ด้วยเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 นาย S Iswaran รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ ได้กล่าวในโอกาสครบรอบ 20 ปี กระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ ในหัวข้อ “Reliable, Resilient and Ready for the Future: Connecting SG with People, Places and Possibilities” โดยกล่าวถึงความสำเร็จด้านคมนาคมของสิงคโปร์ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และนโยบายในช่วง 20 ปี ต่อจากนี้ ตลอดจนการขยายการจัดทำช่องทาง Vaccinated Travel Lane (VTL) เพิ่มเติม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

พัฒนาการด้านคมนาคมของสิงคโปร์ 20 ปีที่ผ่านมา  

สิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ทั้งทางบก เรือ และอากาศจนกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญของภูมิภาค โดยมีพัฒนาการที่สำคัญ ดังนี้

ทางบก สิงคโปร์ได้ขยายระบบรถไฟระบบราง (LRT) จาก 1 สายเป็น 3 สายและรถไฟใต้ดิน (MRT)

3 เส้นทาง เป็น 6 สาย เพิ่มจำนวนสถานีจาก 85 สถานี เป็น 189 สถานี ทำให้ครัวเรือนร้อยละ 70 ทั่วสิงคโปร์สามารถเดิน

จากบ้านไปสถานี MRT ได้ภายใน 10 นาที (จากเดิมเพียงร้อยละ 40 เมื่อปี 2544) และในปี 2564 นี้ สิงคโปร์มีกำหนดเปิด MRT สาย Thomson – East-Coast Line จำนวน 39 สถานี (รวม 8 สถานีชุมทาง) ความยาว 43 กิโลเมตร ซึ่งจะผ่านใจกลางเมืองและสถานที่สำคัญ เช่น สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ สวนพฤกษศาสตร์ Gardens by the Bay และ Marina Bay

ทางอากาศ จากสถิติปี 2562 (ก่อนโควิด-19) ท่าอากาศยานชางงีมีผู้โดยสารกว่า 68.3 ล้านคน ตลอดทั้งปี เพิ่มขึ้นจาก 26 ล้านคนเมื่อปี 2544 และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหมายเลข 5

ทางเรือ สิงคโปร์อยู่ระหว่างการพัฒนาท่าเรือ Tuas ซึ่งเป็นท่าเรืออัจฉริยะขนาดใหญ่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศ หากสร้างแล้วเสร็จจะสามารถขนส่งสินค้าได้ปริมาณมากกว่า 65 ล้าน TEUs หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากปี 2544

นโยบายการพัฒนาคมนาคมในอีก 20 ปีข้างหน้า

กระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ให้ความสำคัญสูงสุดกับการรับมือกับปัญหาโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยใช้หลักการความเชื่อถือได้ ความยืดหยุ่น และความพร้อมสู่อนาคต (Reliable, Resilient and Ready for Future)

ด้านความน่าเชือถือ กระทรวงคมนาคมสิงคโปร์จะส่งเสริมศักยภาพของสิงคโปร์ในการเป็นศูนย์กลางการเดินทางระหว่างประเทศภูมิภาค (transport hub) ทั้งทางเรือและทางอากาศ โดยจะแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ด้านความยืดหยุ่น ตั้งแต่เกิดโควิด-19 สิงคโปร์ได้เพิ่มความยืดหยุ่นและปรับตัวสถานการณ์ ดังนี้

(1) สิงคโปร์กลายเป็น “catch-up port” หรือท่าเรือเชื่อมต่อที่ทำให้การขนส่งสินค้าที่ล่าช้าจากที่อื่นสามารถกลับมาส่งทันเวลาได้มากขึ้น เนื่องจากท่าเรือสิงคโปร์มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสามารถจัดการเวลาได้ดี ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ในช่วงมกราคม – กรกฎาคม 2564 ปริมาณการขนส่งทางเรือของสิงคโปร์จึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 แสดงให้เห็นว่าภาคการขนส่งทางเรือของสิงคโปร์กลับมาฟื้นตัวและเติบโตได้ดีกว่าช่วงก่อนโควิด-19

(2) ในด้านการขนส่งทางอากาศ บริษัทขนส่งในสิงคโปร์สามารถจองเวลาเพื่อขนส่งสินค้าแบบทันที โดยจองเวลาเพียง 1 ชั่วโมงล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม ท่าอากาศยานชางงียังคงเปิดดำเนินการได้เพียงร้อยละ 3 และสายการบิน SIA ดำเนินการได้เพียงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก และยังคงเป็นความท้าทายสำคัญ

ความพร้อมสู่อนาคต สิงคโปร์จะส่งเสริมด้านความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น กล่าวคือสิงคโปร์จะดำเนินการเพื่อลด

การปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) แต่ลดการใช้เครื่องยนต์สันดาป (ICE) เนื่องจากการจราจรทางบกคิดเป็นร้อยละ 15 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งหมดของสิงคโปร์ นอกจากนี้ MRT ตั้งเป้าหมายลด carbon footprint ร้อยละ 85 ขณะที่สายการบิน SIA และบริษัทขนส่งทางทะเล PSA ของสิงคโปร์ ตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ (net zero emission) ในปี 2593 ในช่วงต้นปี 2564 สิงคโปร์ ได้จัดตั้งศูนย์ Global Centre for Maritime Decarbonisation ด้วยเงินทุน 120 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยมี ศาสตราจารย์ Lynn Loo เป็น CEO เพื่อศึกษาเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในกิจการมหาสมุทรอย่างจริงจัง ทั้งนี้ สิงคโปร์สนับสนุนวาระการลดการปล่อยมลพิษในระบบคมนาคมของ ICAO และ IMO เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนร่วมกันของโลก  

การส่งเสริมความเชื่อมโยง (People, Places and Opportunities)              

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ย้ำถึงปัจจัยสำคัญ 3 ประการในการส่งเสริมความเชื่อมโยง ได้แก่ (1) hardware การพัฒนาและการขยายระบบการคมนาคมขนส่ง (2) software คือ การส่งเสริมวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์และเอื้ออำนวยต่อการคมนาคม โดยผู้สัญจรทั้งทางรถโดยสาร (commuters) จักรยาน (cyclists) และจักรยานยนต์ (motorists) ควรมีความเอื้ออาทรต่อกัน โดยคำนึงถึงความจำเป็นและข้อห่วงกังวลของผู้อื่นเพื่อการสัญจรอย่างปลอดภัยด้วย และ (3) การพัฒนาบุคคล (upskilling and capability development) โดยกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์มองว่า การพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมที่ยั่งยืนจะช่วยสร้างงานใหม่ ๆ ทั้งในด้านวิศวกรรม การวิเคราะห์ข้อมูล และอุตสาหกรรมยานยนต์ ดังนั้น กระทรวงคมนาคมสิงคโปร์จะร่วมกันพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านการคมนาคมของสิงคโปร์ให้มีทักษะที่จำเป็นต่อการคมนาคมในอนาคต                                   

ข้อมูลเพิ่มเติม  

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ได้ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ที่สิงคโปร์ได้ประกาศจัดทำช่องทางพิเศษสำหรับผู้เดินทางที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบถ้วนแล้ว (Vaccinated Travel Lane – VTL) กับเยอรมนีและบรูไนเมื่อวันที่ 8 กันยายน 64 จนถึงปัจจุบัน มีผู้เดินทางด้วย VTL ประมาณ 900 คน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี และสิงคโปร์วางแผนจะขยายการเปิด VTL กับประเทศต่าง ๆ ในช่วงต่อจากนี้


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง