“เนื้อสัตว์ทางเลือก” เทรนด์อาหารที่น่าจับตามองในสิงคโปร์

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางอาหาร (FoodTech) โดยเฉพาะในกลุ่มเนื้อสัตว์ทางเลือก เช่น เนื้อสัตว์จากการเพาะเลี้ยงเซลล์ (Cell-cultured meat) และเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช (Plant-based meat) กำลังเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในสิงคโปร์และทั่วโลก จึงทำให้มีผู้ประกอบการลงทุนในด้านเนื้อสัตว์จากพืชและอาหารสีเขียวเพิ่มมากขึ้น โดยข้อมูลจาก The Good Food Institute พบว่า มูลค่าการลงทุนทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 4.1 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์) เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากมูลค่าการลงทุนเมื่อปี 2562 นอกจากนี้ แอปพลิเคชัน Abillion ที่ให้บริการค้นหาร้านอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่มมังสวิรัติและเนื้อสัตว์ทางเลือก ได้สำรวจข้อมูลจากผู้ใช้งานทั่วโลกจำนวน 10,000 คน พบว่า ในปี 2563 ได้มีการค้นหาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทางเลือกเพิ่มขึ้นมากถึง 7 เท่า และพบว่าผู้ใช้งานได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อสัตว์ทางเลือกเพิ่มขึ้นมากถึง 306% จากปี 2562

วิกฤตการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ได้เร่งให้กระแสการบริโภคเนื้อสัตว์ทางเลือกในสิงคโปร์เป็นที่นิยมมากขึ้นในช่วงปี 2563 เนื่องจากประชาชนในสิงคโปร์มีความกังวลด้านสุขภาพ จึงได้ปรับพฤติกรรมการบริโภคโดยใส่ใจสุขภาพมากขึ้น นอกจากนี้ โดยที่สิงคโปร์ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารและเนื้อสัตว์จากต่างประเทศมากกว่า 90 % เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงต้น ทำให้สิงคโปร์ต้องเผชิญภาวะหยุดชะงักของการนำเข้าเนื้อสัตว์ และภาวะราคาสินค้าเนื้อสัตว์เพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงสนับสนุนการผลิตเนื้อสัตว์ทางเลือก อาทิ เนื้อไก่จากห้องแล็บ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานเนื้อสัตว์ภายในประเทศ

โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา บริษัท Eat Just ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีอาหารของสหรัฐฯ ที่จดทะเบียนดำเนินธุรกิจในสิงคโปร์ ได้เริ่มขายเนื้อไก่ที่เพาะเลี้ยงจากห้องแล็บอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นประเทศเเรกในโลก จุดเด่นคือ 1) เนื้อสัตว์ทางเลือกสามารถควบคุมสารอาหารได้ จึงมีโปรตีนสูงและมีสารอาหารสำคัญครบถ้วน และ 2) กระบวนการผลิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างแอนติบอดี ซึ่งหากมีการใช้แอนติบอดีมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

ผลสำรวจจากเว็บไซต์สถิติ Statista ระบุว่า ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์นิยมเนื้อสัตว์ทางเลือกมากขึ้น เนื่องจาก 1) เพื่อการดูแลสุขภาพ 46% 2) กังวลผลกระทบจากการบริโภคเนื้อแดงและสัตว์น้ำ 37% และ 3) ต้องการหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการแปรรูป 24% อีกทั้งข้อมูลจากแอปพลิเคชัน Deliveroo Singapore ระบุว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ชาวสิงคโปร์นิยมอาหารสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะ “Impossible meats” (หนึ่งในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทางเลือกที่ทำจากพืช) ที่มีผู้สั่งซื้อเพิ่มขึ้นมากถึง 53% โดยมีเมนูยอดนิยม คือ Impossible Burger อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ทางเลือกมีความซับซ้อน จึงยังคงมีราคาสูงกว่าเนื้อสัตว์ธรรมชาติ ทั้งนี้ เมื่อช่วงเมษายนที่ผ่านมา บริษัทสตาร์ทอัพในสิงคโปร์บางรายเริ่มมีแนวคิดที่จะส่งออก Impossible meats ไปจำหน่ายในประเทศไทย โดยได้จัดการทดลองรสชาติอาหารสำหรับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนไทยโดยเฉพาะ

ข้อมูลจาก Enterprise Singapore (ESG) หน่วยงานส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการสิงคโปร์ ระบุว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สิงคโปร์มีบริษัทสตาร์ตอัพด้าน FoodTech ในกลุ่มเนื้อสัตว์ทางเลือก ที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจเนื้อสัตว์ทางเลือกแล้วประมาณ 15 ราย และมีบริษัทสตาร์ตอัพอีกกว่า 100 แห่ง ที่ทาง ESG กำลังให้การสนับสนุนด้านกระบวนการวิจัยและช่วยจัดหาผู้ร่วมทุน (Venture Capital) อนึ่ง ปัจจุบันมีบริษัทด้าน FoodTech ที่น่าสนใจ อาทิ 1) Gaia Foods ซึ่งเป็นผู้ผลิตเนื้อสัตว์ทางเลือก ประเภทเนื้อหมู เนื้อวัว และเนื้อแกะ และ 2) บริษัท ADM จากสหรัฐฯ ที่ได้เปิดตัวห้องปฏิบัติการนวัตกรรม (Innovation Lab) เพื่อผลิตเนื้อสัตว์ทางเลือกที่มีรสชาติตรงกับความต้องการของตลาดเอเชีย-แปซิฟิก เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการเกษตร (AgriTech) อย่างจริงจัง โดยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายความมั่นคงทางอาหาร “30 by 30” หรือ การสร้างศักยภาพด้านการผลิตอาหารในสิงคโปร์อย่างน้อยร้อยละ 30 ของความต้องการบริโภคอาหารภายในประเทศภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ภายใต้นโยบายดังกล่าวจึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศทำการเกษตรในอาคาร (Indoor Farming) และการเกษตรเเนวตั้ง (Vertical Farming) โดยการใช้เทคโนโลยีควบคุมสิ่งแวดล้อมทางการเกษตร อาทิ การใช้ AI เพื่อควบคุมปัจจัยการเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างของผู้ประกอบการด้าน AgriTech ที่ประสบความสำเร็จ คือ บริษัท Sustenir Agriculture ที่สามารถเพาะปลูกพืชเมืองหนาวได้ในเมืองร้อนอย่างสิงคโปร์ อาทิ ผัก Kale และผักร็อกเก็ต (Arugula) โดยใช้วิธีการเพาะปลูกแนวตั้งในพื้นที่จำกัด รวมทั้งสิ้นเพียง 10,000 ตารางฟุต (ประมาณ 930 ตารางเมตร) ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีควบคุมการเจริญเติบโต อาทิ คลื่นแสง ปุ๋ย ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ค่า pH ของน้ำ เป็นต้น ตัวอย่างของผลผลิตที่ได้ ได้แก่ ผักกาดหอม 3.2 ตันต่อเดือน และผัก Kale 1 ตันต่อเดือน โดยใช้พื้นที่เพาะปลูกรวมทั้งสิ้นเพียง 54 ตารางเมตร ซึ่งผลผลิตที่ได้มากกว่าการเพาะปลูกแบบดั้งเดิมถึง 14 – 127 เท่า โดยแผนงานในขั้นตอนไป คือการพัฒนาและศึกษาความเป็นไปได้ในการปลูกผลไม้เมืองหนาวอื่น ๆ อาทิ สตรอว์เบอร์รี่ องุ่น และการผลิตไวน์

โอกาสของผู้ประกอบการไทยในตลาดเนื้อสัตว์ทางเลือก

เนื้อสัตว์ทางเลือกยังเป็นธุรกิจในสิงคโปร์ และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีผู้ประกอบการบางส่วนได้วิจัย ผลิต และจัดจำหน่ายแล้ว แต่ถือว่ายังมีโอกาสและช่องทางการเติบโต เพราะไม่เพียงกลุ่มผู้บริโภครายย่อยที่ต้องการซื้อเนื้อสัตว์ทางเลือกเพื่อบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น แต่ธุรกิจร้านอาหารหลายแห่งได้เริ่มให้บริการอาหารที่ใช้เนื้อสัตว์ทางเลือก ทั้งในร้านอาหารเพื่อสุขภาพ จนถึงร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด จึงเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยที่จะศึกษาโอกาสในการร่วมทุนกับบริษัทสตาร์ทอัพในสิงคโปร์ เพื่อผลิตเนื้อสัตว์ทางเลือกประเภทอื่น ๆ อาทิ เนื้อสัตว์ทางเลือกในอาหารไทยแบบประยุกต์ ซึ่งยังไม่มีผู้ทดลองจำหน่าย โดยใช้เทคโนโลยีด้านอาหารและเกษตรกรรมสีเขียว กอปรกับกระแสคนรักสุขภาพเป็นปัจจัยส่งเสริมการขายได้ต่อไป


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง