ผู้ประกอบการอาหารจากแมลงมีเฮ! สิงคโปร์อนุมัติให้นำเข้าและจำหน่ายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้  

อีกไม่นานแล้ว ที่สิงคโปร์จะเริ่มให้ขายอาหารที่ปรุงจากแมลงในร้านอาหาร หรือสินค้าแปรรูปที่ทำจากแมลง เช่น แมลงทอด หรือโปรตีนอัดแท่ง (Protein Bar) ที่มีส่วนผสมของแมลงต่าง ๆ ได้ โดยเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา สำนักงานอาหารสิงคโปร์ (Singapore Food Agency : SFA) ประกาศว่าจะอนุมัติให้ผู้ประกอบการนำเข้าแมลงเพื่อประกอบอาหารรวมทั้งขายอาหารที่มีส่วนผสมของแมลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งเป็นโอกาสใหม่สำหรับประเทศผู้ส่งออกอาหารจากแมลงอย่างประเทศไทยที่จะทดลองขยายตลาดมายังสิงคโปร์

สำนักงานอาหารสิงคโปร์ SFA เปิดไฟเขียวการนำเข้าแมลง เริ่มครึ่งหลังของปี 2566 นี้

สำนักงานอาหารสิงคโปร์จะเริ่มอนุมัติให้นำเข้าและจำหน่ายแมลง รวมถึงผลิตภัณฑ์จากแมลงจำนวน 16 ชนิด เพื่อการบริโภค ซึ่งรวมถึง จิ้งหรีด ตั๊กแตน แมลงปีกแข็ง (Beetles) ผีเสื้อกลางคืน (Moths) และผึ้ง โดยจะสามารถเริ่มจัดจำหน่ายในสิงคโปร์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 นี้

นอกจากแมลงแล้ว SFA ยังจะอนุญาตให้จำหน่ายรังของหนอนไหม (cocoon of Bombyx mori หรือ silkworm) เพื่อการบริโภคในสิงคโปร์ด้วย โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลของหลายประเทศ รวมทั้งจีนและมาเลเซีย ได้อนุญาตให้บริโภคกันอยู่ก่อนหน้าแล้ว นอกจากนี้ SFA จะอนุญาตการสกัดไฟโบรอิน (Fibroin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่สำคัญจากรังไหมเพื่อการบริโภคด้วย เนื่องจากได้รับการรับรองว่าปลอดภัยจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (the United States’ Food and Drug Administration) และทางการเกาหลีใต้และญี่ปุ่นก็อนุมัติให้ใช้บริโภคได้อย่างแพร่หลาย

การประกาศอนุมติในครั้งนี้ เป็นผลจากการสำรวจความคิดเห็นและการหารือของ SFA กับภาคเอกชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 5 ตุลาคม ถึง 4 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ทั้งเรื่องเงื่อนไขการนำเข้า ข้อกำหนดเกี่ยวกับการออกใบอนุญาต รวมถึงทุกข้อสงสัยและความกังวลในการนำเข้าผลิตภัณฑ์แมลงมายังสิงคโปร์ ทั้งนี้ การอนุมัติให้จำหน่ายจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขด้านความปลอดภัยของอาหารของ SFA ซึ่งรวมถึงกระบวนการกำจัดจุลินทรีย์ก่อโรค และการบรรจุและเก็บรักษาที่สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคหรือสารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

สำหรับหนอนแมลงวันลายหรือหนอนแมลงทหารดำ (black soldier fly larvae) ที่ปัจจุบันมีการเลี้ยงเพื่อย่อยขยะอินทรีย์ นำมูลมาทำปุ๋ย และใช้เป็นอาหารสำหรับปลาและกุ้งในสิงคโปร์นั้น ยังไม่ได้รับการอนุมัติจาก SFA ในครั้งนี้ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลอ้างอิงว่าปลอดภัยเพียงพอที่จะใช้ในการบริโภคของมนุษย์ได้ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องขออนุญาตนำเข้าผ่านกรอบการพิจารณาประเภทอาหารใหม่ (novel food) เท่านั้น

ความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการ การตลาด และแนวโน้มการบริโภคแมลงในสิงคโปร์

ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารจากแมลงหลายรายเร่งวางแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และแผนการตลาดเกี่ยวกับอาหารจากแมลงกันอย่างคึกคัก เพื่อให้พร้อมจำหน่ายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่ก็ยังกังวลว่าตลาดจะตอบรับหรือไม่ และจะสามารถเติบโตและเข้ากับวัฒนธรรมการบริโภคของคนสิงคโปร์ได้มากน้อยเพียงใด โดยคาดการณ์ว่าความต้องการบริโภคและการยอมรับในระยะแรกอาจจะยังไม่สูง และจำกัดเพียงตลาดเฉพาะกลุ่ม การจะพัฒนาเมนูอาหารที่ทำจากแมลงเป็นที่รู้จักและขายได้อย่างปกติในร้านอาหารท้องถิ่นของสิงคโปร์ยังคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่

บริษัท Future Protein Solutions ฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดและผู้ผลิตผงโปรตีนจากจิ้งหรีดของสิงคโปร์เห็นว่า ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งให้ความรู้เพิ่มการยอมรับของผู้บริโภค ส่วนบริษัท Asia Insect Farm Solutions ผู้ผลิตผงโปรตีนจากจิ้งหรีดรายใหญ่ ซึ่งมีสินค้าวางจำหน่ายในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร แนะนำให้เริ่มจากการประชาสัมพันธ์เมนูที่คนสิงคโปร์จะยอมบริโภคได้ง่าย เช่น นำมาผสมในเครื่องดื่มปั่น ในขณะที่สตาร์ทอัพ Altimate Nutrition ของสิงคโปร์ กำลังเตรียมจัดส่งโปรตีนอัดแท่งที่ผลิตในประเทศไทยจำนวนมากมาจำหน่ายในสิงคโปร์ และวางแผนที่จะจัดสัมมนาและกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังร่วมกับร้านอาหาร House
of Seafood คิดค้นสูตรอาหารให้น่าสนใจเพื่อดึงดูดผู้บริโภค เช่น ปูผัดพริกใส่จิ้งหรีด

บริษัท Altimate Nutrition สตาร์ทอัพสิงคโปร์ผู้ผลิตโปรตีนอัดแท่งจากจิ้งหรีด
แหล่งที่มา: Altimate Nutrition (https://altimatenutrition.com/about/)

แม้ว่าการบริโภคแมลงจะไม่ได้เป็นสิ่งแปลกใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารของสิงคโปร์ ไม่แนะนำให้ร้านอาหารต่าง ๆ เสิร์ฟแมลงทั้งตัว แต่ให้เริ่มด้วยการนำโปรตีนจากแมลงมาประกอบอาหารแบบที่ผู้บริโภคคุ้นเคยก่อนอย่าง เช่น พาสตา โดยไม่แสดงรูปภาพของแมลงบนเมนู สิ่งสำคัญคือรสชาติอาหารจะต้องไม่เปลี่ยนไปจากเดิม วิธีนี้จะช่วยปรับทัศนคติเบื้องต้น เพื่อให้ลูกค้าไม่รังเกียจที่จะลิ้มลอง และทำให้อาหารที่มีส่วนผสมของแมลงเป็นที่ยอมรับมากขึ้นต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางราย เช่น บริษัท Insectta ของสิงคโปร์ ได้หันมาจับธุรกิจการสกัดโปรตีนจากแมลงวันลายเพื่อผลิตชีววัสดุทางการแพทย์ และเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยาและอิเล็กทรอนิกส์ แทนการผลิตเพื่อการบริโภคของมนุษย์หรือเพื่อเป็นอาหารสัตว์ที่ตลาดยังไม่ยอมรับเท่าที่ใดนักในปัจจุบัน

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ

แมลงถือเป็นเป็นแหล่งโปรตีนแห่งอนาคตเพราะมีปริมาณโปรตีนสูงและราคาถูก เช่น จิ้งหรีด 100 กรัม มีโปรตีนสูงถึง 65 กรัม หรือมากกว่า 2 เท่าของเนื้ออกไก่ในปริมาณเท่ากัน ในช่วงหลายปีมานี้ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (the United Nations’ Food and Agriculture Organisation : FAO) ได้ส่งเสริมการทำฟาร์มแมลงเพื่อการบริโภคของมนุษย์และสัตว์ เพราะนอกจากแมลงจะมีคุณค่าทางอาหารสูงแล้ว ยังใช้ทรัพยากรในการเพาะเลี้ยงน้อย และปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าการปศุสัตว์ทั่วไปอย่างมาก ทั้งนี้ หน่วยงาน Enterprise Singapore (ESG) เปิดเผยว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนของบริษัทด้านอาหารจากแมลงในสิงคโปร์มากถึง 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากภาคเอกชน 15 บริษัท ซึ่งดำเนินธุรกิจในต่างประเทศมากกว่า 10 ประเทศ

แม้ว่าตลาดการบริโภคอาหารจากแมลงในสิงคโปร์อาจจะยังไม่มากนักในขณะนี้ แต่ก็ถือเป็นโอกาสใหม่ที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดในต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการควรศึกษาเรื่องการตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคของสิงคโปร์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น และแสวงหาช่องทางการจัดแสดงผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลงในงาน Food Fair ต่าง ๆ  นอกจากนี้ ฟาร์มแมลงเพื่อการบริโภคของไทยยังสามารถดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนของสิงคโปร์ได้เพิ่มขึ้นด้วย จากข้อมูลของ FAO ข้างต้น การบริโภคแมลงนอกจากจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงแล้ว ยังช่วยส่งเสริมเรื่องความยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นวาระสำคัญระดับโลกด้วย


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง