แนวทางและเป้าหมายการพัฒนาเทคโนโลยีการเงินของสิงคโปร์ และงานสัปดาห์เทคโนโลยีการเงินสิงคโปร์ครั้งที่ 7

ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore – MAS) และองค์กร Elvandi จัดงาน Singapore FinTech Festival (SFF) ครั้งที่ 7 ในหัวข้อ “Building Resilient Business Models amid Volatility” เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งนาย Lawrence Wong รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์กล่าวเปิดงาน และนาย Ravi Menon ผู้ว่าการ MAS กล่าวสุนทรพจน์เรื่อง “FinTech in its Element: Water, Metal, Fire, Wood, Earth” สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

หลักการ 5Es เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีการเงินในสิงคโปร์

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ กล่าวถึงหลักการ 5Es เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีการเงิน (FinTech) ในสิงคโปร์ ได้แก่

นาย Lawrence Wong รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์กล่าวเปิดงาน
แหล่งที่มา: Singapore Fintech Festival (https://www.facebook.com/sgfintechfest/photos/?ref=page_internal)

Enhance คือ การส่งเสริมศักยภาพทั้งสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ และประชาชน โดยมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญ โดยได้กล่าวถึง Project Orchid โครงการนำร่องด้านการใช้เงินดอลลาร์สิงคโปร์ดิจิทัล (purpose-bound Singapore Dollar) ในรูปแบบบัตรสมนาคุณดิจิทัล (digital vouchers) ซึ่งมีส่วนช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของสิงคโปร์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ยังได้กล่าวถึงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศแบบ real-time ระหว่าง PromptPay ของไทยกับ PayNow ของสิงคโปร์ (กล่าวถึงติดต่อกันเป็นปีที่ 3) ในฐานะต้นแบบความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงทางการเงิน ซึ่งสิงคโปร์อยู่ระหว่างการจัดทำความตกลงในลักษณะเดียวกันกับมาเลเซีย (DuitNow) และอินเดีย (Unified Payments Interfaced)

Empower คือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างพลังให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดย่อม ซึ่ง MAS จะพัฒนาระบบนิเวศทางการเงินเพื่อสนับสนุนธุรกิจรายย่อยเหล่านี้ ไม่เฉพาะเพียงในสิงคโปร์ แต่ยังรวมถึงการส่งเสริม MSMEs และประชาชนในต่างประเทศ อาทิ ความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์กับ United Nations Capital Development Fund (UNCDF) เพื่อช่วยพัฒนาระบบนิเวศทางการเงินในกานา ส่วนในระดับบุคคล ประชาชนในสิงคโปร์สามารถเรียกใช้บริการแอปพลิเคชัน SGFinDex ของรัฐลาลสิงคโปร์ เพื่อวางแผนทางการเงินและเพิ่มหลักประกันทางการเงินอย่างมั่นคงยิ่งขึ้น

Envision คือ การมองเห็นโอกาสและความท้าทายต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่อนาคต โดยสิงคโปร์เห็นว่า การซื้อขายเงินคริปโตมีความเสี่ยงสูง และไม่เหมาะกับสังคมสิงคโปร์ ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์จะออกมาตรการและโครงการเพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้บริโภคจะได้รับจากตลาดเงินคริปโตด้วย อาทิ โครงการ Project Guardian ส่วนอีกประเด็นสำคัญคือเรื่องความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสิงคโปร์ได้ลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระบบเศรษฐกิจ

Encourage คือ การสนับสนุนด้านการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการ Financial Sector Technology and Innovation Scheme (FSTI) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 โดยรัฐบาลสิงคโปร์ให้เงินสนับสนุนรอบที่ 1 เป็นเงิน 100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ให้แก่โครงการพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในภาคการเงินเกือบ 500 โครงการ และรอบที่ 2 เป็นเงินมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ให้แก่โครงการมากกว่า 1,000 โครงการ และในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ FSTI จะให้เงินสนับสนุนรอบที่ 3 เป็นเงิน 150 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อสนับสนุนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในภาคการเงิน ซึ่งรวมถึงระบบ AI
การวิเคราะห์ข้อมูล ความมั่นคงทางไซเบอร์ และระบบ RegTech รวมทั้งจะมุ่งเน้นการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในภาคเทคโนโลยีการเงิน (Environment, Social, Governance Financial Technology– ESG FinTech)

Engage คือ การเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน การรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน รวมถึงการรับฟังความกังวลของประชาชน อาทิ งานบางประเภทที่จะถูกทดแทนโดยเทคโนโลยี ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ กล่าวถึงผลสำรวจวิธีการชำระเงินของประชาชน ปี 2564 ซึ่งพบว่ามีผู้นิยมใช้เช็คเงินสดเพียงร้อยละ 7 ในขณะที่ระบบ GIRO และ FAST ได้รับความนิยมมากกว่า ดังนั้น MAS จะเปิดรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนเพื่อนำไปสู่ข้อริเริ่มเพื่อการยุติการชำระเงินด้วยเช็คภายในปี 2568 ซึ่งต้องจัดทำเป็นแผนระยะยาว โดยคำนึงถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังคงนิยมจ่ายเงินด้วยเช็ค

ปรัชญา 5 ธาตุกับเป้าหมายการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินของสิงคโปร์

ผู้ว่าการ MAS กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนใน FinTech ในสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า จาก 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2562 เป็น 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 ทั้งนี้ ผู้ว่าการ MAS ได้ใช้หลัก 5 ธาตุ (五行อู่สิง) ตามปรัชญาจีนมาอธิบายเป้าหมาย 5 ด้านของ FinTech สิงคโปร์ ดังนี้

นาย Ravi Menon ผู้ว่าการ MAS กล่าวสุนทรพจน์เรื่อง “FinTech in its Element: Water, Metal, Fire, Wood, Earth”
แหล่งที่มา: Singapore Fintech Festival (https://www.facebook.com/sgfintechfest/photos/?ref=page_internal)

ลื่นไหลเหมือนธาตุน้ำ: เป้าหมายการจัดทำระบบการโอนเงินระหว่างประเทศแบบ real-time เน้นโครงการ PromptPay-PayNow และการขยายความร่วมมือกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยจัดทำ Project Nexus ซึ่งเป็นระบบพหุภาคีเพื่อส่งเสริมระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนแบบ real-time และวิสัยทัศน์ว่าด้วยเครือข่ายความเชื่อมโยงด้านการชำระเงินพหุภาคีของอาเซียนภายในปี 2568

แข็งแกร่งเหมือนธาตุเหล็ก: เป้าหมายการจัดทำระบบการชำระบัญชีราคาเมื่อมีการส่งมอบและชำระเงินในเวลาเดียวกัน (atomic settlement) เนื่องจากการชำระเงินแบบ real-time จะต้องมีระบบการตัดยอดหรือชำระบัญชีราคาที่รัดกุมและปลอดภัยด้วย (เปรียบเทียบกับระดับปรมาณู) ซึ่งสิงคโปร์ได้จัดทำ Project Ubin เพื่อพัฒนาระบบนี้และใช้งานในสิงคโปร์มาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี สิงคโปร์จึงจัดทำ Project Ubin+ ในระดับระหว่างประเทศ โดยร่วมมือกับธนาคารกลางของต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อพัฒนาการใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currencies – CBDCs) ใน atomic settlement ระหว่างประเทศ

หล่อหลอมได้เหมือนธาตุไฟ: เป้าหมายการสร้างเงินที่เขียนโค้ดหรือวางโปรแกรมได้ (Programmable Money) ปัจจุบัน เงินในสิงคโปร์ที่เป็นเงินกายภาพ (ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์) คิดเป็นร้อยละ 8 และเงินดิจิทัลคิดเป็นร้อยละ 92 ของระบบการเงินสิงคโปร์ ดังนั้น สิงคโปร์จึงประสงค์จะส่งเสริมการจัดทำ Programmable Money คือ เงินที่สามารถวางกระบวนการและขั้นตอนของธุรกรรมได้แบบอัตโนมัติ ปลอดภัย และตรวจสอบได้ ปัจจุบัน Programmable Money ใน สิงคโปร์ ประกอบด้วย (1) cryptocurrencies (2) stablecoins (3) tokenized bank deposits และ (4) CBDCs ซึ่ง MAS ไม่สนับสนุนการลงทุนแบบค้าปลีกของสกุลเงินคริปโตและจะจัดระเบียบ stablecoins ต่อไป แต่ยังคงอนุญาตการฝากเงินโทเคนในธนาคาร และการทดลองใช้เงินดอลลาร์สิงคโปร์ดิจิทัล ซึ่งเป็น CBDC ของสิงคโปร์ใน Project Orchid

เติบโตเหมือนธาตุไม้: การจัดการสินทรัพย์โทเคน (Tokenised Asset) สิงคโปร์เชื่อว่าสินทรัพย์โทเคนยังมีโอกาสที่จะเติบโตอีกมาก และมีประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจ อาทิ การส่งเสริมบริการทางการเงินแบบไม่พึ่งพาตัวกลาง (Decentralised Finance – DeFi) แต่สินทรัพย์โทเคนยังอยู่ในระยะเริ่มต้นและยังมีความเสี่ยงสูง MAS จึงได้จัดทำ Project Guardian เพื่อให้ระบบนิเวศของสินทรัพย์โทเคนเติบโตอย่างมั่นคงและค่อยเป็นค่อยไป

มั่นคงเหมือนธาตุดิน: เป้าหมายข้อมูลด้านความยั่งยืนที่เชื่อถือได้ (trusted sustainability data) ตาม Project Greenprint กล่าวคือ สิงคโปร์จะเน้นการพัฒนาระบบการเงินสีเขียว รวมทั้ง ESG FinTech เพื่อสนับสนุนให้สิงคโปร์สามารถบรรลุเป้าหมาย net zero ได้ต่อไป

การเข้าร่วมงาน SFF และ SWITCH ค.ศ. 2022 ของคณะผู้แทนไทย

งาน SFF ในปีนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีที่จัดแบบกายภาพที่ศูนย์จัดแสดง Singapore Expo โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจากต่างประเทศประมาณ 2,000 ราย จาก 110 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ได้ร่วมจัดแสดงบูธนิทรรศการเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยเชิญเอกอัครราชทูตเข้าร่วมพิธีเปิดบูธฯ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ด้วย

ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและคณะ เดินทางเยือนสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 25 – 27 ตุลาคม 2565 เพื่อร่วมงาน Singapore Week of Innovation and Technology (SWITCH) ค.ศ. 2022 ที่ Resort World Sentosa (ซึ่งเป็นงานที่จัดต่อเนื่องหรือคู่ขนานกับ SFFเป็นประจำทุกปี) ตามคำเชิญของฝ่ายสิงคโปร์ ในช่วงการประชุม STEER ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 โดยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและคณะ ได้เข้าพบหารือกับเอกอัครราชทูตด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อเสนอแนะ

ความคืบหน้าเรื่องโครงการนำร่องด้านการทดลองใช้เงินดอลลาร์สิงคโปร์ดิจิทัลและโครงการ Ubin+ ซึ่ง MAS เริ่มดำเนินความร่วมมือกับธนาคารกลางต่างประเทศ ถือเป็นพัฒนาการสำคัญของสิงคโปร์ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยควรติดตามเนื่องจากน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทดลองใช้เงินบาทดิจิทัลของไทย ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับ MAS จากการพัฒนาระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนแบบ real-time เป็นคู่แรกของโลก จึงน่าจะต่อยอดความร่วมมือด้านเงินดิจิทัลบนพื้นฐานความสัมพันธ์อันดีดังกล่าวได้

การรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในภาคการเงินเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ MAS ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเมื่อวันที่ 25-26 ตุลาคม 2565 MAS ได้จัดการประชุมปรึกษาหารือเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ประธานาธิบดีสิงคโปร์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสการจัดตั้ง “Digital and Intelligence Service – DIS) ของสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ โดยเป็นเหล่าทัพที่ 4 แยกจากกองทัพบก กองทัพเรีอ และกองทัพอากาศ เพื่อดำเนินการเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ทางทหารเป็นการเฉพาะ ซึ่งแสดงว่า สิงคโปร์ให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์อย่างมาก ทั้งในมิติความมั่นคงและเศรษฐกิจ


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง