เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564 นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้แถลงนโยบายเศรษฐกิจและแรงงานที่สำคัญในช่วงการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง National Day Rally (NDR) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 29 สิงหาคม 2564 สามารถสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นโยบายด้านเศรษฐกิจ  

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์มั่นใจว่า GDP ของสิงคโปร์จะเติบโตอย่างน้อยร้อยละ 6 – 7 ตามที่กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ประเมินไว้ เนื่องจากสิงคโปร์สามารถควบคุมโรคระบาดได้ค่อนข้างดี และมีอัตราการฉีดวัคซีนที่รวดเร็ว กอปรกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของสิงคโปร์ทั่วโลกฟื้นตัวได้ดีในปีนี้

อย่างไรก็ตาม รายงานเศรษฐกิจสิงคโปร์ไตรมาสที่ 2/2564 ของ MTI สะท้อนว่า สิงคโปร์ตั้งเป้าหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยไม่ใช่แค่การเปรียบเทียบกับปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจสิงคโปร์ตกต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่เปรียบเทียบย้อนไปถึงช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งเศรษฐกิจยังเติบโตแบบปกติ ดังนั้นสิงคโปร์ยังคงต้องเดินหน้าขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ โดยสร้างความสมดุลระหว่างการดำเนินมาตรการควบคุมโรคระบาดกับการเปิดเศรษฐกิจและสังคม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงหลังโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

เพื่อรักษาสถานะในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจ ทั้งด้านการเงิน การธนาคาร เทคโนโลยีและนวัตกรรมรวมถึงศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สิงคโปร์จำเป็นต้องเปิดการเดินทางระหว่างประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทาง เศรษฐกิจ และธุรกิจในสิงคโปร์ เนื่องจากการไม่เปิดประเทศจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความไม่สะดวกของนักลงทุนและนักธุรกิจจากต่างประเทศ ทั้งนี้ สิงคโปร์จะยังคงเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจ Startups และ SMEs โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทของสิงคโปร์ อาทิ Carro ประสบความสำเร็จในการเป็น Unicorn รายใหม่ของภูมิภาค และบริษัท SecretLab และ Carousell ซึ่งขยายตลาดใน ต่างประเทศ ได้ดี ซึ่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เน้นถึงบทบาทของ Enterprise Singapore (ESG) ในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการสิงคโปร์ในต่างประเทศ

ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้กล่าวถึงบทบาทที่สำคัญของ Economic Development Board (EDB) ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งสาขาธุรกิจที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญในปีนี้ ได้แก่ (1) สาธารณสุขและวัคซีนป้องกันโควิด -19 คือ การจัดตั้งธุรกิจของ BioNTech เพื่อจำหน่ายวัคซีน Pfizer ในสิงคโปร์ (คาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงปี 2565 หรือต้นปี 2566) (2) เซมิคอนดักเตอร์ บริษัท GlobalFoundries ของสหรัฐฯ ซึ่งได้ขยายการผลิตในสิงคโปร์ และ (3) สารสนเทศและสื่อสารในช่วงหลังโควิด-19 โดยเชิญชวนบริษัท Zoom ได้เปิดศูนย์ R&D แห่งใหม่แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สะท้อนว่าสิงคโปร์ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการฟื้นฟูและการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงหลังโรคระบาด (post-pandemic era) ให้สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและวิธีการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ 

นโยบายด้านแรงงาน

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ตระหนักดีว่าปัญหาการว่างงานของคนชาติสิงคโปร์ที่ค่อนข้างรุนแรงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลโดยตรงต่อความนิยมที่ลดลงต่อพรรค PAP และอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของการเมือง สิงคโปร์ในระยะยาว

ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงจำเป็นต้องออกนโยบายส่งเสริมการจ้างงานคนชาติสิงคโปร์ที่มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่โครงการจ่ายเงินเดือนแก่แรงงานที่เป็นคนชาติ (Job Support Scheme) การเพิ่มพูนและเสริมทักษะ(upskill/reskill) และการระงับการออกหรือต่ออายุใบอนุญาตทำงานแก่คนต่างชาติ โดยในคำกล่าว NDR 2021 ของ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ครั้งนี้ มีมาตรการสำคัญในการช่วยเหลือแรงงานที่เป็นคนชาติสิงคโปร์ ใน 2 กลุ่มสำคัญ ได้แก่

1. การช่วยเหลือผู้มีรายได้ต่ำ (Lower-wage workers – LWWs) ได้แก่ (1) การคิดเงินเดือนแบบ Progressive Wages ให้ครอบคลุม LWWs ในทุกสาขาอาชีพ ทั้งการค้าปลีก บริการอาหาร การจัดการขยะ ผู้ช่วยธุรการ และพนักงานขับรถ (2) การออกกฎระเบียบให้บริษัทที่จ้างงานคนต่างชาติต้องจ่ายเงินเดือนให้คนงานที่เป็นคนชาติ สิงคโปร์  (Local Qualifying Salary) จำนวน 1,400 ดอลลาร์สิงคโปร์ และ (3) การจัดทำเครื่องหมาย Progressive Wage Mark เพื่อทำให้ผู้บริโภคสนับสนุนบริษัทที่จ่ายค่าจ้างแบบ Progressive Wages ให้กับพนักงานทุกคนมากขึ้น

2. การช่วยเหลือผู้มีรายได้ปานกลาง โดยการยกระดับกฎหมายการจ้างงานที่เป็นธรรมภายใต้ TAFEP นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ยอมรับและพยายามทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ระบบเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ยังคงต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะในภาคการเงินและการธนาคาร อย่างไรก็ตาม กระแสความกังวลของคนชาติสิงคโปร์ผู้มีรายได้ปานกลางต่อการถูกชาวต่างชาติแย่งงานยังคงไม่ลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้ยกระดับ Fair Consideration Framework (FCF) ของ TAFEP โดยตราเป็นกฎหมาย ซึ่งหากพิจารณาในหลักการ FCF มีไว้เพื่อป้องกันปัญหาการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานทั้งด้านเพศ ภาษา อายุ ความพิการ และเชื้อชาติ แต่ในทางปฏิบัติ TAFEP ร่วมกับ กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ได้ใช้กลไก FCF ในการควบคุมการจ้างงานชาวต่างชาติอีกทางหนึ่งด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต     

หลังจากนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กล่าว NDR Speech ของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 นพ. Tan See Leng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมคนที่ 2 ได้ประกาศว่าธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) จะขยายโครงการ International Postings Programme – iPOST เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินส่งคนชาติ สิงคโปร์ ไปทำงานใน ต่างประเทศ (โดยเฉพาะในเอเชีย) โดย MAS จะสนับสนุนเงินเดือนและค่าใช้จ่าย เช่น ค่าโดยสารเครื่องบิน ที่พัก และเบี้ยเลี้ยง ซึ่งตั้งแต่ปี 2559 มีคนชาติสิงคโปร์ประมาณ 110 คน ได้รับการสนับสนุนจากโครงการนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับตำแหน่งที่สูงขึ้นเมื่อกลับมาทำงานในภาคการเงินสิงคโปร์

นอกจากนี้ MAS จะขยายโครงการ Finance Associate Management Scheme (FAMS) เพื่อสนับสนุนสถาบันการเงินในการส่งคนชาติสิงคโปร์วัยเริ่มต้นทำงานไปฝึกงานในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน สถาบันการเงินได้รับเงินสนับสนุน 5,000 ดอลลาร์ สิงคโปร์/เดือน/คน สำหรับค่าใช้จ่ายในการส่งไปต่างประเทศภายใต้โครงการนี้ ตั้งแต่ปี 2565 MAS จะขยายระยะเวลาการให้เงินทุนจาก 3 เป็น 6 เดือน

นอกจากรัฐบาลสิงคโปร์ที่สนับสนุน LWWs แล้ว ภาคเอกชนสิงคโปร์ เช่น บริษัท ใน Gig Economy (ระบบเศรษฐกิจที่รองรับการทำงานของผู้คนที่ทำงานอิสระ) เช่น Grab, Gojek, Deliveroo และ Foodpanda ต่างเพิ่มการประกันคุ้มครองพนักงานขับรถ และจ่ายเงินชดเชยครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพ อุบัติเหตุ บาดเจ็บ และทุพพลภาพ เป็นต้น เป็นการช่วยสนับสนุนให้ LWWs มีรายได้ชดเชยในช่วงที่ประสบปัญหาดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อความสำคัญส่วนหนึ่งของ NDR Speech ของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เช่นกัน 

เป็นที่น่าสนใจว่า นโยบายด้านการจ้างงานและมาตรการทางการเงินและภาษีของรัฐบาลสิงคโปร์ หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างข้อจำกัดและอาจเพิ่มต้นทุนแก่บริษัทต่างชาติในสิงคโปร์ ซึ่งในที่สุดประเด็นนี้อาจส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันของสิงคโปร์ในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระดับภูมิภาค โดยบรรษัทข้ามชาติต่าง ๆ อาจเริ่มศึกษาทางเลือกอื่น ๆ เช่น การย้ายสำนักงานไปยังประเทศที่มีความพร้อมและมีสิทธิประโยชน์ในการลงทุนมากกว่า ดังนั้น หากไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีทำเลที่ตั้งโดดเด่นในภูมิภาค สามารถพัฒนา eco-system ทางธุรกิจและปรับปรุงกฎระเบียบภายในทั้งด้านธุรกิจและแรงงานให้เอื้อต่อการลงทุนจากต่างชาติเช่นเดียวกับสิงคโปร์ ไทยก็น่าจะได้รับประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว   


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง