การลงทุนโดยตรงของสิงคโปร์ในประเทศไทย

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศมีการลงทุนในประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ มาเป็นระยะเวลานาน จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท./BOI)1 พบว่า ตั้งแต่ปี 2560 – 2562 การลงทุนโดยตรงของสิงคโปร์
ในไทย (Foreign Direct Investment – FDI) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในปี 2563 – 2564 เริ่มเห็นการฟื้นตัวของมูลค่าการลงทุนของสิงคโปร์ในไทยอย่างชัดเจน โดยตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นผู้ลงทุนอับดับหนึ่งของไทยในอาเซียน และเป็นผู้ลงทุนอับดับต้นของไทย (อันดับที่ 2 – 6) จากทุกประเทศทั่วโลก สรุปรายละเอียด ดังนี้

กราฟแสดงมูลค่าการลงทุนโดยตรงของสิงคโปร์ในไทย ในปี 2560 – 2564 (หน่วย: ล้านบาท)

ปี 2560 สิงคโปร์เป็นประเทศผู้ลงทุนโดยตรงในไทยสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากญี่ปุ่น คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 40,366 ล้านบาท หรือร้อยละ 14 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด โดยโครงการหลักคือ 1) กิจการขนส่งทางอากาศ คิดเป็นมูลค่า 12,457 ล้านบาท 2) การผลิตเซลล์แสงอาทิตย์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (โดยเป็นการลงทุนจากจีนผ่านสิงคโปร์) มูลค่า 8,293 ล้านบาท 3) กิจการโรงแรม มูลค่า 2,651 ล้านบาท

ปี 2561 สิงคโปร์เป็นประเทศผู้ลงทุนโดยตรงในไทยเป็นอันดับที่ 4 รองจาก 1) สหรัฐอเมริกา 2) ญี่ปุ่น และ 3) จีน
คิดเป็นมูลค่า 22,285 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.8 ของโครงการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด มูลค่าเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากโครงการขนาดใหญ่ เช่น กิจการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ มูลค่า 8,293 ล้านบาท กิจการผลิตรถยนต์และรถบรรทุกขนาดเล็ก มูลค่า 7,693 ล้านบาท และกิจการผลิตหัวฉีดเชื้อเพลิง มูลค่า 3,973 ล้านบาท

ปี 2562 สิงคโปร์เป็นประเทศผู้ลงทุนโดยตรงในไทยเป็นอันดับที่ 6 รองจาก 1) จีน 2) ญี่ปุ่น 3) ฮ่องกง
4) สวิตเซอร์แลนด์ และ 5) จีนไทเป/ไต้หวัน โดยคิดเป็นมูลค่า 12,273 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.7 ของโครงการลงทุน
จากต่างประเทศทั้งหมด

ปี 2563 สิงคโปร์เป็นประเทศผู้ลงทุนโดยตรงในไทยเป็นอันดับที่ 6 รองจาก 1) ญี่ปุ่น 2) จีน 3) สหรัฐอเมริกา
4) เนเธอร์แลนด์ 5) ฮ่องกง โดยคิดเป็นมูลค่า 16,365 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.6 ของโครงการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด

ปี 2564 สิงคโปร์มีมูลค่าการลงทุนรวม 29,669 ล้านบาท ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 3 รองจาก 1) ญี่ปุ่น 2) จีน โดยคิดเป็นร้อยละ 6.5 ของโครงการลงทุนต่างประเทศทั้งหมด

ปัจจัยที่ช่วยดึงดูดการลงทุนของสิงคโปร์ในไทยที่ผ่านมา ได้แก่ (1) ฐานผู้บริโภคในประเทศไทยที่กำลังเติบโต (2) แรงงานที่มีคุณภาพและมีทักษะ (3) สิทธิประโยชน์ที่น่าดึงดูดทั้งทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีภายใต้กฎหมายการลงทุนปี 2561 โดยกิจกรรมทางธุรกิจที่ไทยสนับสนุนเป็นอย่างยิ่งคือ การวิจัยและพัฒนา (R&D) นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะในด้านการคมนาคมและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การลงทุนที่สร้างมูลค่าสูงและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำที่สุด และนิคมอุตสาหกรรม และ (4) ทำเลยุทธศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ศูนย์กลางภูมิภาคอินโดจีนและกลุ่มประเทศ CLMV ที่ไทยมีโครงการเชื่อมต่อการคมนาคมให้สะดวกยิ่งขึ้นในอนาคต

สำหรับข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)2 พบว่าในปี 2564 อุตสาหกรรมที่สิงคโปร์ลงทุนในไทยสูงสุด
3 อันดับแรก คือ 1) การผลิตสินค้าด้านอาหาร 117.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 2) การทำเหมืองแร่และเหมืองหิน 41.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 3) การผลิตกระดาษ 8.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตารางแสดงสัดส่วนมูลค่าการลงทุนของสิงคโปร์ในไทยช่วงก่อนโควิด-19 (หน่วย: ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติสิงคโปร์ ระบุว่าในช่วงปี 2560 – 2562 กลุ่มธุรกิจที่สิงคโปร์มาลงทุนในประเทศไทยสูงที่สุด ได้แก่ (1) การผลิต มีมูลค่าการลงทุนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 10,362.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2) การเงินและประกันภัย มีมูลค่าการลงทุนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 9,690.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตต่อปี (Compound Annual Growth Rate – CAGR) ในระดับที่ดี ร้อยละ 11.25 (3) การค้าส่งการค้าปลีก มีมูลค่าการลงทุนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 3,783.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตต่อปีที่ร้อยละ 10.49

นาย Chew Hwee Yong ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดทั่วโลกของ Enterprise Singapore (ESG) สำนักงานส่งเสริมศักยภาพธุรกิจของสิงคโปร์ (ภายใต้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความเห็นว่า ภาคเอกชนสิงคโปร์ขยายการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจสินค้าและบริการประเภทโซลูชั่นอัตโนมัติและหุ่นยนต์ รวมถึงการมาตั้งโรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจากประเทศไทยให้ความสำคัญกับการเติบโตของภาคการผลิตอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ผ่านการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานและห่วงโซ่คุณค่า นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังส่งเสริมการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น Cloud Computing Internet of Things (IoT) และระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติมาใช้ในภาคการผลิต จึงเป็นที่สนใจของสิงคโปร์ โดยสิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะขยายการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคการผลิตขั้นสูง (สิงคโปร์มีความได้เปรียบด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่วนประเทศไทยมีตลาดสินค้าและแรงงานที่ใหญ่กว่าสิงคโปร์)

กลุ่มธุรกิจที่อาจจะขยายตัวในอนาคตและน่าจับตามอง คือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มบริการระดับมืออาชีพ ธุรการ และการสนับสนุนธุรกิจ โดยในช่วงปี 2560 – 2562 มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ในทางตรงกันข้าม การลงทุนในกลุ่มธุรกิจสารสนเทศและการสื่อสาร มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 กลุ่มที่พักอาศัย โรงแรม และบริการอาหาร กลุ่มก่อสร้าง มีแนวโน้มการเติบโตที่สูงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ลงทุนในต่างประเทศด้านการก่อสร้างค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจอื่น

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ

รายงานจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) ระบุว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยประสงค์ดึงดูดการลงทุน ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตจำพวกเชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีภัณฑ์พิเศษชีวภาพ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องจักร หุ่นยนต์ อาหาร การลงทุนในพื้นที่สีเขียว การผลิตขั้นสูง (เช่น บริการ ICT และ R&D) และโลจิสติกส์ ดังนั้น คาดว่ากลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ New S-Curve จะมีแนวโน้มการเติบโตที่มากขึ้น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐไทย

การรู้เขารู้เราจะทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเพิ่มพูนศักยภาพด้านการค้าและการลงทุนในสิงคโปร์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอาหาร สินค้าการเกษตร อัญมณีและเครื่องประดับ ที่ไทยเป็นคู่ค้าที่สำคัญกับสิงคโปร์ การลงทุนของสิงคโปร์ในไทย โดยเฉพาะด้านการผลิต การผลิตขั้นสูง เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่ทางสิงคโปร์มีความสามารถและความเชี่ยวชาญ หากผู้ประกอบการไทยสามารถเรียนรู้และนำจุดเด่นจากการลงทุนดังกล่าวของสิงคโปร์มาปรับใช้ให้เหมาะสมและพัฒนาธุรกิจของตน โดยเฉพาะในด้านการนำเทคโนโลยี ดิจิทัล และนวัตกรรมมาใช้จะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนในสิงคโปร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


1 ครอบคลุมข้อมูลโครงการต่างชาติที่มาขอรับการส่งเสริมการลงทุนเท่านั้น (ในประเทศไทยมี 2 หน่วยงานที่ดำเนินการรวบรวมและเผยแพร่สถิติ FDI คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สกท. ข้อมูล FDI จากสองหน่วยงานมีวิธีการเก็บที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันในเชิงปริมาณได้)

2 ครอบคลุมข้อมูลธุรกรรมต่างประเทศทุกภาคเศรษฐกิจที่เข้ามาลงทุนทั้งหมด


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง