green Finance) และความยั่งยืนในสิงคโปร์

MAS ประกาศจัดตั้งกลุ่มงานความยั่งยืน (Sustainability Group)   

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 MAS ประกาศจัดตั้งกลุ่มงานความยั่งยืน (Sustainability Group) และแต่งตั้ง ดร. Darian McBain เป็นประธานเจ้าหน้าที่ด้านความยั่งยืน (Chief Sustainability Officer) ของ MAS ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่ง MAS มอบหมายให้ ดร. McBain กำกับดูแลงานด้านการกำหนดระเบียบวาระและภารกิจของคณะกรรมการขับเคลื่อนการเงินสีเขียว (Green Finance Steering Committee) ของ MAS ซึ่งมีนาย Ravi Menon ผู้ว่าการ MAS เป็นประธาน

ประธาน MAS ให้ความเห็นว่า การก่อตั้งกลุ่มงานความยั่งยืนของ MAS สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของหน่วยงานในการสร้างความตระหนักรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ซึ่ง MAS ให้ความสำคัญกับภารกิจด้านความยั่งยืน การเงินสีเขียว และความยืดหยุ่นทางสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ดร. McBain จะอยู่ภายใต้การบริหารของรองผู้ว่าการ MAS 2 คน ได้แก่ Ms. Ho Hern Shin (กลุ่มภารกิจการเงิน) และนาย Leong Sing Chiong (กลุ่มภารกิจการตลาดและการพัฒนา)

การจัดตั้งกลุ่มงานความยั่งยืนของ MAS มีวัตถุประสงค์ ได้แก่ 1) การเสริมสร้างความยืดหยุ่นของภาคการเงินต่อความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม 2) การพัฒนาระบบนิเวศทางการเงินสีเขียวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเอเชียไปสู่ภูมิภาคที่มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำในอนาคต 3) การกำหนดกลยุทธ์ความร่วมมือด้านการเงินสีเขียวกับคู่ค้าในภูมิภาคและนานาชาติ 4) ลดการปล่อยคาร์บอนและฟุตพรินท์ของผลิตภัณฑ์สิ่งแวดล้อม (Environmental footprint)

ดร. McBain มีประสบการณ์เชิงลึกมากกว่า 20 ปีในบทบาทด้านความยั่งยืนครอบคลุมภาคส่วนต่างๆ โดยล่าสุดดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ด้านความยั่งยืนของกลุ่มบริษัท ไทยยูเนี่ยน ประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทอาหารทะเล และเพิ่งได้รับรางวัล The 2021 Sustainable Development Goal (SDG) Pioneers จาก UN Global Impacts ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับผู้นำด้านธุรกิจที่มีผลงานโดดเด่นในการส่งเสริมด้าน SDG

หน่วยงาน Enterprise Singapore (ESG) จัดตั้งแผนสนับสนุนเงินทุนแก่ธุรกิจสีเขียว Enterprise Financing Scheme-Green (EFSGreen) เพื่อสนับสนุนศักยภาพด้านธุรกิจสีเขียวของผู้ประกอบการสิงคโปร์

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ESG ได้จัดตั้งแผนสนับสนุนเงินทุนแก่ธุรกิจสีเขียว Enterprise Financing Scheme-Green (EFSGreen) ในโครงการ Enterprise Sustainability Program (ESP) เพิ่มเติมจากแผน EFS เดิม เพื่อให้ธุรกิจในสิงคโปร์เข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียวในการพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทั้งการลดจำนวนขยะ ลดการใช้ทรัพยากร และลดการปล่อยมลพิษก๊าซเรือนกระจก เพื่อได้รับโอกาสที่กำลังเติบโตในระบบเศรษฐกิจสีเขียว                   

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2567 EFS-Green จัดเปิดให้กู้ยืมเงินผ่านธนาคารพันธมิตร เช่น DBS HSBC OCBC และ UOB  แบบแบ่งปันความเสี่ยงร้อยละ 70 เพื่อสนับสนุนผู้พัฒนาโครงการ, ผู้เชื่อมโยงระบบ และผู้ใช้เทคโนโลยีโซลูชั่นเกี่ยวกับด้าน 1) พลังงานสะอาด 2) เศรษฐกิจหมุนเวียน 3) โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และ 4) ภาคการขนส่งที่ลดการปล่อยมลพิษ (ทั้งทางบก ทะเล อากาศ) ซึ่งโครงการตอบสนองความต้องการเงินทุนในทุกประเภท                           

ธนาคารพันธมิตรดังกล่าว ได้พัฒนากรอบการทำงานด้านเงินทุนสีเขียวและความยั่งยืนสำหรับ SMEs และวิสาหกิจ เห็นว่าโครงการ EFS-Green จัดทำในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะอุปสงค์จากห่วงโซ่อุปทานสีเขียว และการแก้ไขปัญหาสีเขียวกำลังเติบโตทั่วโลกในทุกภาคอุตสาหกรรม การให้สินเชื่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้จะช่วยโน้มน้าวธุรกิจ SMEs จำนวนมากให้ทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และช่วยให้ธุรกิจ SMEs สามารถเจาะตลาดใหม่ ๆ โดยสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ    

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต 

ดร. McBain สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้าน Social Indicators for Global Supply Chain Analysis จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ และปริญญาโทด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ปี 2558 โดยในช่วงที่เป็นผู้บริหารด้านความยั่งยืนของบริษัท ไทยยูเนี่ยน ดร. McBain ได้เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทให้ใส่ใจระบบนิเวศโดยรวม โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับท้องทะเล รวมถึงได้พัฒนาและผลักดันกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ (โครงการ SeaChange®) ตั้งแต่ต้น ภายใต้การทำงานในกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN นอกจากนี้ ยังเป็นผู้นำในการจัดทำข้อตกลงกับกลุ่ม Greenpeace ในเรื่องความยั่งยืนและอาหารทะเลที่รับผิดชอบต่อสังคม นำไปสู่การเปิดตัวโครงการพัฒนาเรือประมง และแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง ซึ่งนับเป็นข้อตกลงระดับโลกครั้งที่กรีนพีซได้ทำร่วมกับบริษัทเอกชน  

ความร่วมมือด้านการเงินสีเขียวเป็นสาขาที่ไทยและสิงคโปร์มีศักยภาพและผลประโยชน์ร่วมกัน โดยคณะทำงานด้านความยั่งยืนในภาคการเงินของไทย (Working Group on Sustainable Finance) ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินการด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนในภาคการเงินไทยที่ชัดเจนยิ่งขึ้นและมีทิศทางร่วมกัน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 คณะทำงานฯ ได้ร่วมเผยแพร่แนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืนของไทย (Sustainable Finance Initiatives for Thailand) ซึ่งเป็นหนึ่งในความร่วมมือสำคัญเพื่อกำหนดทิศทางและกรอบการดำเนินงานด้านการเงินที่ยั่งยืนไทย โดยได้ระบุแนวทางการขับเคลื่อนสำคัญ 5 ประการ คือ 1) Developing a Practical Taxonomy 2) Improving the Data Environment 3) Implementing Effective Incentives 4) Creating Demand-led Products and Services 5) Building Human Capital


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง