เมื่อปี 2456 รัฐบาลเมืองสิงคโปร์ (ยังเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรในขณะนั้น) ได้ยกระดับคณะกรรมการ Tanjong Pagar Dock Board ขึ้นเป็นคณะกรรมการอ่าวสิงคโปร์ (Singapore Harbour Board – SHB) เพื่อกำกับดูแลและพัฒนากิจการท่าเรือในสิงคโปร์ ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2507 SHB ได้พัฒนาเป็นการท่าเรือแห่งสิงคโปร์ (Port of Singapore Authority – PSA) เป็นหน่วยงานของรัฐบาลในด้านกิจการท่าเรือและการพัฒนาท่าเรือทั่วชายฝั่งโดยรอบสิงคโปร์ เมื่อปี 2531 สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองท่าเรือที่มีความคึกคักที่สุดในโลก (busiest shipping port) และเป็นท่าเรือสินค้า (Container Port) และท่าเรือบังเกอร์ (Bunkering Port) ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากนครเซี่ยงไฮ้) และตั้งแต่ปี 2537 PSA Singapore Terminals มีปริมาณการขนส่งสินค้ามากที่สุดในโลก รวมกว่า 5 ล้านหน่วย TEUs (Twenty-foot Equivalent Units)

การขยายธุรกิจท่าเรือของ PSA ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยมีกิจการท่าเรือและความร่วมมือกับต่างประเทศในเชิงพาณิชย์เป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2540 รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้เปลี่ยนสถานะ PSA เป็นบริษัทเอกชนในชื่อ PSA Corporation Ltd. และจัดตั้งหน่วยงานกรมเจ้าท่าสิงคโปร์ (Maritime and Port Authority of Singapore – MPA) เพื่อบริหารราชการเกี่ยวกับกิจการทะเลและกฎระเบียบด้านทะเลของสิงคโปร์สืบแทน PSA

เมื่อเดือนธันวาคม 2543 PSA Corporation Ltd. ได้เปลี่ยนชื่อเป็น PSA International Pte Ltd. โดยเข้าไปดำเนินกิจการท่าเรือน้ำลึกในหลายประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ PSA ยังได้จัดตั้งบริษัท The Harbour Front Limited (หรือบริษัท Mapletree Investments ในปัจจุบัน) เพื่อนำกำไรบางส่วนจากการบริหารจัดการท่าเรือของ PSA ไปลงทุนในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของประเทศต่าง ๆ ทั้งในสิงคโปร์ (อาทิ ห้างสรรพสินค้า VivoCity) เอเชีย-แปซิฟิก ยุโรป สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร รวมทั้งได้จัดตั้ง บริษัท PSA Marine เพื่อให้บริการเกี่ยวกับการเดินเรือสมุทรและการขนส่งทางเรืออย่างครบวงจร โดยมีเรือบรรทุกสินค้าในครอบครองกว่า 80 ลำ ในสิงคโปร์ มาเลเซีย จีน อินเดีย ออสเตรเลีย และโอมาน         

การบริหารกิจการท่าเรือในต่างประเทศของ PSA International 

ปัจจุบัน PSA International เป็นบริษัทในเครือ Temasek Holdings และเป็นบริษัทท่าเรือข้ามชาติที่มีรายได้สูงสุดอันดับ 1 ของโลก ประจำปี 2563 จากการจัดอันดับของ Lloyd’s List มีมูลค่าทรัพย์สินรวมประมาณ 23,372 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ผลประกอบการประจำปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้ 4,179 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 1 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นกำไรสุทธิ 1,168 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ลดลงร้อยละ -6.2 จากปีก่อนหน้า ปริมาณการขนส่งสินค้าในท่าเรือทั่วโลก รวม 86.6 ล้าน TEUs เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากปีก่อนหน้า โดยเป็นการขนส่งผ่านท่าเรือในสิงคโปร์ 36.6 ล้าน TEUs

ตั้งแต่ปี 2539 PSA เริ่มดำเนินกิจการท่าเรือในต่างประเทศเป็นครั้งแรก ณ เมืองต้าเหลียน สาธารณรัฐประชาชนจีนและขยายธุรกิจไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ได้แก่ เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ อเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกา โดยเป็นเจ้าของท่าเรือสินค้า (port container terminals) ใน 19 ปท. ได้แก่ ไทย (กทม. ชลบุรี) สิงคโปร์ เวียดนาม (หวุงเต่า) อินโดนีเซีย (จาการ์ตา) จีน (ต้าเหลียน เหลียนหยุนกั่ง เทียนจิน ฝูโจว กว่างโจว ชินโจว) เกาหลีใต้ (อินซอน ปูซาน) ญี่ปุ่น (คิตะคิวชู) อินเดีย (กัลกัตตา นาวีมุมไบ เชนไน ทุติโกริน) ซาอุดีฯ (อัดดัมมาม) เบลเยียม (ซีบรูจ แอนท์เวิร์พ) อิตาลี (เจนัว เวนีซ) โปรตุเกส (ซีเนจ) ตุรกี (เมอร์ซิน) โปแลนด์ (กดัญสก์) อาร์เจนตินา (บัวโนสไอเรส) ปานามา (ปานามาซิตี้) โคลอมเบีย (บัวนาเวนทูรา) แคนาดา (โนวาสโกเทีย) และสหรัฐฯ (ฟิลาเดเฟีย)

ลักษณะการดำเนินธุรกิจของ PSA International มีทั้งการลงทุนโดยตรงและการร่วมทุนในลักษณะ joint venture กับการท่าเรือต่างประเทศ หรือบริษัทท่าเรือของต่างประเทศ เป้าหมายสำคัญของบริษัทฯ คือ ผลประโยชน์ทางธุรกิจด้านการเดินเรือบรรทุกสินค้าและการพัฒนาท่าเรือสินค้าของ PSA International ให้เป็นศูนย์กระจายสินค้าภายในประเทศและภูมิภาค (เช่น ท่าเรือเจนัวเป็นชุมทางสินค้าในยุโรปใต้ และท่าเรือปานามาเป็นชุมทางสินค้าในทวีปอเมริกา) รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อในการขนส่งและลำเลียงสินค้าระหว่างภูมิภาค ทั้งนี้ ทวีปอเมริกาเป็นภูมิภาคล่าสุดที่ PSA International เริ่มไปลงทุนเมื่อปี 2550 ในโครงการพัฒนาฐานทัพเรือเก่าของสหรัฐฯ Rodman Naval Base ในคลองปานามาให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัย และเมื่อปี 2561 ได้พัฒนาท่าเรือ Penn Terminals ในสหรัฐฯ ด้วยระบบ post-panamax Ship-to-Shore (STS) cranes ที่ทันสมัย

ท่าเรือ Penn
แหล่งที่มา: https://container-mag.com/

นอกจากการบริหารจัดการท่าเรือน้ำลึกในต่างประเทศแล้ว PSA International ยังได้ร่วมลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางบกในต่างประเทศเพื่อเชื่อมโยงกับท่าเรือ อันเป็นประโยชน์ต่อการกระจายและลำเลียงสินค้าอย่างครบวงจร โดยเฉพาะในจีน PSA International ได้ร่วมมือกับวิสาหกิจของรัฐบาลจีน ในโครงการ China United International Rail Containers (CUIRC) เพื่อพัฒนาเส้นทางรถไฟ และจัดตั้งศูนย์ขนส่งสินค้าทางรถไฟ (railway container terminals) 12 แห่ง ทั่ว ประเทศจีน ได้แก่ นครอู่ฮั่น นครซีอาน เมืองชิงต่าว เมืองหนิงปัว เมืองต้าเหลียน นครคุนหมิง นครเจิ้งโจว นครเทียนจิน นครฉงชิ่ง เมืองเชิงตู นครอุรุมชี (ซินเจียง) และเมืองชินโจว (เชื่อมโยงอ่าวเป่ยปู้กับ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามข้อริเริ่ม BRI) นอกจากในจีนแล้ว PSA International ยังได้จัดตั้ง Inland Terminal ที่เมือง บริทิชโคลัมเบียของแคนาดาด้วย

ประธานบริษัทของ PSA International คือ นาย Peter Voser (ชาวสวิส) โดยดำรงตำแหน่งกรรมการใน Temasek และประธานบริษัท ABB (บริษัทวิศวกรรมชั้นนำของโลก) ควบคู่กันด้วย ทั้งนี้ นาย Voser เคยดำรงตำแหน่ง CEO ของบริษัท Royal Dutch Shell มาก่อน ในขณะที่นาย Tan Chong Meng (ชาวสิงคโปร์) เป็น Group CEO และนาย Pan Kin Keong ปลัดมหาดไทยสิงคโปร์ (Ministry of Home Affairs/ อดีตปลัดคมนาคมสิงคโปร์) เป็นกรรมการบริษัทด้วย

การดำเนินธุรกิจและความร่วมมือกับประเทศไทย

ท่าเรือ Thai Connectivity Terminal (TCT) เดิมชื่อ Thai Prosperity Terminal เป็นท่าเรือสินค้าบนแม่น้ำแห่งแรกของ PSA ก่อตั้งเมื่อปี 2532 บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา (98 หมู่ 3 ถ.ปู่เจ้าสมิงพราย จ.สมุทรปราการ) ตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลาง กทม. 20 กม. และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 40 กม. บนพื้นที่ 110,000 ตร.ม. ภายในแบ่งเป็นท่าเทียบเรือหมายเลข 10 และหมายเลข 12 ท่าเรือหมายเลข 10 สามารถรับรองเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Feeder) ขนาด Bangkok Max (ความยาว 172 ม.) ได้ ปัจจุบัน TCT ให้บริการสายการเดินเรือทั้งหมด 3 เส้นทาง ได้แก่ ไทย – มาเลเซีย (ฝั่ง ตะวันออก) ไทย – มาเลเซีย (ฝั่ง ตะวันตก) และไทย – ฟิลิปปินส์ และท่าเรือหมายเลข 12 ให้บริการสำหรับเรือขนสินค้าชายฝั่ง (Barge) เพื่อเชื่อมต่อระหว่าง TCT กับท่าเรือแหลมฉบัง ให้บริการเดินเรือใน 12 สายการเดินเรือ ทั้งในระดับภูมิภาคและสากล มีพื้นที่พักตู้สินค้า และบริการซ่อมแซมและทำความสะอาดตู้สินค้าแบบครบวงจร ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2535 TCT ได้รับอนุญาตให้จัดทำท่าเทียบเรือที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด บนพื้นที่กว่า 50 ไร่ ปัจจุบัน TCT มีปริมาณสินค้าผ่านท่าเฉลี่ย 250,000 TEUs/ปี และสามารถรองรับปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือได้สูงสุดถึง 325,000 TEUS/ปี นอกจากนี้ PSA International ยังมีแผนการลงทุนเป็นเงินกว่า 70 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงและพัฒนาท่าเรือ TCT ให้ทันสมัย ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี/ระบบดิจิทัล ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565

ท่าเรือ ESCO แหลมฉบัง (Eastern Sea Laem Chabang Terminal Co. Ltd. – ESCO) เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2534 ณ ท่าเทียบเรือตู้สินค้า B3 ในท่าเรือแหลมฉบัง และขยายความเป็นหุ้นส่วนในท่าเทียบเรือตู้สินค้า A0 และ B1 ของท่าเรือแหลมฉบังด้วย เมื่อเดือนเมษายน 2548 PSA International ได้ร่วมทุนกับบริษัท Marubeni, Kamigumi ของญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาท่าเทียบเรือตู้สินค้าของ ESCO ทำให้ในปัจจุบัน ESCO สามารถรองรับตู้สินค้าได้มากกว่า 2.2 ล้าน TEUs/ปี และรองรับเรือขนาด Post-Panamax ความยาว 300 เมตร และกินน้ำลึกสูงสุด 14 เมตร ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งรวมถึงระบบจัดการท่าเทียบเรือ CATOS (Computer Automated Terminal Operation System) ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้จัดตั้งสำนักงานเพื่อดำเนินพิธีศุลกากรที่ท่าเทียบเรือของ ESCO ตลอด 24 ชั่วโมง                       

ความร่วมมือกับ SCG เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ได้เป็นผู้แทนบริษัท SCG Logistics ลงนามความร่วมมือกับ PSA Thailand ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน SCG-PSA Holdings Co., Ltd เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการโลจิสติกส์ของท่าเรือ TCT ให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงธุรกิจโลจิสติกส์ทางเรือ โดยครอบคลุมการให้บริการท่าเรือ การขนถ่ายสินค้านำเข้า-ส่งออก และการบริการขนส่งระหว่างท่าเรือในประเทศ และระหว่างประเทศ รวมทั้งลงทุนพัฒนาธุรกิจ supply chains ในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ความร่วมมือดังกล่าว ทำให้ TCT สามารถให้บริการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อได้ทั่วประเทศไทยและภูมิภาคตามกลยุทธ์ Seamless Solutions

ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อ PSA ในการบริหารจัดการท่าเรือ

อุตสาหกรรมการเดินเรือสิงคโปร์ได้รับผลกระทบจากความล่าช้าหรือหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกจากวิกฤติการณ์โควิด-19 จำนวนเรือพาณิชย์ที่จอดเทียบท่าเพิ่มมากขึ้นและปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาทั้งในสิงคโปร์และหลายประเทศทั่วโลก เรือบรรทุกสินค้าที่จอดเทียบท่า

ในท่าเรือสิงคโปร์ระยะเวลามากกว่า 2 วันโดยเฉลี่ยมีมากถึง 46 ลำต่อวันในเดือนมกราคม 2564 และเพิ่มขึ้นสูงสุด
เป็น 52 ลำต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 60 จากช่วงเดียวกันของปี 2563

PSA ปรับตัวต่อวิกฤติการณ์นี้โดยการเพิ่มทรัพยากรและขีดความสามารถเพื่อรองรับกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นที่ท่าเรือสิงคโปร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าที่สำคัญของโลก ทีม PSA Cargo Solutions เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (PSA Cargo Solutions Southeast Asia – PCSS) ได้เริ่มแผนบริการเสริม เช่น วิธีการขนถ่ายสินค้าจากตู้คอนเทนเนอร์และการส่งสินค้าไปสู่โรงงานการผลิตอย่างเร่งด่วนสำหรับสินค้าที่มีการจำกัดในเรื่องของเวลา หรือการอำนวยความสะดวกให้เจ้าของสินค้าสามารถวางแผนการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพโดยการตรวจสอบสถานะของเรือขนส่งสินค้าตู้สินค้า ได้เกือบ realtime ผ่านโปรแกรม CALISTA P!NG ซึ่งพัฒนาโดย Global eTrade Services (GeTS) บริษัทแพลตฟอร์มการค้าชั้นนำระดับโลก ใช้เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญด้านโดเมน G2B และ B2B

ข้อมูลเพิ่มเติม  

ปัจจุบันสิงคโปร์มีท่าเรือสินค้า จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ (1) Tanjong Pagar (2) Keppel (3) Brani (4-5) Pasir Panjang อาคาร 1 และ อาคาร 2 ทั้งนี้รัฐบาลสิงคโปร์ อยู่ระหว่างการวางแผนพัฒนาท่าเรือ Tuas ซึ่งเป็นท่าเรือขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาค ซึ่งเป็นโครงการของ PSA International โดยเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562 นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ อย่างเป็นทางการบนพื้นที่ทางตะวันตกของสิงคโปร์กว่า 13.39 ล้านตารางเมตร การจัดทำโครงการแบ่งเป็น 4 ระยะ ซึ่งโครงการระยะที่ 1 ขนาดพื้นที่ 4.14 ล้านตารางเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2564 จากนั้น ในปี 2570 จะย้ายท่าเรือสินค้า 3 แห่งจาก 5 แห่งของสิงคโปร์ (Brrni, Keppel, Tanjong Pagar) ไปยังท่าเรือ Tuas และโครงการทั้งหมดจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2583 และสามารถรองรับการขนส่งสินค้ากว่า 65 ล้าน TEUs ต่อปี (เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าของศักยภาพของท่าเรือสิงคโปร์ทุกแห่งรวมกันในปัจจุบัน)


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง