เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 นาย Chan Chun Sing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์กล่าวในงานสัมมนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Tourism Industry Conference – TIC) เรื่องการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 68.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับกองทุนการพัฒนาการท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Tourism Development Fund – TDF) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในสิงคโปร์ และช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยกองทุน TDF จะสนับสนุนเงินช่วยเหลือเพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ธุรกิจภาคการท่องเที่ยวต่อไปจนถึงช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565

กองทุน TDF ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2548 เพื่อรองรับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว การเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลนักท่องเที่ยวในสิงคโปร์และอาชีพภาคบริการที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งแต่ปี 2559 – 2563 กองทุน TDF มีมูลค่ารวม 848.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยมีการจัดสรรงบประมาณ 3 ครั้ง ได้แก่ 1) ปี 2559 จำนวน 700 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ 2) ปี 2563 จำนวน 90 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยจัดสรรจาก Resilience Package และล่าสุด 3) เมื่อเดือนเมษายน 2564 จำนวน 68.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ทั้งนี้ กองทุน TDF แบ่งออกเป็นกองทุนย่อย อาทิ 1) กองทุน Experience Step-Up Fund (ESF) พัฒนาการท่องเที่ยวสิงคโปร์ โดยการปรับปรุงเนื้อหา และการปรับใช้เทคโนโลยี 2) กองทุน Kickstart Fund สนับสนุนการทดลองนวัตกรรมเพื่อยกระดับซอฟแวร์ของการท่องเที่ยวสิงคโปร์ และ 3) กองทุน The Training Industry Professionals in Tourism (TIP-iT) พัฒนาศักยภาพของลูกจ้าง เป็นต้น

ในงานสัมมนาฯ การท่องเที่ยวแห่งสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board – STB) ได้ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ Tourism Technology Transformation Cube (Tcube) หรือพื้นที่ด้านนวัตกรรมสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวภาคเอกชนในการทดสอบและปรับปรุงเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล (เมื่อปี 2563 แพลตฟอร์มฯ ใช้ชื่อว่า ThreeHouse) แพลตฟอร์มนี้จะช่วยสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) พื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 2) พื้นที่ทดลองแนวคิดใหม่ผ่านการทดสอบการใช้งานจริง และการดำเนินการนำร่อง และ 3) การเตรียมพร้อมสร้างและปรับโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน Tcube จะเปิดหลักสูตร การฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัล อาทิ การวิเคราะห์ข้อมูล และบริการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการสร้างต้นแบบสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวที่ต้องการปรับใช้กลยุทธ์ด้านดิจิทัล

นอกจากนี้ STB ร่วมกับสหภาพแรงงานแห่งชาติสิงคโปร์ (National Trades Union Congress – NTUC) พัฒนาแผนแม่บทการพัฒนาขีดความสามารถภาคการท่องเที่ยว (Tourism Sector Capability Development Roadmap) สำหรับปี 2564 เพื่อเตรียมพร้อมแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีทักษะที่จำเป็นในช่วงหลังโควิด-19 โดยแผนแม่บทฯ จะดำเนินการภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสิงคโปร์กับภาคเอกชนชั้นนำในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (กลุ่มพันธมิตร Alliances for Action – AfAs) โดยมี 7 แนวคิดหลัก ได้แก่ การสร้างสภาพแวดล้อมด้านดิจิทัล ความยั่งยืน เทคโนโลยีการศึกษา การค้าอัจฉริยะ หุ่นยนต์ การปฏิรูปห่วงโซ่อุปทานสู่ดิจิทัล และการสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ในสิงคโปร์ และคณะทํางานเฉพาะกิจ Emerging Stronger Taskforce สิงคโปร์

อีกวาระสำคัญของงานประชุม TIC คือสมาคมผู้จัดงานประชุมและนิทรรศการของสิงคโปร์ (Singapore Association of Convention and Exhibition Organisers and Suppliers – SACEOS) หน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมการจัดประชุม สัมมนา งานแสดงสินค้า และนิทรรศการขนาดใหญ่ (MICE) ได้เริ่มต้นโครงการประกาศนียบัตรรูปแบบใหม่ ‘The SG SafeEvents Certification’ เพื่อรับรองการจัดงานกิจกรรมขนาดใหญ่ที่ดำเนินการตามแนวปฏิบัติTechnical Reference (TR) 84 ว่าด้วยเรื่อง ‘การจัดการ MICE อย่างปลอดภัย’ ซึ่งพัฒนาโดย Singapore Standards Council และกำกับดูแลโดยหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ Enterprise Singapore (ESG) อาทิ มาตรฐานด้านสุขอนามัย มาตรการจัดการความปลอดภัย และการจัดการในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งคาดว่าจะเสริมความมั่นใจให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุมจากทั่วโลกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการจัดงานที่ผสานรูปแบบออนไลน์และสถานที่จริงเข้าไว้ด้วยกัน (hybrid event) อาทิ งาน TravelRevive (จัดขึ้นเดือนพฤศจิกายน 2563) ซึ่งมีภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวของไทยเข้าร่วมด้วย และ Geo Connect Asia 2021 (จัดขึ้นเดือนมีนาคม 2564) นับเป็นตัวอย่างการจัดงานที่ปฏิบัติตามมาตรฐานฯ ทั้งนี้ โครงการฯ กำหนดชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกาศนียบัตรในเดือนพฤษภาคม 2564

ปัจจุบัน SACEOS ได้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ SG SafeEvent Ambassadors จำนวน 700 คน ที่จะลงพื้นที่ กำกับดูแลความเรียบร้อยของงานกิจกรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานของโครงการฯ โดยคาดว่าจะการจัดงานกิจกรรมจะเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ พร้อมตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ฯ ให้ถึง 1,000 คน ภายในช่วงกลางปี 2564 ทั้งนี้ โครงการมีแผนดำเนินการเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์และนำไปปรับใช้เป็นมาตรฐานของสิงคโปร์อย่างเต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ STB จะตั้งสำนักงานต่างประเทศใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ กรุงบรัสเซลส์ และ นครซานฟรานซิสโก โดยนาย Keith Tan ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร STB เสริมว่าที่ตั้งสำนักงานดังกล่าว เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่จะอำนวยความสะดวกในการติดต่อกับองค์กรระหว่างประเทศ โดยยกตัวอย่างองค์กรที่มีสำนักงานในบรัสเซลส์ ได้แก่ UN WHO และธนาคารโลก ซึ่งจะดึงดูดการจัดงานประชุมทางธุรกิจไปยังสิงคโปร์มากขึ้น

ข้อมูลเพิ่มเติม

รัฐบาลสิงคโปร์พยายามผลักดันให้สิงคโปร์ เป็นแบบอย่างของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนตามนโยบาย Singapore Green Plan 2030 โดยเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์กล่าวแถลงนโยบายต่อคณะกรรมการ Committee of Supply ของรัฐสภาสิงคโปร์เรื่องการท่องเที่ยวว่านักท่องเที่ยวจะใส่ใจกับการเดินทางแบบยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต จึงควรส่งเสริมการพัฒนาโรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ สิงคโปร์จะปรับปรุงเกาะ Sentosa ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (carbon-neutral) ภายในปี 2573

ก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ธุรกิจ MICE มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสิงคโปร์โดยสร้างรายได้ให้ประเทศถึง 3.8 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณเกือบ 1% ของ GDP สิงคโปร์ และสร้างงานถึง 34,000 ตำแหน่ง หากพิจารณาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งหมด (ไม่เฉพาะ MICE) จะคิดเป็น 4% ของ GDP ของสิงคโปร์ ตั้งแต่ปี 2558 – 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวในสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 4 ปีติดต่อกัน

โดยในปี 2562 สิงคโปร์มีจำนวนนักท่องเที่ยว 19.1 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยว 27.7 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในสิงคโปร์ลดลงอย่างยิ่งในปี 2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยลดลงเหลือเพียง 2.7 ล้านคน หรือ 85.7% เมื่อเทียบกับปี 2562 ทั้งนี้ จากสถิติของ STB ไตรมาสที่ 1 – 3/2563 สิงคโปร์มีรายได้จากการท่องเที่ยว รวม 4.4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์หรือลดลงจากปีก่อนหน้า 78.4%

ทั้งนี้ สิงคโปร์เตรียมเปิดสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ 4 แห่ง เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ ได้แก่ 1) พิพิธภัณฑ์ไอศกรีม ซึ่งมีต้นฉบับจากนครนิวยอร์ก นับเป็นการขยายสาขานอกประเทศเป็นครั้งแรก โดยจะเปิดให้บริการช่วงครึ่งหลังของปี 2564 2) เครื่องเล่น Slingshot สูงเกือบ 70 เมตร ย่าน Clarke Quay โดยจัดเป็นเครื่องเล่นที่สูงที่สุดในเอเชีย 3) SkyHelix Sentosa เรือกอนโดลาแบบหมุนได้กลางแจ้งบนเกาะ Sentosa มีความสูง 35 เมตร สามารถชมทิวทัศน์ชายฝั่งทางตอนใต้ของสิงคโปร์คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2565 และ 4) โครงการทดลองสร้างแหล่งท่องเที่ยวบริเวณลานสเก็ต Somerset บนถนนออชาร์ด ใจกลางสิงคโปร์

SkyHelix Sentosa
แหล่งที่มา: ONE FABER GROUP

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง