จับตามองการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ในสิงคโปร์  

สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ผลักดันให้สังคมและภาคธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับภาคการดูแลสุขภาพ (Healthcare) และชีวการแพทย์ (Biomedical) โดยสาขาที่ได้รับความสนใจอย่างก้าวกระโดด คือ นวัตกรรม mRNA ที่ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก และด้านสุขภาพดิจิทัลที่เติบโตขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์ว่าในอีก 5 ปี ข้างหน้า ชีวการแพทย์ในสิงคโปร์และภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มจะพัฒนาไปอย่างโดดเด่น                        

เอเชียจะยังคงเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านชีวการแพทย์ แม้เผชิญความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

ถึงแม้ในปี 2565 – 2566 จะเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพทั่วโลกประสบปัญหาทางธุรกิจ โดยมีมูลค่าประเมินที่ต่ำลง ขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป (IPO) ได้น้อยลง และมีการปลดพนักงานหลายระลอก อย่างไรก็ตาม ธุรกิจชีวการแพทย์ในเอเชียยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนยังคงมีมุมมองเชิงบวกที่จะลงทุนในสินทรัพย์ด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีผลตอบแทนมั่นคง ไม่ถูกกระทบมากนักในภาวะเศรษฐกิจถดถอย และมีปัจจัยเสริมจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ  

ธุรกิจการดูแลสุขภาพ (Healthcare) ที่มีคุณภาพสูงและราคาที่จับต้องได้ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเป็นตลาดที่นักลงทุนให้ความสนใจ โดยเฉพาะบริษัทชีวการแพทย์จากจีน เนื่องจากภูมิภาคนี้มีการเติบโตของกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางที่มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะแสวงหาบริการทางสาธารณสุขที่ดีและสะดวกสบายกว่าเดิมอีกทั้งภาครัฐยังให้การสนับสนุนอีกด้วย

การพัฒนาชีวการแพทย์ในสิงคโปร์

สิงคโปร์เริ่มลงทุนในศาสตร์ชีวการแพทย์ตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน โดยเน้นการพัฒนาที่รอบด้านตั้งแต่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและการผลิตที่จำเป็น การดึงดูดและบ่มเพาะผู้มีความสามารถด้านชีวการแพทย์ ไปจนถึงการส่งเสริมภาคเอกชน ระหว่างปี 2544-2551 คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (Economic Development Board – EDB ทำหน้าที่เทียบเท่าคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย) ได้จัดตั้งกองทุนเฉพาะ Bio*One Capital เพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านชีวการแพทย์ของสิงคโปร์ จากการกระตุ้นการลงทุนของบริษัททั้งในและต่างประเทศกว่า 50 แห่ง ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ช่วยส่งเสริมการพัฒนาชีวการแพทย์จนกลายเป็นหนึ่งในเสาหลักเศรษฐกิจที่สำคัญของสิงคโปร์ในปัจจุบัน รวมทั้งยังช่วยเร่งยกระดับการวิจัยและพัฒนา (R&D) การผลิตของภาคเอกชน และดึงดูดบริษัทยาและเทคโนโลยีชีวภาพระดับนานาชาติขนาดใหญ่หลายแห่งให้มาสร้างโรงงานในสิงคโปร์

ข้อมูลจากกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ระบุว่า ชีวการแพทย์เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) ปี 2564 ของสิงคโปร์เติบโตถึงร้อยละ 8.9 ถือเป็นหนึ่งในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก โดยอุตสาหกรรมชีวการแพทย์มีการจ้างงานกว่า 25,000 คน จึงได้รับการสนับสนุนจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ

แนวโน้มระยะยาวและกระแสที่น่าจับตามอง

ในปัจจุบันที่มีอุปสรรคทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง บริษัทที่จะประสบความสำเร็จจะต้องลงทุนเพื่อพัฒนาวิธีแก้ปัญหา (solutions) ให้ตอบโจทย์กับแนวโน้มธุรกิจระยะยาวและพฤติกรรมที่ยั่งยืน

นวัตกรรมที่มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นในระยะสั้นถึงระยะกลาง คือ 1) การบำบัดด้วยเซลล์และพันธุกรรม โดยหน่วยงาน Agency for Science, Technology and Research (A*Star ภายใต้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม) ของสิงคโปร์และสถาบันการศึกษาระดับสูง ได้ร่วมกันลงทุนในโครงการพัฒนาการวิจัยและการพัฒนาเซลล์บำบัด และการสร้างโรงงานผลิตที่มีแนวทางปฏิบัติด้านการผลิตที่ดี ได้รับการรับรองเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์เซลล์ เนื้อเยื่อ และพันธุกรรมบำบัด ซึ่งโครงการมีมูลค่ากว่า 80 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 2,000 ล้านบาท) 2) การปฏิวัติด้าน AI และข้อมูลในการรักษาแบบดิจิทัลและยารักษาโรคที่แม่นยำ และ 3) การดูแลสุขภาพ 3.0 (Healthcare 3.0) สิงคโปร์ริเริ่มโครงการสำคัญอย่าง Healthier SG ในเดือนกันยายน 2565 เพื่อพัฒนาการให้บริการด้านการดูแลสุขภาพและการดูแลผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการพัฒนาและขยายการเข้าถึงข้อมูล การส่งเสริมวิถีชีวิตที่เน้นสุขภาพดี และบูรณาการข้อมูลด้านการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงกัน

รัฐบาลสิงคโปร์พยายามแก้ปัญหาเรื่องขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) อย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 SGInnovate วิสาหกิจของรัฐบาลสิงคโปร์ ได้ริเริ่มโครงการเพื่อบ่มเพาะบุคลากรที่มีทักษะสูงในสิงคโปร์ อาทิ โครงการ Helix Immersion Program (HIP) ช่วยฝึกอบรมภาคปฏิบัติแก่ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและนักวิชาการในสาขาชีวเคมี เภสัชวิทยา วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต และสาขาที่เกี่ยวข้องเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยคาดว่าจะฝึกอบรมบุคลากรได้มากกว่า 100 คน และบรรจุเข้าทำงานในบริษัทและสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพภายในปี 2568

นาย Heng Swee Keat รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจสิงคโปร์กล่าวเปิดงาน SGInnovate
แหล่งที่มา: PMO website (https://www.pmo.gov.sg/Newsroom/DPM-Heng-Swee-Keat-at-the-Launch-of-SG-Innovate-Deep-Tech-Talent-Central)

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ

นอกจากชีวการแพทย์แล้ว กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะส่งเสริมสุขภาวะและการป้องกันก่อนการรักษา (preventive health) เนื่องจากสิงคโปร์กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มขั้น การขยายตัวของประชากรสูงอายุทำให้รัฐบาลสิงคโปร์มีค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอย่างยิ่ง และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 27,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2573 จาก 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2553 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2.7 เท่าในช่วง 30 ปี ดังนั้น ตลาดด้านชีวการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุจึงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในสิงคโปร์ รวมถึงในประเทศไทยซึ่งก็กำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุเช่นกัน

สิงคโปร์เห็นว่าประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่ดีมากและบุคลากรทางการแพทย์ของไทยมีศักยภาพสูง จึงเป็นหุ้นส่วน/พันธมิตรด้านการสาธารณสุขที่สำคัญของสิงคโปร์ในภูมิภาค โดยภาคเอกชนสิงคโปร์ประสงค์เปิดรับการร่วมทุนด้านการแพทย์ ทั้งชีวการแพทย์ การแพทย์แม่นยำ และการแพทย์ทางไกลกับไทย จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนกับสิงคโปร์ ทั้งนี้ จากดัชนี Health Care Index 2023 ของกลุ่ม Numbeo ได้จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขดีที่สุดเป็นอันดับที่ 7 ของโลก ในขณะที่สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 28 (อันดับที่ 1 และ 2 ในภูมิภาคอาเซียน) ดังนั้น นอกจากความสนใจร่วมกันแล้ว ทั้งสองประเทศยังมีศักยภาพและโอกาสด้านการพัฒนาสาธารณสุขและธุรกิจที่เกี่ยวข้องร่วมกัน และยังสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาในระดับภูมิภาคอาเซียนได้อีกด้วย


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง